ไม่พบผลการค้นหา
'เมอร์เซเดส-เบนซ์' โชว์ศักยภาพเติบโตต่อเนื่องในตลาดรถหรูไทยตลอด 19 ปี เผยปี 2562 มียอดขาย 15,000 คัน ปีนี้เตรียมนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเอสยูวีรุ่นใหม่ 'EQC' ร่วมงานมอเตอร์โชว์ ปูทางผลิตภายในไทย

บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยผลประกอบการประจำปี 2562 ยังรั้งตำแหน่งแบรนด์รถหรูในประเทศไทยมากที่สุด ด้วยยอดขายกว่า 15,000 คัน ขณะที่ตลาดรถหรูโดยรวมของไทยจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 31,400 คัน ในปีที่ผ่านมา 

'โรลันด์ โฟล์เกอร์' ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นอกจากยอดการขายในประเทศไทย จะเติบโตต่อเนื่องและรั้งตำแหน่งที่ 1 มาเป็นระยะเวลา 19 ปีแล้ว ปี 2562 ที่ผ่านมา ยอดขายรถทั่วโลกยังทำสถิติสูงสุดของบริษัทถึง 2,339,562 คัน 

แม้ต้องเผชิญสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากปัจจัยหลากหลาย แต่บริษัทยังคงมองภาพรวมว่าจะเติบโตขึ้นอยู่ดี เนื่องจาก "เศรษฐกิจจริงไม่ได้แย่อย่างที่คนคิด" อีกทั้ง โรลันด์ ยังมั่นใจในเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าจะเป็นภูมิภาคที่เติบโตได้ในอนาคต เนื่องจากอายุประชากรยังไม่สูงมากนัก รวมทั้งยังมีความสามารถในการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนทักษะเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมได้ต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับฝั่งยุโรป ญี่ปุ่น หรือ จีน

เดินหน้าด้วยรถยนต์ไฟฟ้า

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจ เบนซ์ เน้นไปที่รถยนต์ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่าง "Mercedes-Benz GLC 300 e 4MATIC AMG Dynamic" รถยนต์ เอสยูวีปลั๊กอินไฮบริดขนาดกลางรุ่นใหม่ล่าสุด และ "Mercedes-Benz GLC 300 e 4MATIC Coupé AMG Dynamic" รถยนต์เอสยูวีครอสโอเวอร์

อย่างไรก็ตาม รถยนต์นำเข้ารุ่นสำคัญที่บริษัทจะเปิดตัวในงานมหกรรมยานยนต์ 'มอเตอร์ โชว์' ปลายเดือนมี.ค. ที่จะถึงนี้ คือ "Mercedes-Benz EQC" ซึ่งเป็นรถยนต์เอสยูวี (อเนกประสงค์) พลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ คันแรกจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ เพื่อลุยตลาดไทยภายในปีนี้  

โดยปัจจุบัน บริษัทได้พูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อตกลงเรื่องสัดส่วนจำนวนโควต้าที่จะสามารถนำรถรุ่นนี้เข้ามาได้ ในฐานะรถ CBU หรือรถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้ามาทั้งคัน ขณะเดียวกัน ได้เตรียมแผนประกอบเองในประเทศไทย ในฐานะรถ CKD หรือรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันเบนซ์มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทยแล้ว

โรลันด์ ชี้่ว่า การจะผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจริงในประเทศ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน การจะบอกให้ผู้ผลิตนำรถยนต์เข้ามาขาย แต่ต้องเจอกับกำแพงภาษีสูงก็ไม่คุ้มสำหรับบริษัทรถยนต์ ขณะที่ถ้าจะหวังอุปสงค์จากประชาชนที่ต้องการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ก็จะไม่สามารถผลักดันให้มีการใช้ได้ในหลักพันคันได้อย่างแน่นอน สิ่งที่โรลันด์ชี้คือการสร้างแรงจูงใจจากฝั่งรัฐให้ประชาชนเห็นประโยชน์จากการหันมาปรับใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :