เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติตลอดปี 2562 ที่ผ่านมาว่า ภาพรวมการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรก็ได้พยายามทำให้ความไม่พร้อมของสถานที่มาเป็นอุปสรรคในการทำงาน ไม่มีสภาชุดไหนที่เลือกตั้งแล้วไม่มีสภาเป็นของตัวเอง แต่สภาฯ จะไม่เอาตรงนี้มาเป็นอุปสรรค สิ่งที่ย้ำตลอด คือ อยากให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญในฐานะเป็นผู้ออกกฎหมาย คือต้องทำหน้าที่อย่างมีเกียรติและเพื่อประโยชน์ของประชาชน หลังจากไม่มีสภามา 5 ปี ไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้นที่มีปฏิกริยาต่อต้าน เพราะต่างประเทศก็มองเช่นกัน เมื่อมีสภาแล้วจึงเป็นความหวังของประชาชน
นายชวน กล่าวว่า ดังนั้น เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตย สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไปพร้อมกับมีประสิทธิภาพ ทุกฝ่ายต้องทำงานในหน้าที่ด้วยความสุจริต ดังนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติต้องเป็นตัวอย่างในการเคารพกฎหมาย ทุกคนต้องอยู่ในกรอบของข้อบังคับ แม้บางคนจะยังไม่เคยชิน
แต่กว่า 1 ปีเริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น หลายเรื่องเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะการรักษาเวลา งานค้างอาจจะยังมีอยู่บ้าง แต่มีน้อยเมื่อเทียบกับสถานการณ์ของสภาทั่วไป เช่น การทำให้ญัตติด่วนเหลือค้างสภาเพียง 6 เรื่อง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งหมดเป็นไปได้เพราะการได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เมื่องานค้างลดลง ภายหลังปีใหม่ก็จะได้เริ่มงานใหม่ๆ ได้มากขึ้น
งานในสภาฯ พยายามทำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ความร่วมมือจากฝ่ายบริหารก็ดี ได้พยายามเชิญชวนให้มาสภาฯ แม้กระทั่งนายกฯ ก็อยากให้มาประชุมสภา หรือรัฐมนตรีก็อยากให้ตอบกระทู้ถามของ ส.ส.เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เวลานี้กำลังหารือถึงการแก้ไขข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการตั้งกระทู้ถาม เพื่อไม่ให้ใช้เวลาของสภาฯ มากเกินไป หลังจากที่ผ่านมา ส.ส. หลายคนพยายามตั้งกระทู้ถามด้วยการอภิปราย ทำให้ต้องใช้เวลานานมาก ซึ่งคงต้องหารือกับ ส.ส.อีกครั้ง
หรือในการทำงานของคณะกรรมาธิการก็พยายามเข้าไปรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการทำงาน เช่น การจัดสรรเวลาของการทำงานของคณะกรรมาธิการที่จะไม่ให้กระทบกับการประชุม เป็นต้น หรือกรณีที่มีข่าวประธานสภาฯ ออกระเบียบควบคุม แต่เพื่อไม่ให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อนระหว่างคณะกรรมาธิการ เพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการสามารถมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการหลายคณะได้พร้อมกันภายในวันเดียวกัน โดยไม่ต้องมาหลายครั้ง
นายชวน กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เวลานี้มีปัญหา คือ มีกฎหมายเข้าสภาเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ โดยที่ผ่านมารัฐบาลส่งร่าง พ.ร.บ.ที่ค้างมากจากสภาฯ ในสมัย คสช. มาสภาฯ พิจารณาต่อตามกฎหมาย แต่ตนเห็นว่าไม่ควรรับ แต่ควรทำใหม่ นายกฯ ก็เห็นด้วยและทำเรื่องถอนไป จึงคาดว่าหลังจากเทศกาลปีใหม่ร่างกฎหมายจะเข้ามาสภามากกว่าเดิม
โดยในวันที่ 2 ม.ค. งดประชุมสภาฯ ภายหลังได้หารือกับทุกฝ่ายแล้ว แต่เดือน ม.ค. จะมีการประชุมนัดพิเศษหนึ่งครั้งเพื่อพิจารณาญัตติช่วงปลายเดือน เพื่อไม่ให้ชนกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ที่อาจจะเป็นช่วงวันที่ 8-10 ม.ค. และจะปิดสมัยประชุมวันที่ 28 ก.พ.2563 ซึ่งหวังว่าปีที่หนึ่งของสภาที่กำลังจะหมดน่าจะผ่านเรื่องและปัญหาต่างๆ ไปได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนจะเปิดสมัยประชุมใหม่ซึ่งเป็นปีที่สองของสภาในเดือน พ.ค. 2563
"ในฐานะประธานสภาฯ ก็พยายามทำให้มาตรฐานสภาฯ เป็นที่ยอมรับได้ว่านี่คือ ฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ได้จริงๆ และสามารถทำให้งานของสภาผ่านไปได้โดยเรียบร้อยจริงๆ แน่นอนว่าข่าวนอกสภาฯ นอกห้องประชุมมีมากแต่ในห้องประชุมผมพยายามไม่ให้มี บางทีบางเรื่องอาจรู้สึกว่าเป็นการจ้ำจี้จ้ำไช แต่ความจริงแล้วทุกเรื่องมีที่มา เช่น ทำไมต้องเตือนว่าห้องนี้เป็นประชุมสภาฯ ไม่ใช่ห้องสัมมนา อย่าเอาน้ำอาหารมารับประทานและทิ้งเอาไว้ หรือการขอความร่วมมือไม่ให้นำเครื่องมือสื่อสารเข้าในห้องประชุม แต่ดูเหมือนว่า ส.ส.บางท่านจะไม่เข้าใจเรื่องนี้ ดังนั้น เวลาที่เตือนอะไรไปก็อย่ารำคาญนะครับ ผมคิดว่าเมื่อเราหวังดีต่อเขาก็ต้องกล้าเตือน เพื่อให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น และจริงๆแล้วก็ปรับไปในทางที่ดีขึ้นโดยลำดับ บางเรื่องอย่างเครื่องแต่งกายก็มีไม่กี่คน ผมได้เตือนตลอดนะครับ แต่บางท่านอาจต้องการแสดงความเป็นคนรุ่นใหม่ให้ไม่เหมือนคนอื่น หลายคนก็ปรับตัวครับแต่ยังไม่ได้ร้อยทั้งร้อย" นายชวน กล่าว
ประธานสภา กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องของการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ยังไม่เรียบร้อย ยืนยันว่าได้ติดตามเป็นระยะ โดยเวลานี้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่จะเข้ามาติดตามตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้คงไปแก้ไขโครงสร้างการก่อสร้างไม่ได้ แต่อาจจะแก้ไขได้เล็กน้อยเพื่ออำนวยความสะดวกเท่านั้น เช่น เรื่องห้องน้ำ หรือเรื่องความร้อนภายในอาคารรัฐสภา ก็ได้พยายามแก้ไขหรือเพิ่มเครื่องปรับอากาศเพื่ออำนวยความสะดวกให้มากที่สุด
เมื่อถามว่าในเมื่อประธานสภาหวังว่าสภาจะเป็นที่พึ่งของประชาชน แต่ในทางกลับกันสภาฯ เกิดองค์ประชุมล่มและการใช้เอกสิทธิสวนกับมติของพรรค นายชวน กล่าวว่า โดยหลักแล้วคนของรัฐบาลที่เข้ามาร่วมรัฐบาลก็ต้องเคารพกติกาของการร่วมรัฐบาล บังเอิญว่าที่เราเห็นว่าสภาฯ ล่มไปสองครั้งนั้นความจริงครั้งหนึ่งเป็นความจงใจของฝ่ายรัฐบาลด้วยที่ไม่ต้องการให้ครบองค์ประชุม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมายังไม่ถือว่าร้ายแรง มีปัญหาที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ร่วมลงคะแนน ผมคิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็รู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร
เมื่อถามว่า พอยืนยันได้หรือไม่สภาฯ จะเป็นที่พึ่งประชาชน เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง นายชวน กล่าวว่า "ครับ ผมยืนยัน ผมเรียนว่าครึ่งปีที่ผ่านมาไม่เคยสักครั้งที่จะมาขอให้ผมทำผิดทำนองคลองธรรม มีแต่ผมที่ขอร้องให้มาร่วมประชุม เราหวังดีต่อกันเพื่องานของบ้านเมือง ประชาธิปไตยจะอยู่ได้ก็มีประสิทธิภาพด้วย ถ้าประชาธิปไตยไม่มีประสิทธิภาพ คนจะเอนเอียงนิยมในเผด็จการ ทันใจดี แล้วก็เป็นที่มาของความหายนะในที่สุด ต้องทำให้การปกครองนี้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ หมายความว่า ปัญหาของประชาชนต้องมาสู่รัฐบาลได้โดยผ่านกระบวนการของสภาตามระบบนี้ เพียงแต่ว่าเรายังไม่สามารถแบ่งอำนาจท้องถิ่นกับส่วนกลางได้ แต่ทุกอย่างกลับขึ้นมาตรงนี้หมด แสดงให้เห็นว่าระบบการกระจายอำนาจต้องหาทางปรับปรุงต่อไป เพื่อให้สภาได้ทำงานในเชิงนโยบายเป็นหลัก"