วันที่ 10 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงการช่วยเหลือแรงงานไทยที่อิสราเอลว่า ก่อนอื่นตนต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง โดยสั่งการให้ พม. ทุกจังหวัด ประสานกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยจะมีสหวิชาชีพและนักจิตวิทยาที่จะเข้าไปพูดคุยกับครอบครัว พร้อมกับดูมาตรการเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกระทรวงสามารถสนับสนุนในหน่วยงานอื่นได้หรือไม่ โดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมีการประชุมเพื่ออัพเดทสถานการณ์
ขณะที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพของประชาชน ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ก็จะเริ่มดำเนินการ โดยศูนย์นี้จะประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ ในทุกมิติที่กระทรวงดูแลอยู่ รวมไปถึงสายด่วน 1330 และจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อรับข้อร้องเรียนของประชาชน ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเยียวยา ประชาชนและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับกล่าวย้ำว่า จะนำนัก จิตวิทยาลงไปพูดคุยเพื่อเยียวยาจิตใจครอบครัว แม้ว่าจะยังไม่มีการยืนยันถึงบุคคลผู้เสียชีวิต แต่ก็จะทำให้เกิดความสบายใจในการทำงานของประชาชน แต่ละครอบครัว
ส่วนจะมีการประสานกระทรวงแรงงานเพื่อให้ระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตเลยหรือไม่ เพื่อให้สามารถเยียวยาจิตใจครอบครัวของผู้เสียชีวิต วราวุธ กล่าวว่า ตนเห็นใจทุกหน่วยงาน เพราะการที่จะติดต่อกลับบุคคลและการยืนยันอัตลักษณ์จากพื้นที่มายังประเทศไทยเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ไม่ใช่เฉพาะในหน่วยงานประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เวลาให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการ ส่วนจะเร่งอย่างไร ก็ไม่สามารถทำอย่างไม่รอบคอบได้ เพราะหากเกิดความคลาดเคลื่อนจะทำให้เกิดผลกระทบตามมา
วราวุธ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติว่า ได้มีการหารือกันและมีการพูดคุยกับ นิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการศึกษาจัดทำประชามติ ซึ่งดูแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งในสมัยพรรคชาติไทย (ในขณะนั้น) จนเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ว่าได้ดำเนินการอย่างไร การทำประชามติจะเป็นอย่างไร ทำกี่ครั้งและที่สำคัญคือต้องการทำให้เร็วที่สุด และต้องประสบความสำเร็จ เพราะถ้าทำเร็วทำประหยัด ท้ายที่สุดแล้วไปตกม้าตาย ตามกฎหมาย และตามกระบวนการที่ต้องทำตามกฎหมายและกระบวนการขั้นตอนจะเร็วจะประหยัดอย่างไร ก็ถือเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ แต่หากจะต้องทำตามขั้นตอน แม้จะต้องใช้เงินงบประมาณก็ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น อย่าให้เป็นเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย