หากนับตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. พ.ศ.2475 ประเทศไทยหรือประเทศสยามในขณะนั้น เพิ่งผ่านพ้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. พ.ศ.2475 ได้เพียง 3 วัน จะถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันแรกที่ประเทศไทย มีกฎหมายสูงสุดปกครองประเทศ คือ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 มี 39 มาตรา เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. พ.ศ.2475 มี 39 มาตรา
จะเห็นได้ว่า 27 มิ.ย. พ.ศ.2475 คือ 88 ปีที่ประเทศมีกฎหมายสูงสุดไว้ปกครองประเทศ
โดย คณะราษฎร ได้จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ.2475 ทูลเกล้าถวาย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมา เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. พ.ศ.2475 พระองค์ทรงเติมคำว่า "ชั่วคราว" กำกับต่อท้าย พ.ร.บ.ธรรมการปกครองแผ่นดินสยาม โดยมีพระราชกระแสรับสั่งแก่ คณะราษฎร ว่าให้ จัดทำ พ.ร.บ.ธรรมนูญเป็นการชั่วคราว แล้วให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตั้งคณะอนุกรรมการทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวรต่อไป
เมื่อ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ.2475 บังคับใช้ ทำให้สภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินสยาม
สำหรับ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ได้ระบุในคำปรารภไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้นและโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ จำนวน 39 มาตรา
แม้ว่าจะยังเป็นเพียงฉบับชั่วคราวอยู่ก็ตาม แต่ถ้อยคำใน พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับชั่วคราว เริ่มต้นมาตรา 1 ความว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย" รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยยกเลิกพระราชอำนาจที่มีมาแต่โบราณ แต่ไม่ได้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์
ทำให้ประเทศสยามในขณะนั้น มีกฎหมายสูงสุดไว้ปกครองประเทศ และพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ได้กำหนดเป็นครั้งแรกโดยให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย” พร้อมกำหนดให้ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามธรรมนูญ
ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2475 กำหนดให้มี สภาผู้แทนราษฎรที่มาของสมาชิกแตกต่างกัน โดยกำหนดเป็น 3 สมัย
สมัยที่ 1 ให้คณะราษฎร แต่งตั้ง ส.ส.ชั่วคราว 70 คน
สมัยที่ 2 จัดให้ ส.ส.สองประเภท โดยประเภทแรกให้สมาชิกสมัยแรกเลือกกันเอง ประเภทที่ 2 ให้มาจากการเลือกตั้ง
สมัยที่ 3 ในระยะเวลา 10 ปีหากประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งได้รับการศึกษาชั้นประถมศึกษาเกินครึ่งหนึ่ง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
เมื่อ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 บังคับใช้ ทำให้มีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2475 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เปิดประชุมเป็นครั้งแรกเมื่อเวลา 14.00 น.
วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรกหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีเรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม คือ กรรมการคณะราษฎรอ่านรายนามบุคคลซึ่งคณะผู้รักษาพระนครได้ตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎร และสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กล่าวปฏิญาณตน
ส่วนวาระที่พิจารณา มอบอำนาจให้สภาผู้แทนราษฎร เลือกประธานผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการราษฎร และตั้งอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน
สำหรับบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น ถูกบันทึกผ่านรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2475 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2475
รายงานประชุมสภาฯ ครั้งนั้นระบุว่า ก่อนจะมีการเชิญกระแสพระบรมราชโองการอ่านเปิดการประชุม กรรมการคณะราษฎรอ่านรายนามบุคคล ซึ่งคณะผู้รักษาการพระนครได้ตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎร
โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้อ่านรายนาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดแรกของประวัติศาสตร์แผ่นดินสยาม ซึ่งตั้งขึ้นจำนวน 70 คน พร้อมแถลงว่า สมาชิกทั้งหลายจำเป็นต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อราษฎรให้ข้อสำคัญหลายประการ เพราะฉะนั้นขอท่านสมาชิกได้พร้อมกันทำคำปฏิญาณกันเสียก่อน แล้วหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็นำปฏิญาณและสมาชิกได้ปฏิญาณพร้อมทั่วกันว่า
"ข้าพเจ้า (ออกนามผู้ปฏิญาณตน) ขอให้คำปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎร และจะช่วยรักษาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรไว้ให้มั่นคง
1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2.จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
3.จะต้องรักษาความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
5.จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
6.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร"
ต่อมาเจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ได้เชิญพระกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเปิดประชุมว่า
"วันนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติการณ์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจที่จะช่วยกันปรึกษาการงานเพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศสยามสืบไป และเพื่อรักษาความเป็นอิสรภาพของสยามไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่าน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันทุกประการเทอญ"
(พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร)
จากนั้น พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อมอบอำนาจให้สภาผู้แทนราษฎร ว่า "บัดนี้ธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบงานการปกครองแผ่นดินที่ได้ยึดไว้ให้แก่สภาต่อไปแต่บัดนี้"
ต่อจากนั้นเป็นวาระการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก
โดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กล่าวต่อที่ประชุมว่า "บัดนี้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินได้สร้างขึ้นและประกาศใช้แล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ตั้งขึ้นแล้ว ผู้แทนราษฎรก็ได้เข้าประจำตำแหน่งแล้ว เป็นอันว่าสภานี้เป็นสภาอันทรงอำนาจสูงสุดในประเทศมีอำนาจที่จะประชุมปรึกษาการใดๆ กันได้แล้ว บัดนี้จะได้เริ่มกระทำการปรึกษาหารือข้อสำคัญชั้นต้นตามธรรมนูญนั้น แต่ระเบียบการประชุมนี้ยังมิได้บัญญัติขึ้นไว้โดยเฉพาะ และตามธรรมนูญ มาตรา 27 ให้ใช้ระเบียบการประชุมตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.องคมนตรีไปพลางก่อนเพียงที่ไม่ขัดกัน ฉะนั้นการประชุมนี้จะได้ดำเนินให้เป็นไปตามระเบียบนั้นเท่าที่จะเป็นไปได้"
โดย นายสงวน ตุลารักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เพื่อรับเลือก โดยเห็นว่าท่านผู้นี้มีความรู้ความสามารถดี เคยเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการอันเป็นตำแหน่งสำคัญมาแล้ว และเป็นผู้ใหญ่เหมาะสำหรับจะรักษาระเบียบการประชุมให้ดำเนินเรียบร้อยไปด้วยดี ควรที่จะได้รับตำแหน่งประธานแห่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
โดยมีพระยามานวราชเสวีรับรอง
ขณะที่พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ เสนอพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่พระยาพหลพลพยุหเสนา ปฏิเสธเด็ดขาดไม่ยอมรับตำแหน่งนี้ และรับรองว่าควรเป็นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ทำให้พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ เสนอพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ทัดทานว่า ปรารถนาจะได้โอกาสทำงานเพื่อชาติ เพื่อราษฎรให้เต็มกำลังความสามารถ การเป็นผู้แทนราษฎรเพียงเท่านี้พอจะมีโอกาสทำประโยชน์แก่ราษฎรได้มากกว่าการเป็นประธาน ด้วยว่า การเป็นประธานไม่มีหน้าที่จะโต้เถียงแสดงเหตุผลในที่ประชุม
ในที่สุดที่ประชุมลงมติเลือก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ปราศจากเสียงคัดค้าน พระยาพหลพลพยุหเสนาได้อัญเชิญเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ขึ้นนั่งบัลลังก์ผู้เป็นประธาน
ทั้งนี้ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แถลงว่า ขอบใจผู้แทนราษฎรทั่วไปเป็นอันมากที่ได้จงใจเลือกขึ้นเป็นประธานที่ประชุม ขอรับหน้าที่ประจำตำแหน่งประธานแห่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และโดยหน้าที่ของผู้เป็นประธานจึงไม่ควรให้การประชุมวันนี้โอ้เอ้ล่าช้าต่อไป และการประชุมของที่ประชุมต้องมีเลขาธิการสำหรับจดรายงานและอื่นๆ
"ข้าพเจ้าเห็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมทำหน้าที่นี้อยู่แล้วตั้งแต่เริ่มประชุม ถ้าท่านทั้งหลายไม่ขัดข้องข้าพเจ้าขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม มาเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต่อไป"
(เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก)
การประชุมสภาผู้แทนราษฏรได้เลือก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎร (ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน) พร้อมเลือกบุคคลอีก 14 คน เป็นคณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี) ประกอบด้วย 1.พล.ร.ต.พระยาปรีชาชลยุทธ
2.มหาอำมาตย์ตรี พระยาศรีวิสารวาจา
3.พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
4.พ.อ.พระยาทรงสุรเดช
5.พ.อ.พระยาฤทธิอัคเณย์
6.อำมาตย์เอก พระยาประมวญวิชาพูล
7.พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ์
8.พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม
9.น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย
10.อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
11.รองอำมาตย์เอก หลวงเดชสหกรณ์
12.รองอำมาตย์เอก ตั้ว ลพานุกรม
13.รองอำมาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี
14.นายแนบ พหลโยธิน
จากนั้นที่ประชุมสภาได้แต่งตั้งอนุกรรมการร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินใหม่ให้เรียบร้อยสมบูรณ์
โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม แถลงว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับนี้เป็นธรรมนูญชั่วคราว เพราะว่าเราได้สร้างขึ้นด้วยเวลาฉุกละหุกกะทันหัน อาจจะมียังมีข้อบกพร่องอยู่บ้างก็ได้ จึงควรที่จะได้ ผู้มีความรู้ความชำนาญในการนี้เป็นอนุกรรมการตรวจแก้ไขเพิ่มเติมเสียใหม่ให้เรียบร้อยบริบูรณ์
โดยที่ประชุมได้เลือกอนุกรรมการ 7 คนเพื่อร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม ประกอบด้วย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาเทพวิทุร พระยามานวราชเสวี พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ พระยาปรีดานฤเบศร์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และหลวงสินาตโยธารักษ์
จากนั้นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกได้ปิดประชุมเมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 28 มิ.ย. 2475
นี่คือบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรกนัดประวัติศาสตร์ชาติไทย
ส่วน พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. พ.ศ.2475 หลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ประกาศใช้ รวมเวลากฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับแรก ที่บังคับใช้เพียง 5 เดือน 13 วัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง