โลกออนไลน์ ตั้งคำถามกับมาตรการภาครัฐ ที่เด็ดขาดกับคนเล็กคนน้อย แต่เปิดช่องโหว่ใหญ่-อำนวยความสะดวกให้กับเหล่า VIP
ความเดือดดาลระอุเป็นพิเศษ เพราะเดิมพันเพื่อให้โรคสงบจนผู้ติดเชื้อเป็น 0 คือ การทลายลงของเศรษฐกิจไทยทั้งระบบที่ดำเนินมาก่อนหน้า เป็นเดิมพันใหญ่ที่ยากฟื้นตัวในเวลาอันใกล้นี้
เรตติงของ 'รัฐบาลประยุทธ์' ที่ดูเหมือนจะผงาดขึ้น กลับผงกหัวลงอีกครั้ง และมีแนวโน้มดำดิ่งยาวนาน อันเป็นผลจากอาการระส่ำรอบทิศที่รายล้อมรัฐบาลอยู่ในเวลานี้
ทั้ง 'ปัจจัยภายใน' ที่ตั้งต้นด้วยการตีจากของ 'สมคิด + 4 กุมาร' ในห้วงเวลาวิกฤตที่สุดของรัฐบาล ไล่เรียงมาจนถึง 'เทวัญ ลิปตพัลลภ' เปิดทาง 'เขย่า ครม.'
ครม.ใหม่ ที่เทคโนแครตแถว 1 แถว 2 เริ่มออกมาปฏิเสธ จนทำให้อาจได้เทคโนแครตแถว 3 ผสมด้วย นักการเมืองที่มีวาระเร้น จนทำให้ประชาชนต้องร้องยี้
ทั้ง 'ปัจจัยภายนอก' คือ การชุมนุมของ 'เยาวชนปลดแอก' ที่ กทม. ก็ดี เชียงใหม่ก็ดี อุบลราชธานีก็ดี ซึ่งมีแนวโน้มลุกลาม-ขยายตัว-ต่อเนื่อง ตลอดหลายสัปดาห์ต่อจากนี้
'นายกรัฐมนตรี' เปิดประเด็นว่า ได้ส่งเทียบเชิญเป็นเสนาบดีไปยัง 'แทคโนแครต-ผู้บริหารองค์กร-นักเศรษฐศาสตร์-การเงินการธนาคาร' อยู่หลายราย บทลงเอยสุดท้ายคือคำว่า “บ๊าย บาย”
อาการ “โบกมือลา-ไม่อาลัย” ของผู้ถูกรับเชิญ ส่องสะท้อนอาการระส่ำหลายประการที่ 'รัฐบาลประยุทธ์' เผชิญอยู่ โดยเฉพาะเผือกร้อน 'เศรษฐกิจ; ซึ่งเป็นปมใหญ่ ผูกอยู่กับ 'ปากท้อง' ของพี่น้องประชาชน
ทั้ง 'ประสาร-วิรไท' ไปจนถึง 'ทศพร' ต่างออกมาปฏิเสธ ด้วยเหตุหลากหลาย-แบ่งรับแบ่งสู้
กรณี ประสาร ยกเหตุเรื่องครอบครัวไม่อนุญาต
กรณี วิรไท ยกเหตุว่า “ตามที่มีข่าวว่าผมถูกทาบทามให้เข้าร่วมทีมเศรษฐกิจของคณะรัฐบาลชุดใหม่นั้น ผมได้เรียนขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ท่านไว้วางใจ และได้เรียนท่านไปตั้งแต่ต้นอาทิตย์ที่แล้วว่าคงไม่สามารถรับตำแหน่งใดได้ครับ”
กรณี เลขาธิการ สศช. ยกเหตุว่า “ขณะนี้ผมยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็น เลขาธิการ สศช. ตามปกติ และยังมีภารกิจสาคัญที่จะต้องดูแลและกลั่นกรองโครงการและแผนงานเงินกู้ 4 แสนล้านบาทให้แล้วเสร็จ ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ดี เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ตนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยและสนับสนุนงานอยู่ เบื้องหลังของท่านนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับมอบหมาย”
คำถาม คือ เมื่อเทคโนแครตแถว 1-แถว 2 เริ่มปฏิเสธ แล้วหน้าตาของ ครม. ที่เต็มไปด้วย เทคโนแครตแถว 3-แถว 4 ผสมผสานด้วยนักการเมืองที่มีวาระเร้นเฉพาะตัว ดูรวมๆ แล้วจะมีหน้าตาออกมาอย่างไร ?
