‘ไซเลนท์ เอท’ สตาร์ทอัพจากสิงคโปร์คิดค้นวิธีการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอเพื่อช่วยบริษัทด้านการเงินตรวจสอบการกระทำที่จะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต เช่น การที่ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น (เอชเอสบีซี) ต้องจ่ายเงินมูลค่า 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท ในปี 2555 เพื่อยุติข้อกล่าวหาการปล่อยให้ขบวนการค้ายาเสพติดฟอกเงินกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ข้ามประเทศ
หรือกรณีไอเอ็นจี บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่ให้บริการด้านการธนาคาร การเงิน ประกันภัย เสียเงินมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท หลังบริษัทออกมายอมรับว่ามีการเคลื่อนย้ายเงินอย่างผิดกฏหมายผ่านบัญชีของบริษัท
ขณะที่ล่าสุดดองเคอร์ แบงก์ (Danske Bank) ของฟินแลนด์พบว่าธนาคารเข้าไปมีส่วนร่วมในกองทุนอื้อฉาวที่น่าสงสัยของรัสเซีย
ด้วยเหตุนี้ 'ไซเลนท์ เอท' จึงสร้างเทคโนโลยีที่ใช้เอไอและเครื่องมือในการเรียนรู้ที่จะจำแนกและหยุดธุรกรรมทางการเงินที่ผิดกฏหมายก่อนที่ธุรกรรมจะเกิดขึ้น
'มาร์ติน มาร์กี้วิส' ผู้ก่อตั้ง ไซเลนท์ เอท อ้างว่าเอไอที่บริษัทพัฒนามีประสิทธิภาพมากกว่าระบบรักษาความปลอดภัยที่ธนาคารใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากตรวจสอบอาชญากรรมด้วยระบบปัจจุบันอิงการใช้มนุษย์ในการตรวจสอบรายการธุรกรรมทางการเงินของทั้งรายบุคคลและบริษัทต่างๆ เป็นหลัก
มาร์ติน กล่าวว่า ธนาคารทั่วโลกต้องตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่น่าสงสัยนับล้านๆรายการต่อปี ซึ่งระบบปัจจุบันไม่เอื้อให้สามารถจัดการกับคนไม่ดีได้ โดยเทคโนโลยีของเอไอของบริษัทสามารถทำให้กระบวนการตรวจสอบเร็วขึ้นและไม่ต้องเผชิญกับปัญหาความผิดพลาดของมนุษย์
ตัวอย่างธุรกรรมทางการเงินที่ระบบซอฟต์แวร์ของไซเลนท์ เอทพุ่งเป้าในการตรวจสอบ อาทิ ความพยายามในการเปิดบัญชีใหม่ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ หรือการยื่นขอสินเชื่อบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลประเทศอิหร่าน
“ไม่มีธนาคารไหนอยากโดนจับได้ว่าเป็นตัวการสนับสนุนการเงินในโครงการนิวเคลียร์ใหม่ของเกาหลีเหนือ” มาร์ติน กล่าว
ทั้งนี้ ระบบของไซเลนท์ เอท ทำงานด้วยการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานกว่าพันรายงานและข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ระบบฉลาดและทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากตอนเริ่มต้นบริษัทวางแผนที่จะจัดตั้งการดำเนินการในลอนดอน หรือ โตเกียว ก่อนหันหัวเรือไปจัดตั้งที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจ ความสากลของการใช้ภาษาอังกฤษ และชื่อเสียงที่ดีของผู้คุมด้านการเงิน
ธนาคารทั่วโลกเริ่มสนใจ
ในปี 2561 ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประกาศการใช้งานระบบเทคโนโลยีของไซเลนท์ เอท เพื่อตรวจสอบลูกค้าที่มีศักยภาพออกจากลูกค้า ‘เฝ้าระวัง’ ที่มีความเสี่ยงสูง ขณะที่ ธนาคารโอเวอร์ชีส์-ไชนีสแบงกิ้ง คอร์ปอร์เรชั่น ธนาคารสัญชาติสิงคโปร์ขนาดใหญ่ ก็หันมาใช้เทคโนโลยีนี้เช่นเดียวกัน และมีอีกหลายธนาครที่อยู่ในระหว่างการพูดคุย
อ้างอิง; CNN