กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเตือนว่า การขยายตัวที่ได้เห็นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กำลังสูญเสียแรงส่ง และคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 3.7 , 3.5 และ 3.6 ในปี 2561, 2562 และ 2563 ตามลำดับ โดยประมาณการปี 2562 และ 2563 ลดลงร้อยละ 0.2 และ 0.1 จากประมาณการเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนับถึงวันนี้เป็นการปรับลดประมาณการเติบโตครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน
คริสตีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้กล่าวในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า หลังจากที่มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งเป็นเวลา 2 ปี เศรษฐกิจโลกกำลังโตช้าลงมากกว่าที่คาดและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจยังโตต่อไป แต่ก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก
นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังคาดการณ์ว่าประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วมีการเติบโตลดลงและกำลังเกิดขึ้นรวดเร็วมากกว่าที่คิดไว้ในก่อนหน้านี้ และคาดว่าประเทศเหล่านี้จะโตร้อยละ 2.3, ร้อยละ 2 และร้อยละ 1.7 ในปี 2561, 2562 และ 2563 ตามลำดับ ขณะที่ตลาดประเทศเกิดใหม่ เศรษฐกิจชะลอตัวลงเช่นกัน โดยไอเอ็มเอฟคาดว่าในปี 2562 จะเติบโตในอัตราร้อยละ 4.5 จากร้อยละ 4.6 ในปี 2561 ก่อนที่จะโตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.9 ในปี 2563
ในรายงานของไอเอ็มเอฟยังชี้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ (emerging market) และประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วสะท้อนความต่อเนื่องของลมต้านหรืออุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจอ่อนตัวลง ทั้งจากเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ล้วนมีอัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกตั้งแต่สิ้นปีที่ผ่านมาแล้ว ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ผลักเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2560 อาจจะอ่อนแรงลงเร็วกว่าที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุนที่ชะลอตัวลง ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมนอกสหรัฐอเมริกาก็มีแนวโน้มการขยายตัวลดลงเช่นกัน ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อก็อ่อนตัวลง ยิ่งบ่งชี้ถึงแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่อยู่ในแนวทางการปรับตัวลดลง แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้หมายความว่าเป็นจุดเริ่มต้นเศรษฐกิจหันหัวกลับอย่างสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือการคำนึงถึงคาวมเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นไว้ด้วย
ขณะเดียวกัน มีข้อมูลใหม่ ๆ ในจีนที่ประกาศเมื่อวันจันทร์ (21 ม.ค.) ชี้ว่าเศรษฐกิจจีนโตร้อยละ 6.6 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2533
ลาการ์ด กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายควรจะลดหนี้รัฐบาลและนโยบายการเงินควรจะต้องพึ่งข้อมูล และการปฏิรูปเศรษฐกิจควรจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเติบโต เช่น ในตลาดแรงงาน หลังจากที่ไอเอ็มเอฟลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลก หุ้นในเอเชียปรับตัวลงเมื่อวันอังคาร (22 ม.ค.) เมื่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังคงประมาณการเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเกิดใหม่เอเชีย โดยชี้ว่ามีปัจจัยพื้นฐานดี แต่ความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกยังสูง จึงยังคงตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจจีนในปี 2562 ไว้ที่ร้อยละ 6.2 (ปรับลงตั้งแต่ประมาณการรอบเดือน ต.ค. 2561) จากผลการเจรจาสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ทำให้ความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกจีนลดลงในระยะสั้น แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนภายในยังถูกสะท้อนออกมา
ในตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เช่น การบริโภค การลงทุน และการขยายตัวของสินเชื่อ ขณะที่การส่งออกเริ่มชะลอตัวชัดเจนในไตรมาส 4/2561 อย่างไรก็ดี ทางการจีนยังคงมีเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงิน อาทิ การปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) และนโยบายการคลัง เช่น การปรับปรุงนโยบายภาษีเพื่อสนับสนุนการบริโภคและสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SME เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้ความเสี่ยงที่จีนจะประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง (hard landing) ยังคงต่ำ
ดังนั้นเศรษฐกิจกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนสูง ในภาพรวมยังคงประมาณการเท่าเดิมที่ร้อยละ 6.3 เนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียถูกปรับตัวเลขการเติบโตขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 7.5 (จากเดิมร้อยละ 7.4) ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่ม ASEAN-5 (มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) เติบโตในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 5.1 ในปี 2562 (จากเดิมร้อยละ 5.2) จากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจจีน และปัจจัยลบจากสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ภาคการส่งออกของเศรษฐกิจจีนและกลุ่มประเทศ EM เอเชียยังมีความเสี่ยงหากผลการเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่ประสบผลสำเร็จ และสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าจีนหรือใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ เพิ่มเติม
SCB ชี้ปีนี้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ (อีไอซี) ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับประมาณการใหม่ของไอเอ็มเอฟโดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ชะลอลงและยังคงมีความเสี่ยง โดยไอเอ็มเอฟปรับประมาณการ การเติบโตทางเศรษฐกิจของ ASEAN-5 ลงจากประมาณการครั้งก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่อีไอซีประเมินไว้ที่ระดับร้อยละ 3.8 ในปี 2562 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.2 และคาดการณ์อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2562 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.7 สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยและหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวลดลงในปี 2562 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และผลกระทบจากสงครามการค้า
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายใน จากการใช้จ่ายทั้งการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของรายได้และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
อังค์ถัด ประเมินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียขยายตัว
ด้านที่ประชุมสหประชาชาติเพื่อการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เผยรายงานระบุว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ทั่วโลก ลดลงร้อยละ 19 อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 จาก 1.47 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2560 ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2551 โดยเอฟดีไอที่ร่วงหนักมีสาเหตุหลักมาจากเอกชนสหรัฐฯ ส่งผลกำไรกลับประเทศกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หลังสหรัฐผ่านกฎหมายปฏิรูปภาษีเมื่อเดือน ธ.ค. 2561
อย่างไรก็ดี เอฟดีไอในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเอเชียยังคงขยายตัว เนื่องจากได้แรงหนุนจากตัวเลขการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปรับขึ้นร้อยละ 11 เมื่อปีที่ผ่านมา นำโดยไทยและอินโดนีเซีย
อีกทั้ง การลงทุนจัดตั้งบริษัทใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาเอเชียพุ่งขึ้นร้อยละ 84 ไปอยู่ที่ 3.9 แสนล้านดอลลาร์ โดยระบุว่า เป็นผลมาจากธุรกิจย้ายฐานผลิตมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า และต้องการแสวงหาโอกาสทางการค้าใหม่ๆ หลังข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) หรือ ทีพีพีใหม่ มีผลบังคับใช้แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :