วันที่ 22 ธ.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้สดถามถึงสาเหตุที่เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ทั้งที่เรือสุโขทัยเป็นเรือที่มีความสมบูรณ์แบบ มีสมรรถนะ ทำการรบได้ถึง 3 มิติ พร้อมตั้งคำถามไปถึงการแต่งตั้งอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้มาดำรงตำแหน่ง ทำให้การทำงานออกมาห่วยแตก และจนถึงขณะนี้ กรมอุตุนิยมวิทยายังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็น จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีไปเช็คบิลเรื่องนี้
"กองทัพเรือปล่อยให้เรือหลวงสุโขทัย ออกมาลาดตระเวนทำไม เพราะยังไม่มีความจำเป็นที่ขณะนี้นั้นมีอริราชศัตรู หรือมีเรือรบ กำลังของฝ่ายข้าศึก ที่มารุกล้ำอธิปไตยของเราจนจำเป็นต้องส่งเรือรบเข้ามาในสถานการณ์ที่มีพายุ และกรมอุตุฯซึ่งมีหน้าที่ในการพยากรณ์อากาศไม่ได้เตือนอะไรเลยว่ามีพายุ มีคลื่นลมขนาดใหญ่"
เพราะนอกจากเรือหลวงสุโขทัยที่อับปางแล้ว ยังมีเรือพาณิชย์และเรือประมงอีกหลายลำอับปางเช่นกัน นายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้อย่างไร และเพราะเหตุใดตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันนี้ นายกฯ จึงยังไม่ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ด้วยตนเอง
ยุทธพงศ์ ถามต่อว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่าเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นชนิด MTU ของจีน เมื่อน้ำเข้า จึงทำให้เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าดับ และระบบต่างๆ ของเรือดับไปด้วย เรือจึงไม่มีกำลังที่จะฝ่ากระแสคลื่น ขนาดเรือที่อยู่บนน้ำ ยังเกิดความสูญเสียกับเครื่องยนต์ขนาดนี้ แล้วสำหรับเรือดำน้ำ กองทัพเรือยังจะใช้เครื่องยนต์ของจีนอีกหรือไม่
เช่นเดียวกับ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง โดยถือว่าเป็นการสูญเสียภายใต้การบริหารของกองทัพครั้งแล้วครั้งเล่า
“ผมอยากจะถามไปถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำสูงสุดของกองทัพ ซึ่งวันนี้ไม่ได้มาตอบไม่เป็นไร ท่านก็คงกำลังเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน”
ณัฐชา ขอให้ช่วยอธิบายเหตุการณ์เริ่มต้นเวลาที่น้ำเริ่มเข้าเรือ ได้รับการแจ้งเหตุเวลาใด เรือที่เข้าไปช่วยลำแรก ไปในช่วงเวลาใด ตอนนั้นมีกำลังพลจำนวนเท่าไหร่ เรือไม่จมสู่พื้นทะเลใช่หรือไม่ อุปกรณ์ในการนำไปช่วยมีอุปกรณ์ใดบ้าง มีชูชีพเท่าไหร่ เรือยางเท่าไหร่ อุปกรณ์อื่นๆที่จะช่วยกำลังพลให้รอดชีวิตมีอะไรบ้าง ได้ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานใดบ้างและได้รับการตอบรับจากหน่วยงานใดบ้าง
ณัฐชา ระบุว่า ตนขอถามต่อว่ามีภารกิจใดที่ต้องฝ่าคลื่นลมแรง ในวันและเวลามรสุม มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ใครเป็นคนออกหนังสือสั่งการ ได้รับข้อมูลจากจังหวัดหรือกรมอุตุนิยมวิทยาก่อนหรือไม่ว่ามีคลื่นลมแรง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง เหตุใดยังคงต้องดื้อดึงเอากำลังคนที่เป็นลูกหลานของพี่น้องประชาชน ไปทำภารกิจนี้
นอกจากนี้ กำลังพลที่ออกไปเป็นทหารเกณท์ใช่หรือไม่ มีกำลังคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นใช่หรือไม่ รวมทั้งกำลังพลทั้งหมดได้เคยผ่านอบรมเผชิญเหตุภัยพิบัติหรือไม่
“มีวิธีการขั้นตอนอย่างไร พลทหารเหล่านี้เคยได้รับการฝึกอบรมหรือไม่ หรือท่านไม่ได้มองเห็นคุณค่าของพลทหารเลย มีภารกิจที่ไหนก็ส่งไป เอาจำนวนเข้าว่า สุดท้ายไม่ได้มีการพัฒนาต่อยอดหรือฝึกอบรมให้กับพลทหารเหล่านั้นในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ”
รมช.กลาโหม ยันใช้งบฯยึดความปลอดภัยของกำลังพล
ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นตัวแทนตอบกระทู้สดแทนนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ กองทัพเรือเป็นส่วนหนึ่งเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางทะเล ซึ่งก่อนจะส่งเรือหลวงสุโขทัยออกปฏิบัติการ ได้ประเมินขีดความสามารถและศักยภาพของเรือแล้ว แต่ด้วยสภาพอากาศจึงทำให้เรือหลวงสุโขทัยประสบเหตุขึ้น
พล.อ.ชัยชาญ ระบุต่อว่า ตนขอกราบเรียนว่าสาเหตุหลักๆ ทางกองทัพเรือได้รายงานว่า วันนั้นมีสภาพอากาศค่อนข้างจะมีขึ้นลมแรงมาก เรือได้ฝ่าคลื่นแรง ต่อมามีน้ำเข้ามาในตัวเรือ ส่งผลไปถึงน้ำไปที่เครื่องไฟฟ้า ทำให้มีผลหยุดทำงาน เป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมเรือได้ ส่งผลให้น้ำเข้ามาในตัวเรืออย่างรวดเร็ว ซึ่งสภาพเรือในช่วงนั้นเอียงประมาณ 60 องศา
โดยทางศูนย์บัญชาการกองทัพเรือได้สั่งการให้เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือรบอ่างทอง เรือหลวงกระบุรี และเฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ลำเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งในช่วงเวลานั้นเรือหลวงกระบุรีอยู่ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าไปในพื้นที่ประมาณ 20 ไมล์ทะเล ถึงเวลาประมาณ 20.40 น. นอกจากนี้ได้ได้รับการช่วยเหลือจากเรือลากจูงในพื้นที่และเรือน้ำมัน
“กำลังพลทั้งหมด 105 คนมาอยู่ที่กราบเรือ เตรียมแต่การที่จะขนกำลังพลเหล่านั้น เข้าช่วยเหลือได้ 75 ราย อีก ประมาณ 30 รายพลัดตก ผมเองได้ไปพบกับญาติ ทุกคนก็แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต”
พล.อ.ชัยชาญ ย้ำว่าการดำเนินการทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมภายในกองทัพเรือ ในช่วงที่เหลือเอียงประมาณ 60 องศา ได้คาดการณ์ว่าใช้เรือลากจุง ก็สามารถลากเรือหลวงสุโขทัยมายังฝั่งได้ แต่น้ำกลับเข้ามาเพิ่มเติมทำให้ท้ายเรือจม
“ด้วยสภาพเรือที่เอียง ทำให้ไม่สามารถที่จะปล่อยแพชูชีพได้ เพราะว่าคลื่นลมแรง แม้แต่เฮลิคอปเตอร์ที่ไปเพื่อจะโรยให้กำลังพลได้ขึ้นมาบนเฮลิคอปเตอร์นั้นก็ทำได้ยาก เรือนั้นโคลงเคลง อาจจะเป็นอันตรายได้”
พล.อ.ชัยชาญ ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีได้ติดตามสถานการณ์และสั่งการมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องของชีวิตและความปลอดภัยของกำลังพล ซึ่งหลังจากวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนเดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่สัตหีบ กองทัพเรือภาค 1 เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวกำลังพล และให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน และสั่งการให้ทุกเหล่าทัพ ระดมสรรพกำลังช่วยเหลืออย่างเต็มที่
สำหรับเรื่องเครื่องยนต์เรือนั้น ขณะนี้กองทัพเรือ ยังไม่ตัดสินใจว่าจะใช้เครื่อง MTU ที่ผลิตจากจีนหรือไม่ ซึ่งกองทัพเรือได้มีคณะกรรมการศึกษารายละเอียด ประสิทธิภาพ และจะไปดูถึงโรงงานผลิต เพื่อนำมาวิเคราะห์และประเมิน เพื่อให้ได้เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุดมาใช้ในเรือดำน้ำ ยืนยันว่ากองทัพเรือจะใช้งบประมาณโดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศและความปลอดภัยของกำลังพลให้ปฏิบัติภารกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ มีการสั่งการให้กองทัพเรือสอบสวนในทุกเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องเสื้อชูชีพ เรื่องที่สังคมให้ข้อสังเกตต่างๆ ส่วนเรื่องชูชีพ และเครื่องช่วยชีวิตในเรือนั้น ตนขอเรียนว่า ปกติจะมีจำนวนเท่ากับอัตราประจำเรือและมีส่วนหนึ่งที่เป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยทางทะเล มีทั้งชูชีพส่วนบุคคลและแพชูชีพ