ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบวาระ 3 ผ่านร่างแก้ไข ป.อาญา แก้ 2 มาตราให้หญิงตั้งท้องมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ทำแท้งได้ โดย ประธาน กมธ.แจงไม่ใช่กฎหมายทำแท้งเสรี แต่ให้ทำแท้งได้แบบมีเงื่อนไข

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 20 ม.ค. 2564 ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สองฉบับคือฉบับคณะรัฐมนตรี (ครม.)และฉบับของธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและคณะเสนอ ซึ่งมีเนื้อหาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ในกรณีมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์

โดย สันติ กีระนันทน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญ ชี้แจงว่า ตามที่สภาฯได้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สองฉบับคือฉบับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และฉบับของ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและคณะเสนอ ทั้งนี้ กมธ.ใช้ฉบับ ครม.เป็นหลักการพิจารณาพร้อมมีข้อสังเกต โดย กมธ.เน้นพิจารณาอายุครรภ์ของมารดาว่าควรจะมีเวลาเท่าใดโดยพิจารณาประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยได้ข้อสรุปว่าอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์เพื่อรักษาสมดุลเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของหญิงและเสรีภาพของเด็กในครรภ์ กมธ.เน้นย้ำว่าไม่มีการทำแท้งเสรี หรือยุติการตั้งครรภ์แบบเสรี มีการแต่การยินยอมให้ยุติการตั้งครรภ์แบบมีเงื่อนไข 

สันติระบุว่า ร่างพ.ร.บ.นี้เปิดช่องทางให้เสรีภาพกับหญิงที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ กมธ.เห็นว่าไม่มีหญิงคนใดต้องการท้อง หรือจะไปทำแท้ง บัดนี้ กมธ.วิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้วจึงนำเสนอต่อสภาฯ พิจารณาต่อไป 

ด้าน ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. ระบุว่า ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ในระหว่าง 12 สัปดาห์นั้น ผู้หญิงนั้นไม่ต้องการที่จะตั้งครรภ์ แต่มีผู้หญิงอีก 20 % สถิติการยุติการตั้งครรภ์นั้น 3 เดือนแรกต้องการจะมีลูก แต่ภายหลัง 12 สัปดาห์เกิดอุบัติเหตุทางชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้ชาย สามีติดยาเสพติด ถูกจำคุก และผู้ชายบอกให้ตัวเองรอแต่ไม่กลับมา ซึ่งเกิดขึ้นจริงๆ มีผู้หญิงรอผู้ชายทำตามคำสัญญา 5 เดือนแต่ไม่กลับมา และมีเหตุการณ์การควบคุมการคุมกำเนิดผิดพลาด ที่ตนเพิ่มในมาตรา 301 ตนไม่ได้กำหนดอายุครรภ์ เพราะข้อมูลทางการแพทย์เปลี่ยนไปตลอดเวลา หากหญิงจะยุติการตั้งครรภ์ด้วยเหตุผลอื่นๆภายหลัง 12 สัปดาห์ต้องมีความปลอดภัย โดยผู้หญิงนั้นไม่มีความผิดหากต้องการจะพบแพทย์เพื่อยุติการตั้งครรภ์

ขณะที่ ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ในฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงว่า ถ้ามีการจัดการตรงนี้ดี จำนวนผู้หญิงเข้าทำแท้งจะน้อยลง เพราะเรายังไม่เคยมีตัวเลขจัดทำอย่างเป็นระบบ แต่มั่นใจว่าจะมีผู้หญิงจำนวนหนึ่งไม่ได้ทำแท้งอยู่แล้วได้เห็นทางเลือกอื่นว่าสังคมไม่ได้ทอดทิ้ง รัฐจะช่วยดูแลถ้าหญิงที่จะตั้งครรภ์ต่อไปรวมทั้งเด็กที่คลอดออกมาจะยากแค้นอย่างไร ทั้งนี้มีการแก้ไข 2 มาตราและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในมาตรา 301 และ มาตรา 305 ดังนั้นทำได้เพียงแค่นี้

สำหรับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาที่เปิดทางให้มีการยุติการตั้งครรภ์นั้น โดยร่างของ กมธ.วิสามัญได้แก้ไขมาตรา 301 ให้หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนมาตรา 305 นั้น ร่างของกมธ.ได้กำหนดบทบัญญัติของการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือ มาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ผู้กระทำไม่มีความผิด (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น

(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง 

(3) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

(5) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 24 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ รมว.สาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

วาโย  สภา ทำแท้งธัญวัจน์ ก้าวไกล สภา ทำแท้ง 0120_16.jpgสภา ทำแท้ง210120_17.jpgก้าวไกล สภา ทำแท้ง0120_21.jpg

ทั้งนี้ที่ประชุมสภาฯ ได้มีมติเสียงข้างมาก 273 เสียง ต่อ 8 เสียง เห็นด้วยกับร่างของ กมธ.ที่แก้ไขในมาตรา 4 ซึ่งกำหนดเหตุของการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือ 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาเป็นผู้กระทำไม่มีความผิด อาทิ จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย , จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง , หญิงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันจะยุติการตั้งครรภ์

จากนั้นที่ประชุมสภาฯ ได้มีมติเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในวาระที่ 3 โดยมีมติเห็นด้วย 276 เสียง ไม่เห็นด้วย 8 เสียง งดออกเสียง 54 เสียง จึงถือว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมมีมติเสียงข้างมากเห็นด้วยกับข้อสังเกตของ กมธ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง