ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย เสนอไอเดีย "ลดค่าเทอม" เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ภายหลังพ่อแม่ผู้ปกครองมีภาระจำนวนมาก พร้อมตำหนิ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ละเลยปัญหา
เนื้อหาทั้งหมดระบุผ่านเฟซบุ๊กดังนี้
"เรียนออนไลน์ แต่จ่ายมากกว่าเดิม"
ผมเฝ้าติดตามว่าเมื่อไหร่รัฐบาลจะมีนโยบาย "ลดค่าเทอม" จากการเรียนออนไลน์ที่ใช้กับนักเรียน นักศึกษาอยู่ในช่วง โควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ไม่มีสัญญาณตอบรับ หรือแม้แต่จะนำเรื่องไปพิจารณา
ส่วนท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการก็คงมัวแต่ตามเรื่องของภรรยาที่มีชื่อสนับสนุนลงผู้ว่า กทม. ถึงขนาดไปตาม “บิ๊กป้อม” ถึงทำเนียบ แต่ลืมติดตามความเดือดร้อนของบรรดาผู้ปกครองไปเสียฉิบ
จากการพูดคุยกับนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง การเรียนออนไลน์สร้างความเดือดร้อนหลายประการ
1. อุปกรณ์ไม่ครบ สัญญาณไม่มี บางบ้านมีสัญญาณเน็ต แต่ติดบ้าง หลุดบ้าง บางบ้านพื้นที่ห่างไกล รวมไปถึงอุปกรณ์ไม่เพียงพอ เพราะภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองมีมากมาย ขณะที่รายได้ลดลง
2. การอยู่บ้านของเด็ก ทำให้ผู้ปกครองต้องดูแลติดตามแทนครู โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่ได้มีความรับผิดชอบมาก ถึงขนาดต้องหาญาติ พี่ ป้า น้า อา หรือไหว้วานให้คนใกล้ชิดมาช่วยเฝ้าสอนติดตามตอนเรียนออนไลน์แทน เพราะต้องไปทำงาน เพิ่มทั้งภาระค่าใช้จ่ายจิปาถะ การกิน การดูแลมากมายหลายอย่าง
3. มีการจ่ายเงินล่วงหน้าทั้งค่าอาหารกลางวัน ค่ารถ ค่าที่พัก ค่าเรียนพิเศษสารพัดไปแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ กลับต้องจ่ายเบิ้ลเข้าไปอีก ในขณะที่รายรับลดลง
ไม่มีการคืน การลด การช่วยเหลืออื่นใดจากภาครัฐในเรื่องนี้เลย
ผมพูดเรื่องนโยบาย "ลดค่าเทอมคนละครึ่ง" เพราะรัฐมัวห่วงแต่การกิน การเที่ยว การใช้จ่าย ออกนโยบายได้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเที่ยว การช็อปปิ้ง แต่ไม่ได้ออกนโยบายใดๆ เพื่อช่วยเหลือเรื่องเรียนเลยแม้แต่นิดเดียว
ขณะที่สถานศึกษาเอกชนค่าเทอมมักงอกออก ค่าใช้จ่ายการเรียนมียิบย่อย เก็บเล็กเก็บน้อยทุกอย่างล้วนต้องควักกระเป๋า และต้องจ่ายล่วงหน้า เมื่อมีเหตุให้เรียนออนไลน์จึงเท่ากับมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก
แม้รัฐบาลจะให้เปิดเรียนเดือนหน้าแล้วก็เถอะ แต่ก็ควรลดค่าเรียนย้อนหลังช่วงเรียนออนไลน์ที่ผ่านมาเอาไปเป็นส่วนลดเมื่อเปิดเทอมหน้าก็ยังดี
ในขณะนี้ หัวอกผู้ปกครองพ่อแม่ทั้งหลายกุมขมับกับค่าใช้จ่ายที่งอกออกมาอย่างไม่ทันตั้งตัว ในทางกลับกัน สถานศึกษากลับมีค่าใช้จ่ายลดลงจากการให้เรียนออนไลน์ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบุคลากรต่างๆ เพราะเด็กไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียน
ดังนั้น ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษาเอง ต้องร่วมมือกันส่งเสียงกระตุกต่อมสำนึกให้รัฐบาลรู้ตัว
นี่ก็ได้ข่าวว่านิสิตจุฬาฯ เริ่มร่วมลงชื่อเป็นแรงผลักดันให้มหาวิทยาลัยบรรเทาความเดือดร้อนจากการเรียนออนไลน์
ร่วมกันเรียกร้องสิ่งที่เห็นเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนประเทศชาติ ดีกว่าไปเถียงกันเรื่องจะส่งใครเป็นผู้ว่ากทม.
เพราะไม่ว่าใครได้เป็น มันก็เหมือนเดิมครับ หามีอะไรเปลี่ยนแปลงไม่ รถยังติด น้ำยังท่วม แถมตอนนี้เพิ่มเรื่องฝุ่นเข้าไปอีก
ส่วนวัคซีนที่คนไทยเฝ้ารอ ว่าแล้วไม่มีผิด กลายเป็นเรื่องจนได้ เหมือนแรกๆ ที่โควิดมาใหม่ๆ ก็วุ่นวายเรื่อง “หน้ากากอนามัย” ที่แข่งกันกักตุน
ตอนนี้เรื่องวัคซีนเอามาทะเลาะกันว่าใครผิดใครถูก จนแม้แต่พม่ายังได้วัคซีนไปก่อนไทยเสียอีก
กลุ้ม!!