โรงยิมเนเซียม องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี อ.เมือง จ.ราชบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชารมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ว่า วันที่ 12 พ.ย.นี้ ในช่วงบ่ายพรรคชาติไทยพัฒนาจะมีการหารือกัน ซึ่งพรรคได้สัดส่วนและโควตาของพรรคที่ได้จำนวน 1 คน เพราะพรรคมีส.ส.เพียง 11 เสียง ซึ่งทางพรรคจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมไปนั่งเป็นคณะกรรมาธิการ ทั้งนี้ส่วนตัวมองใครไว้หรือไม่นั้นก็คงเป็นความเห็นส่วนตัวจึงไม่อยากพูดในขณะนี้ แต่ต้องรอ ให้เป็นมติของพรรคน่าจะดีกว่า
เมื่อถามว่า แกนนำของแต่ละพรรคจะมีการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีหรือมีการหารือกันระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่แน่ใจ ขณะนี้ยังไม่มีใครพูดคุยกัน แต่ก็มีการพูดคุยกันในวงกาแฟเท่านั้น ยังไม่ได้พูดคุยเป็นกิจจะลักษณะ ส่วนรายชื่อที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)เสนอให้ดำรงตำแหน่งประธานกมธ.นั้น ตนมองว่าคงต้องฟังที่ประชุม ของพรรคร่วมรัฐบาลก่อนว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพื่อนำไปหารือกันภายในแต่ละพรรค ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาทำงานโดยยึดมติพรรคเป็นเสียงส่วนใหญ่ ดังนั้นเมื่อได้รับเรื่องอะไรมาก็จะต้องหารือกันภายในพรรคก่อน
เมื่อถามว่า ในส่วนของประธานกมธ. ที่มีชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานรัฐสภาคนที่ 1 และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ใครมีความเหมาะสมนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า "ถึงตรงนี้มีหลายท่านที่เหมาะสม แต่ต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ คร่ำหวอดในวงการการเมือง และต้องคร่ำหวอดในเรื่องตัวบทกฎหมายในหลายๆ มาตรา และที่สำคัญการมานั่งตรงนี้ต้องมีความยืดหยุ่นได้พอสมควร เพราะจะเป็นการประสานอย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ข้อดีก็มากข้อที่ต้องปรับปรุงก็มี ดังนั้นคนที่มานั่งตรงนี้จะต้องสามารถบาลานซ์ความต้องการของหลายฝ่ายได้ หรือเรียกว่าคนที่เป็นประธานต้องมีประสบการณ์และมีลูกล่อลูกชนพอสมควร"
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนพูดมาตลอดว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 รวมทั้งฉบับปัจจุบันนั้น ทุกฉบับมีบางเรื่องที่ควรจะมีการแก้ไข เพราะช่วงที่ร่างกับช่วงที่นำมาปฏิบัติใช้มีความยากง่ายแตกต่างกัน และห้วงเวลาต่างกัน จึงมีทั้งข้อจำกัดและบริบทของสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละฉบับมีข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างกัน ดังนั้นต้องมานั่งคุยกันว่ามีประเด็นใดบ้างที่ควรจะแก้ไข อย่างไรก็ตามมองว่าการชิงเก้าอี้ตำแหน่งประธานกมธ. จะไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้ต้องมานั่งคุยกัน