นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2562 และการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบการวางหลักเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในอนาคต โดยเฉพาะการวางมาตรการรับมือภาวะน้ำแล้งปีหน้า ตามที่ สทนช. ได้เสนอทั้ง 3 ระยะ
ระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย มาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง อาทิ การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเดิม การพัฒนาแหล่งเก็บน้ำ ชะลอน้ำผิวดิน ผันน้ำและจูงน้ำ สร้างฝาย พัฒนาแก้มลิงเก็บน้ำ เก็บน้ำในแปลงนา การพัฒนาระบบบาดาล และปฏิบัติการฝนหลวง
ส่วนมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ได้แก่ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ วางแผนจัดสรรน้ำ แผนปลูกพืชประกอบอาชีพ การจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ รวมทั้งมาตรการทางการเงิน เยียวยา ลดต้นทุน
ในส่วนของมาตรการระยะสั้น (1-3 ปี) และระยะยาว (3 ปี ขึ้นไป) จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการรับมือภัยแล้งต่อเนื่องจากระยะเร่งด่วน และการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ ส่งเสริมการทำแหล่งน้ำชุมชน โดยเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ตามแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี การเชื่อมโยงแหล่งน้ำในลักษณะอ่างฯ พวง โครงการผันน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำทางเลือก เช่น ผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ใช้มาตรการทางการเงินในการควบคุมการใช้น้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ จำนวน 3 โครงการตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ประกอบด้วย 1.โครงการเพื่อการพัฒนาปี 2561 ของการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 6 โครงการ วงเงินประมาณ 11,000 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย ของกรุงเทพมหานคร วงเงิน 6,130 ล้านบาท และ 3.โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง ของกรมชลประทาน
ทั้งนี้ สทนช. ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำในช่วงเดือน พ.ย. 2562 จะมีน้ำใช้การได้รวม 36,741 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นในเขตชลประทาน 28,068 ล้าน ลบ.ม. และนอกเขตชลประทาน 8,573 ล้าน ลบ.ม. โดยคาดการณ์การจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 36,641 ล้าน ลบ.ม. สำหรับ 5 กิจกรรมหลัก คือ 1.อุปโภค-บริโภค 2,703 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 7 2.รักษาระบบนิเวศ 7,161 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 20 3.สำรองน้ำต้นฤดูฝน (อ่างเก็บขนาดใหญ่) 9,996 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 27 4.เกษตรกรรม 16,223 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 44 และ 5.อุตสาหกรรม 558 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 2
ข่าวที่เกี่ยวข้อง