กระทรวงอื่นๆ พอปล่อยให้ประชาชนร้องยี้ได้ แต่สำหรับกระทรวงด้านเศรษฐกิจทั้งหมด และกระทรวงการต่างประเทศ จะปล่อยให้ประชาชนร้องยี้ไม่ได้ เพราะเป็นกระทรวงที่ต้องการคนชำนาญ-เชี่ยวชาญ มาแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
ตัวอย่างอาการยี้ของประชาชน ให้ดูที่ 'นฤมล' ได้รับเมื่อเดือนก่อน
พลันที่ 'อนุชา นาคาศัย' เปล่งชื่อ 'นฤมล ภิญโญสินวัฒน์' ในวันประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐ การเอ่ยเพียงหนเดียว ทำเอากระแสสังคมทั่วทิศรุมวิพากษ์วิจารณ์ จนผู้ใหญ่ในพรรคต้องออกมาลดระดับ 'นฤมล' ให้เหลือเพียงภารกิจเขียนนโยบายเศรษฐกิจในพรรค
ถึงขนาดมีการเอาไปทำโพล โดยนิด้าโพล พบว่า “เมื่อถามถึงความเหมาะสมกับตำแหน่ง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ ของโฆษกรัฐบาล ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์”
ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.44 ระบุว่า ไม่เหมาะสม เพราะ ยังขาดประสบการณ์การทำงานทางด้านเศรษฐกิจ ผลงานยังไม่มีความโดดเด่นเท่าที่ควร และการทำงานยังสู้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนเดิมไม่ได้
อาการยี้ในห้วงเวลานั้น ส่งผลให้ในวันนี้ 'นฤมล' ถูกลดระดับให้เป็นได้เพียงแคนดิเดต 'รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี'
ฝันที่กล้าฝันถึงขนาดเป็น 'รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง' จึงเกินเอื้อมมือ เพราะเสียงยี้ ดังจากรอบทิศทาง
'กระทรวงพลังงาน' คือ 'ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า' ที่คนการเมืองหมายตาจับจอง
เฉพาะใน 'พรรคพลังประชารัฐ' มีคีย์แมนจับจองตั้งแต่คราวจัด โผ ครม. หนก่อน โดยเฉพาะ 'ณัฐพล-สุริยะ' ที่พลาดหวังในหนนั้น และมาลุ้นขับเคี่ยวในหนนี้
เมื่อมีกระแสข่าวว่า 'นายกรัฐมนตรี' จะยึดเก้าอี้พลังงาน เป็นโควตากลาง และมีจุดยืนชัด ไม่ปล่อย 'นักการเมือง' นั่ง พร้อมเปิดรายชื่อ 'ไพรินทร์' อดีตผู้บริหาร ปตท. นั่งเก้าอี้แทน
ฉับพลันทันที ก็ตามมาด้วยฉากตบเท้าใน 'พรรคพลังประชารัฐ' เป็นการด่วน
'ไพบูลย์' ออกมาย้ำชัด เก้าอี้พลังงานเป็นของพลังประชารัฐ-สุริยะเหมาะสมทุกประการจะนั่งตำแหน่งนี้!!
“ตำแหน่งนี้ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เดิมเป็นของพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว หากจะเอาไปให้บุคคลภายนอก พรรคก็ต้องมีการประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่”
“การโยนชื่อนายไพรินทร์ออกมานั้น คิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะนายไพรินทร์เป็นทั้งอดีตผู้บริหาร ปตท. แล้วจะมาเป็นรมว.พลังงาน ที่ต้องไปกำกับดูแล ปตท. ถามว่าจะตอบคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไร รวมทั้งผู้ที่ตรวจสอบการดำเนินงานของ ปตท.ก็ไม่สบายใจ”
“ในที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐจะเสนอนายสุริยะ เป็นรมว.พลังงาน เพราะเป็นกระทรวงเดิมของอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เราเสนอชื่อคนของพลังประชารัฐก็เป็นเรื่องถูกต้อง และกระทรวงพลังงานถือเป็นตำแหน่งชี้วัดความถูกต้อง หากพรรคไม่ได้ดูแลจะอธิบายกับ ส.ส.ของพรรคไม่ได้”
ไม่เพียงแรงกดดันภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่กล้าต่อรองกับ 'ผู้มีอำนาจ' ทั้งโดยผ่านสื่อ และที่ดำเนินไปหลังบ้าน
แต่แรงกดดันภายในพรรคร่วมรัฐบาลก็ปรากฏชัด สะท้อนผ่านการต่อรองตำแหน่งเสนาบดี-การเขย่ากรรมการบริหารพรรค-การลาออกก่อนการประกาศรายชื่อ ครม.ชุดใหม่ อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นฉากการเมืองที่ไม่ได้พบเห็นกันบ่อย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: