ไม่พบผลการค้นหา
ไม่ได้ด่างูเห่าว่าชั่วเนรคุณอย่างเดียว แต่เป็นการสอนด้วย ว่าอย่าไปช่วยเหลืองูเห่า เพราะมันไม่มีประโยชน์ แถมพลั้งพลาดอาจตายไม่เหลือ

ฉันเคยเขียนบทความไว้เรื่องหนึ่ง คือ ทำไมเราต้องด่าอะไรๆ ว่าเหี้ย แน่นอนว่า “เหี้ย” ที่ถูกยืมชื่อมาด่านั้นจะต้องมีความหมาย ฉันใดก็ฉันนั้น การหยิบชื่อ “งูเห่า” มาเรียกคนบางคน กลุ่มบางกลุ่ม ย่อมต้องมีที่มาเหมือนกัน และฉันยังคงคิดเสมอว่า “การด่าโดยที่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง อาจทำให้การด่านั้นขาดอรรถรสได้” จึงขอเขียนเรื่องเชิงวัฒนธรรมและวรรณคดีเกี่ยวกับ “งูเห่า” ไว้ให้เข้าเทรนด์สักหน่อย

คนประเภทที่เราเรียกว่า “อีงูพิษ – อีงูเห่า” อาจอยู่รอบตัวเรา แน่นอนว่านังพวกนี้ไม่น่าเข้าใกล้ เพราะอาจ “แว้งกัด” เราได้ง่ายๆ แต่สำหรับกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “งูเห่า” ที่โด่งดังที่สุด ก็น่าจะเป็น “ส.ส.” โดยคำๆ นี้อย่างที่รู้กันว่าต้นตำรับมาจากการที่คุณสมัคร สุนทรเวช ก่นประณามกลุ่ม ส.ส. 13 คนของพรรคตัวเอง ที่แอบดอดไปสนับสนุนพรรคคู่แข่ง จนคุณสมัครต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน จากนั้นคำว่า “ส.ส.งูเห่า” ก็ถูกนำมาใช้อ้างอิงถึงกลุ่มผู้แทนที่พร้อมจะแปรพักตร์แบบนิ่มๆ

นัยของงูเห่าที่คุณสมัครว่าไว้ หมายถึง “เนรคุณ” โดยอิงมาจากนิทานอีสปเรื่องชาวนากับงูเห่า แต่เอาเข้าจริงแล้วในทัศนะของคนไทย “งูเห่า” นั้นเป็นคำที่สามารถใช้ด่าในมิติอื่นๆ ได้อีก เช่น ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน นางวันทองก็ด่าขุนช้างว่า “ไอ้งูเห่า” เพราะมาโป้ปดมดเท็จว่าขุนแผนตายระหว่างไปทำศึก

“ใครมาว่าชั่วผัวกูตาย                   แกล้งใส่ความร้ายกูจะด่าให้

อ้ายงูเห่าเจ้าเล่ห์ทุกอย่างไป            หม้อใบละสิบเบี้ยสู้เสียมา”

จากคำด่าท่อนนี้เห็นได้ว่าอีพวกงูเห่า หมายถึง พวกเจ้าเล่ห์ ไว้วางใจไม่ได้ สอดคล้องกับสุภาษิต “ช้างสาร งูเห่า ข้าเก่า เมียรัก” ที่มีใช้กันมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น ในบทละครเรื่องไชยเชษฐ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 บรรยายไว้ชัดๆ ว่า อันเชื้อชาติช้างสารแลงูเห่า ข้าเก่าเมียรักอย่าวางจิตร ทั้งสี่อย่างมักล้างเอาชีวิตร เจ้าไม่จำทำผิดจึงบรรไลย

ขณะที่ใน “โคลงโลกนิติ” ที่ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร” ทรงรวบรวมขึ้นเมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ บันทึกไว้ว่า

ช้างสาร หกศอกไซร้            เสียงา

งูเห่า กลายเป็นปลา            อย่าต้อง

ข้าเก่า เกิดแต่ตา                 ตนปู่ ก็ดี

เมียรัก อยู่ร่วมห้อง              อย่าไว้วางใจ

แปลง่ายๆ ได้ว่า ช้างตัวใหญ่ถึงงาจะหัก งูเห่าถึงจะมองดูคล้ายๆ ปลา (น่าจะหมายถึงปลาช่อน) ลูกน้องเก่าถึงจะอยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ และเมีย ทั้งหมดนี้ “วางใจไม่ได้” อาจทำอันตรายถึงชีวิตทั้งนั้น

ยังมีเรื่องเล่าเก่าแก่อีกเรื่องหนึ่งอยู่ใน “นิทานปักษีปกรณัม” ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 สันนิษฐานว่ามีเค้าโครงมาจากคัมภีร์ปัญจตันตระของพราหมณ์ และชาดกในพุทธศาสนา เล่าถึงชายหนุ่มคนหนึ่งบังเอิญไปเห็นนกกด หรือนกกระปูดกำลังสู้กับงูเห่า (นกกระปูดชื่นชอบการกินงูเป็นอาหาร พบกันเมื่อไหร่เลยต้องบวกกันเสมอๆ ในกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ยังเขียนไว้เลยว่า “นกกดอดทนสู้ พบงูเห่าเอาปีกบัง งูโพนพังพานหวัง จะขบตอด บ รอดเลย) บังเอิญชายหนุ่มนั่นคิดอะไรไม่รู้อยากจะ “ทำบุญคุณกับงูเห่า” ก็เลยเอาไม้ไล่ตีนก ปรากฎว่านกหลบไวตีเท่าไหร่ก็ไม่โดน ชายคนนี้เลยต้องหมุนซ้ายหมุนขวาและในที่สุดก็พลาดเหยียบงูเห่าเข้าให้ และก็แน่นอนงูเห่าโกรธจัดและกัดเจ้าหนุ่มตายคาที่

“งูเห่าก็โกรธว่า นี่ฤๅมาทำคุณแก่งูเห่าๆ ก็ขบเท้ามาณพๆ ก็สลบลงด้วยพิษงูเห่า ก็ถึงแก่ความตายในสถานที่ริมบ้านชนบทนั้น อย่างนี้และใช่การจะเอามาเปนการกล่าว ก็ไม่เปนประโยชน์ดุจมาณพนั้นแล”

ขีดเส้นใต้สองเส้นคำว่า “ไม่เปนประโยชน์” ข้างบน คำๆ นี้ไม่ได้ด่างูเห่าว่าชั่วเนรคุณอย่างเดียว แต่เป็นการสอนคนอย่างเราๆ ท่านๆ ด้วย ว่าอย่าไปช่วยเหลืองูเห่าทำคุณกับคนไม่ดี เพราะมันไม่มีประโยชน์ แถมพลั้งพลาดอาจตายไม่เหลือ 

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog