ไม่พบผลการค้นหา
กองทัพยังคงตกเป็นเป้าเช่นเดิม โดยเฉพาะเรื่องงบกลาโหม ที่เป็นกระแสตั้งแต่ที่พรรคขั้วต้าน คสช. ใช้หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดยเริ่มจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่ชูแนวคิด ‘ปฏิรูปกองทัพ’ จากนั้นพรรคเพื่อไทยก็รับลูก โดยเสนอให้ลดงบกลาโหม 10 เปอร์เซ็นต์ และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

ซึ่งพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นนำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 1 ของพรรค

เรื่องนี้สื่อได้ไปถาม พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. จึงเป็นที่มาของเพลงหนักแผ่นดิน

โดยในขณะนั้น พล.อ.อภิรัชต์ ได้ถามสื่อกลับว่า เพลงอะไรที่กำลังฮิตตอนนี้ จากนั้นจึงเฉลยว่าเพลงหนักแผ่นดิน แต่ไม่จบเท่านั้นได้มีการเปิดเพลงปลุกใจทหารผ่านเสียงตามสายและวิทยุ ทบ. ให้ตระหนักในความเป็นทหารและหน้าที่ด้วยเพลงต่างๆ  โดยหนึ่งในนั้นคือเพลงหนักแผ่นดิน ถือเป็นอีกปรากฏการณ์ท้าชนฝ่ายค้านของ พล.อ.อภิรัชต์ ก่อนจะมีการเลือกตั้ง 24มี.ค. 2562

หากร้อยเรียงแอ็กชันของ พล.อ.อภิรัชต์ ต่อพรรคเพื่อไทยนั้น น้อยกว่าอดีตพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ที่ พล.อ.อภิรัชต์ ขึ้นเวทีทอล์กแผ่นดินของเราฯ เมื่อ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่พุ่งเป้าไปที่พรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’อดีตหัวหน้าพรรค และ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’เลขาธิการพรรค หลังเปิดภาพเงาปริศนาที่ก็รู้ว่าใคร ทิ้งท้ายด้วยวาทะ ‘ซ้ายจัดดัดจริต’ และ ‘ฮ่องเต้ซินโดรม’

หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ได้ไม่นาน

ก็มีการออกมาเปิดเผยว่า พล.อ.อภิรัชต์ เคยไปพบกับ ‘ธนาธร-ปิยบุตร’ โดยเป็นการพูดคุยแบบ ว.5 ซึ่งภายหลัง ‘ปิยบุตร’ ก็ออกมายอมรับว่ามีการพูดคุยกันจริง โดยย้ำว่าไม่ใช่การไปพูดคุยเพื่อดีลทางการเมืองหรือเรื่องผลประโยชน์อื่นใด แต่พูดคุยกันเรื่องปฏิรูปกองทัพ และแลกเปลี่ยนเรื่องปัญหา จ.ชายแดนภาคใต้ ซึ่งการพูดคุยไม่ได้มีข้อสรุปใดๆ แต่ผลสรุปของการคุยกลับกลายมาเป็นการตั้งเวทีทอล์กของทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ และ นายปิยบุตร ที่ตั้งเวทีตอบโต้คนละวันกัน

โดยงานนี้ ‘เสธ.โหน่ง’พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ตนเองเป็นผู้ประสานงาน แต่ไม่ได้ไปร่วมวงพูดคุย แต่การพูดคุยนี้เกิดขึ้นช่วงต้นเดือน ก.ย.62 หากเทียบไทม์ไลน์แล้ว ผ่านมา 1 เดือน จึงเกิดเวทีทอล์กของทั้ง 2 ฝั่งขึ้น ซึ่งเนื้อหาที่ พล.อ.อภิรัชต์ พูดบนเวทีฯ ก็มีเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับที่คุยกับ ‘ธนาธร-ปิยบุตร’ นั่นเอง

แต่สิ่งสำคัญสุดก็คือการคุย ว.5 ครั้งนั้น ถูกปิดเงียบมา 5-6 เดือน

ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ พล.อ.อภิรัชต์ เลือกที่จะนิ่งมาตลอด เพราะไม่ต้องการสุมไฟเข้ากองเพลิงหรือทำให้ไฟยิ่งลามทุ่ง

แต่สุดท้าย พล.อ.อภิรัชต์ ก็ไม่ได้พัก ตกเป็นเป้ารายสัปดาห์ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ จ.นครราชสีมา ปัญหาที่ถูกซุกใต้พรมมานานของ ทบ. ที่กำลังพลไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ‘โครงการบ้านพักสวัสดิการทหาร’ เป็นชนวนเหตุสำคัญในการก่อเหตุครั้งนั้น

ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ ต้องแถลงข่าวทั้งน้ำตา พร้อมเร่งฟื้นศรัทธา ทบ. ด้วยการประกาศรื้อขุมทรัพย์ ทบ. จัดการสวัสดิการ ทบ. ที่เป็นเงินนอกงบประมาณให้ชัดเจนและโปร่งใส รวมทั้งจัดระเบียบบ้านพักทหาร ให้ทหารเกษียณฯ ต้องย้ายออก แต่กลับมีข้อยกเว้นกับบุคคลที่ยังทำประโยชน์ให้กับประเทศ เช่น นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี , ส.ว. และองคมนตรี จึงทำให้เกิดกระแสวิจารณ์กลับมา พร้อมเปิดสายตรง ผบ.ทบ. เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากกำลังพลด้วย

ผ่านมาไม่ถึง 1 เดือน ทุกอย่างกำลังเดินไป แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ราชิต ลุมพินี โควิด 021980624878567424_n.jpg

พล.อ.อภิรัชต์ ยังคงเป็นตำบลกระสุนตกเช่นเดิม โดยชนวนเหตุครั้งนี้มาจาก ‘สนามมวยลุมพินี’ ที่อยู่ในการดูแลของ ทบ. โดยมี พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการ ทบ. เป็นนายสนามมวยเวทีลุมพินี และ พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ประธานอำนวยการสนามมวยเวทีลุมพินี ซึ่งสนามมวยแห่งถูกสังคมวิจารณ์ว่าเป็น Super Spreader หลังพบผู้เกี่ยวข้องกับสนามมวยติดเชื้อไวรัสโควิด-19หลายราย หนึ่งในนั้น คือ พล.ต.ราชิต นั่นเอง

เหตุจากสนามมวยลุมพินี ไม่เลื่อนการจัดแข่งขันชกมวยรายการใหญ่ ‘ลุมพินีแชมเปี้ยนเกริกไกร’ เมื่อ 6มี.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าคณะกรรมการกีฬามวย กกท.จะออกหนังสือขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดแข่งขัน ที่ออกเมื่อ 4 มี.ค. ตามมาตรการของ ครม. ที่ออกมาเมื่อวันที่ 3 มี.ค. ก็ตาม

ซึ่งสุดท้าย พล.อ.อภิรัชต์ ต้องดำเนินการขั้นต้นเพื่อไม่ให้ ทบ. ถูกวิจารณ์หนักไปกว่านี้ แต่งตั้ง พล.ท.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก พร้อมกับ ‘คณะกรรมการสอบสวน’ ขึ้นมา จากนั้นได้ออกคำสั่งให้ พล.ต.ราชิต เจ้ากรมสวัสดิการ ทบ. พร้อมทั้งผู้เกี่ยวข้องและผู้รับผิดชอบสนามมวยลุมพินี มาช่วยราชการที่ บก.กองทัพบก เพื่อเปิดให้คณะกรรมการฯเข้าสอบสวนข้อเท็จจริงต่างๆ

โดยว่ากันว่า พล.อ.อภิรัชต์ เครียดในเรื่องนี้ไม่น้อย และได้สั่งสอบสวนเหตุใดจึงต้องจัดและเหตุใดจึงเลื่อนไปไม่ได้ อีกทั้ง พล.ต.ราชิต เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.20-จปร.31 ของ พล.อ.อภิรัชต์ ด้วย จึงเป็นพูดกันใน ทบ. ถึงความเด็ดขาดของ พล.อ.อภิรัชต์ และการสั่งโยกครั้งนี้เป็นระดับเจ้ากรมด้วย จึงต้องจับตาอนาคตของ พล.ต.ราชิต ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลช่วง ก.ย.-ต.ค.นี้ด้วย

อภิรัชต์ ลุมพินี สนามมวย led.png

(พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานอำนวยการสนามมวยเวทีลุมพินี)

โดยล่าสุด (1 เม.ย. 2563) ทบ. มียอดผู้ติดเชื้อโควิดสะสม 11 ราย โดยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 9 ราย และกลับบ้านได้แล้ว 2 ราย ซึ่งเป็นกำลังพลในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด ส่วนที่ดูอาการอยู่ในโรงพยาบาลมี 15 ราย และส่วนที่เฝ้าสังเกตอาการโดยทำการกักตัวอยู่ที่บ้านพัก 14 วัน มีจำนวน 170 ราย

ซึ่งผู้ติดเชื้อรายโควิด-19 รายล่าสุดของ ทบ. คือ ร้อยเอกหญิง สังกัดกรมสารบรรณ ทบ. ซึ่งจากการสอบสวนโรคติดมาจากสามี ส่วน พล.อ.อภิรัชต์ ได้นำประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ทบ. โดยได้ย้ำว่า การสอบสวนโรคต้องเข้มงวด หากไม่พูดความจริง ก็จะไม่จบ ซึ่งกระบวนการสอบสวนโรคได้ใช้เจ้าหน้าที่จาก สธ. และ กรมแพทย์ ทบ. ทำงานร่วมกัน

อภิรัชต์ กองทัพ โควิด โคโรนา _7168195.jpg

แม้กระแสการเมืองจะเปลี่ยนทิศจากสนามมวยลุมพินี มาตีกองทัพเรื่องงบประมาณกลาโหมอีกครั้ง แต่ พล.อ.อภิรัชต์ ยังคงเก็บตัวเงียบทำงานใน ทบ. ไม่ได้พบสื่อมา 1 เดือนครึ่งแล้ว โดยซุ่มเงียบทำงานสนับสนุนรัฐบาล แก้ปัญหาโควิด-19 ในการเตรียม รพ.สนาม รองรับผู้ป่วย และเตรียม รพ.ค่ายทหาร ให้เป็น รพ.เฉพาะโรคด้วย อีกทั้งการออกมาตรการคุมเข้มในค่ายทหาร ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เพราะหากเกิดขึ้น ถือเป็นพื้นที่ที่ยากจะควบคุม

ในส่วนของกองทัพเรือ ก็โดนมรสุมโควิด-19 เล่นงาน แต่เป็นเรื่องการเมือง หลังมีเอกสารวาระเสนอที่ประชุม ครม. ถูกเผยแพร่ออกมา โดยมีเรื่องกระทรวงกลาโหมขออนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาเรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ ระยะที่ 1 จำนวน 1 ลำ ทำให้กองทัพเรือถูกวิจารณ์หนัก เหตุใดจึงมาจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในเวลาเช่นนี้ เกิดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ #กูสั่งให้มึงเลิกซื้ออาวุธ ขึ้นมาทันที

ทำให้กองทัพเรือต้องออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้มีการขออนุมัติจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบก เพราะโครงการดังกล่าว อนุมัติไปแล้วตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 และกองทัพเรือไทยได้ลงนามกับจีนเมื่อ ก.ย. 2562 ไปแล้ว

แต่สิ่งที่เสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารโครงการเพื่อ ‘ขอเบิกจ่าย’ ในการส่งกำลังพลไปต่างประเทศ เช่น การขออนุมัติการเดินทางไปราชการต่างประเทศของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ การเดินทางไปราชการของผู้ควบคุมงานและเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิกำลังพล ที่ต้องไปราชการในต่างประเทศ เป็นระยะเวลานานตลอดจนเสร็จสิ้นโครงการ เพราะการต่อเรือใช้ระยะเวลาหลายปี ซึ่งเรือเรือยกพลขึ้นบกดังกล่าวมีกำหนดส่งถึงไทยปี 2566 พร้อมกับเรือดำน้ำจีนลำแรกที่จะส่งมอบให้ ทร.ไทย เพราะเรือยกพลขึ้นบกลำดังกล่าว คือ เรือพี่เลี้ยงของเรือดำน้ำนั่นเอง

โดยสิ่งที่กระทรวงกลาโหมเตรียมเสนอ ครม. นั้น ใช้งบประมาณที่อนุมัติไปแล้วตั้งแต่งบปี 2562 ที่กองทัพเรือไทยใช้งบประมาณของตัวเองจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบกจากจีน 6,100 ล้านบาท เป็นงบอยู่ในแพ็กเกจเดียวกัน โดยเรียกว่า ‘งบบริหารโครงการ’ แต่สุดท้ายแล้ววาระดังกล่าวก็ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.

ทว่ายังไม่จบเท่านี้หลัง ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรียกร้องปลด  ‘บิ๊กลือ’พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. ออกจากตำแหน่ง หลังมีปรากฏการเผยแพร่เอกสารดังกล่าว โดยอ้างถึงความไม่เหมาะสม ที่ประชาชนกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

โดย ‘เสธ.บู’ พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสธ.ทร. ในฐานะ โฆษก ทร. ออกมาชี้แจงว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่ใช่เรื่องจะไปเรียกร้องให้ปลด ผบ.ทร.  ซึ่งเอกสารมีความชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่มีการเสนอวาระ และเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อขออนุญาตให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปต่างประเทศหลายวันจะต้องขออนุญาต ครม. เพราะเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินการตามห้วงเวลาตามสัญญาที่ได้ระบุไว้

ลือชัย กองทัพ 9107.jpg

งานนี้ว่ากันว่าเป็นแรง ‘คลื่นใต้น้ำ’ ภายในกองทัพเรือ ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในยุค พล.ร.อ.ลือชัย เป็น ผบ.ทร. และยิ่งมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 นับตั้งแต่เรื่องโครงการบ้านรับรอง ทร. ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 112 ล้านบาท

จากนั้นคือเรื่องบ้านพักบนเขา ที่ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ซึ่ง ทร. ชี้แจงว่าเป็น อาคารอเนกประสงค์ไว้รองรับ ผบ.ทร. นายทหารชั้นผู้ใหญ่ กำลังพล ที่มาปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงแขกของหน่วย และโครงการก่อสร้างซุ้มประตูทางเข้าออก หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

โดย พล.อ.ลือชัย ก็นิ่งเงียบไม่ตอบโต้ โดยให้หน่วยงานรับผิดชอบและโฆษก ทร. ชี้แจงแทนเป็นส่วนใหญ่ เพราะ พล.ร.อ.ลือชัย ก็เชื่อมั่นว่าทุกโครงการทำตามระเบียบและมีความโปร่งใส ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าข้อมูลที่เผยแพร่เหล่านี้ ได้ใช้เพจโซเชียลฯที่เป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลหรือกองทัพนำเสนอ เช่น เพจ CSI LA เป็นต้น ซึ่งทาง ทร. ก็ทราบกันดีว่าเป็นคนกลุ่มใดที่เป็น ‘คลื่นใต้น้ำ’ ที่เกิดขึ้นมา

โควิดสะกิด กองทัพสะเทือน !

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog