ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 805 ศาลอาญารัชดา นัดฟังคำพิพากษาคดี อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ จากกรณีโพสต์เฟสบุ๊คประชาสัมพันธ์ และทำกิจกรรม ‘พลเมืองรุกเดิน’ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2558 ถือเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) หรือไม่ โดยศาลพิพากษา ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34
สำหรับต้นเหตุแห่งคดีนี้มีความเชื่อมโยงกับการถูกตั้งข้อหากรณีการทำกิจกรรม ‘เลือกตั้งที่(รัก)ลัก’ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 ซึ่งในวันนั้น พันธศักดิ์ , อานนท์ นำภา , สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ถูกควบคุมตัวขณะปรากฎตัวทำกิจกรรม และถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งคดีดังกล่าวนี้จะถูกพิจารณาในศาลทหารตามประกาศ คสช. ด้วย
ต้นเรื่องดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้พันธ์ศักดิ์ประกาศทำกิจกรรม ‘พลเมืองรุกเดิน’ ในวันที่ 14 มี.ค. 2558 โดยระบุว่า ตนเองจะเดินจากบางบัวทอง ไป สน.ปทุมวัน เพราะมีนัดหมายรายงานตัวไปพบพนักงานสอบสวนคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ในวันที่ 16 มี.ค. 2558 แต่หลังจากที่พันธ์ศักดิ์ ออกเดินเท้าห่างจากจุดเริ่มต้นประมาณ 5 กิโลเมตร เขาก็ถูกควบคุมตัวขึ้นรถตู้ตำรวจมาส่งที่ สน.ปทุมวัน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ปฏิเสธการเข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าว เนื่องจากมาพบไม่ตรงกับวันนัดรายงานตัว
ต่อมาวันที่ 15 มี.ค. 2558 พันธ์ศักดิ์ ได้ทำกิจกรรมนี้อีกครั้ง โดยเดินจาก หมุดเฌอ สมาพันธ์ ศรีเทพ บุตรชายซึ่งถูกยิงเสียชีวิต จากการสลายการชุมนุมปี 2553 ริมถนนราชปรารถ ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อรณรงค์ถึงความอยุติธรรมที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร และระหว่างที่เดินนั้นมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าไปมอบดอกกุหลาบให้กำลังใจ และมีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินตามพันศักดิ์ไปด้วย จึงเป็นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดีครั้งที่ 2 ฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน กระทำความผิดตาม ม.116 และฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) โดยถูกจับกุมกลางดึกระหว่างเดินทางเข้าบ้านพักเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2558
คดีนี้ ศาลทหารกรุงเทพฯ เริ่มสอบคำให้การของพันธ์ศักดิ์ ครั้งแรกในวันที่ 5 พ.ย. 2558 โดยครั้งนั้นทนายความของเขา ยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารกรุงเทพวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาล ตาม พ.ร.บ.วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 ศาลจึงสั่งให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว ต่อมามีการวินิจฉัยว่า ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ เนื่องมีอำนาจตามคำสั่ง และประกาศของ คสช.
จากนั้นศาลทหารได้เริ่มต้นสืบพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2560 ยาวนานมา 2 ปี จนกระทั่ง มีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 9/2562 เรื่องให้โอนย้ายคดีพลเรือนจากศาลทหาร มาเข้าสู่การพิจารณาที่ศาลอาญาแทน คดีนี้กลับมาเริ่มสืบพยานต่อในศาลอาญาครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 และจบภายในวันที่ 5 พ.ย. 2563 จากนั้นศาลได้พิพากษายกฟ้องในวันนี้ รวมระยะเวลาในการต่อสู้คดีทั้งสิ้นเกือบ 5 ปี
สำหรับบรรยากาศการสืบพยานที่ศาลทหารในคดี มีบันทึกในฐานข้อมูลคดีเว็บ iLaw ตอนหนึ่งระบุว่า ในวันที่ 13 ก.ค. 2561 มีนัดสืบพยานโจกท์ปากที่ 4 คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ในฐานะหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลขึ้นบัลลังก์แต่หลังจากเริ่มสืบพยานไม่ถึง 10 นาทีศาลสั่งห้ามผู้เข้าฟังในห้องพิจารณาจดบันทึก ทั้งที่การพิจารณานัดก่อนๆ ไม่ได้มีการสั่งห้ามเช่นนี้
ขณะเดียวกันแม้ว่าทนายจำเลยขออนุญาตให้เสมียนที่มาด้วยเป็นผู้จดบันทึกก็ตาม ศาลกลับอนุญาตแค่ให้ทนายจดบันทึกเท่านั้น และกระทั่งหลังออกจากห้องพิจารณาก็มีเจ้าหน้าที่ศาลมาถามผู้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาบางท่านเพื่อทำการยึดสมุดและฉีกหน้ากระดาษที่มีการบันทึกเกี่ยวกับการสืบพยานครั้งนี้ ซึ่งส่วนมากเป็นข้อมูลในช่วง 10 นาทีแรกหลังจากการเริ่มสืบพยานก่อนที่จะมีการสั่งห้ามไม่อนุญาตให้จดบันทึกเท่านั้น
อย่างไรก็ตามตามฐานข้อมูลคดีของ iLaw มีบันทึกไว้ด้วยว่า พ.อ.บุรินทร์ ได้ตอบคำถามของทนายความด้วยน้ำเสียงที่ดัง และมีน้ำเสียงตะคอกในบางคำถาม จนศาลทหารสั่งพักการพิจารณาคดี 5 นาที เนื่องจากเหตุว่า พยานไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้
อ่านเพิ่มเติม