ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงาน ป.ป.ช. เผยทรัพย์สินและหนี้สินของ 'อุดมศักดิ์' ที่พ้นเก้าอี้ ตุลาการศาล รธน.หลังอยู่มา 12 ปี พบมีทรัพย์สินพร้อมคู่สมรสรวมกว่ารวม 41 ล้านบาท เพิ่งขายที่ดินบางใหญ่ 2 แปลงมูลค่าเกือบ 10 ล้านบาท ก่อนพ้นเก้าอี้ทิ้งทวนยุบ อนค.ตัดสิทธิ กก.บห.10 ปี

วันที่ 29 พ.ค. 2563 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2563 ซึ่งดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2551-2563 โดยปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายธนาคารธนชาติ ส่วนนางวาสนา นิติมนตรี คู่สมรส เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 

โดยนายอุดมศักดิ์ และคู่สมรสแจ้งต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ว่ามีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน จำนวน 41,207,231.88 บาท โดยนายอุดมศักดิ์ มีเงินฝาก 10,608,212 บาท คู่สมรส มีเงินฝาก 750,536.35 บาท  

มีเงินลงทุน 12,499,398.93 บาท คู่สมรส มีเงินลงทุน 7,809,084.6 บาท 

ที่ดินแจ้งว่ามี 3,140,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 3,850,000 บาท ส่วนทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) นายอุดมศักดิ์แจ้งว่ามี 2 ล้านบาท ส่วนคู่สมรสแจ้งว่ามี 550,000 บาท 

ทั้งนี้นายอุดมศักดิ์ แจ้งว่ามีรายได้ประจำเป็นเงินเดือน 983,040 บาท เงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนพิเศษ 1,200,000 บาท บำนาญ 564,697.56 บาท มีรายได้จากทรัพย์สิน (ประมาณ) จากเงินปันผล (สหกรณ์ฯ) 180,000 บาท ดอกผล (สหกรณ์ฯ ) 260,000 บาท รายได้จากการรับให้/จำหน่ายทรัพย์สิน ประกอบด้วย จำหน่ายที่ดิน อ.บางใหญ่ 2 แปลง 9,270,000 บาท รับเงินเดือน เงินตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่น (ตกเบิก) ตามกฎหมายใหม่ 1,057,136.13 บาท มีรายได้อื่นๆ จากการขายคืนกองทุน RMF 3,135,000 บาท ขายคืนกองทุน LTF 825,000 บาท  ขณะที่ คู่สมรส มีเงินเดือน 930,120 บาท และมีเงินปันผล (สหกรณ์ฯ) 60,000 บาท 

นายอุดมศักดิ์ แจ้งว่ามีรายจ่ายประจำเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว 720,000 บาท และคู่สมรสมีค่าใช้จ่ายในครอบครัว 120,000 บาท 

อุดมศักดิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ msak.jpg

'อุดมศักดิ์' พ้นพร้อม 4 ตุลาการครองเก้าอี้มา 12 ปี

สำหรับนายอุดมศักดิ์ ได้พ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับนายจรัญ ภักดีธนากุล นายนุรักษ์ มาประณีต นายบุญส่ง กุลบุปฝา และนายชัช ชลวร หลังทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งการพ้นตำแหน่งของ 5 ตุลาการดังกล่าวแม้จะอยู่เกินวาระการดำรงตำแหน่งแล้วก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 79 กำหนดให้ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในวันก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวใช้บังคับ และตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 24/2560 ยังคงให้ 5 ตุลาการดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีตุลาการที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (5) จะเข้ารับหน้าที่

โดยล่าสุด ได้ตุลาการชุดใหม่แล้ว 4 คน คือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ และ นายนภดล เทพพิทักษ์ อีก 1 คนอยู่ระหว่างการสรรหาของวุฒิสภา โดยนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ได้รับเลือกจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ

ทิ้งทวนยุบ อนค. ตัดสิทธิ กก.บห. 10 ปี ผลงานยุบพรรคดังอื้อ

โดยนายอุดมศักดิ์ ได้วินิจฉัยคดีสุดท้ายก่อนพ้นตำแหน่งคือ เป็นหนึ่งในเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียงให้ยุบพรรคอนาคตใหม่จากคดีกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จำนวนกว่า 191.2 ล้านบาท และเพิกถอนสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่เป็นเวลา 10 ปี 

สำหรับผลงานในอดีตที่สำคัญของนายอุดมศักดิ์ อาทิ ยุบพรรคพลังประชาชน ยุบพรรคชาติไทย ยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมทั้งเคยวินิจฉัยชี้ขาดให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากความเป็นนายกฯ (จัดรายการชิมไปบ่นไป) ชี้ขาดให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากความเป็นนายกฯ (โยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี พ้นเลขาธิการ สมช.) ชี้ขาดให้นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พ้นจาก ส.ส. (ถือครองหุ้นสื่อ บ.วี-ลัค มีเดีย จำกัด) 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง