รายงานชิ้นล่าสุดจากธนาคารโลก ภายใต้ชื่อ "จับตาเศรษฐกิจไทย ผลิตภาพเพื่อความรุ่งเรือง" สะท้อนว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/2562 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากการส่งออกที่ลดลงและอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวเป็นหลัก
'ราฟ วาน ดอร์น' นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ชี้ว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2562 ที่ติดลบร้อยละ 6.1 และลงไปติดลบร้อยละ 7.9 ก่อนจะปรับตัวขึ้นมาเป็นร้อยละ 0 ในไตรมาสที่ 3
นอกจากนี้ เมื่อจำแนกตามประเทศที่ไทยส่งออกตัวเลขยังติดลบแทบทั้งหมดยกเว้นแค่สหรัฐฯ เท่านั้น ฝั่ง CLMV หรือ กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม ติดลบร้อยละ 8.4 ขณะที่ประเทศในอาเซียนที่ไม่นับรวม CLMV ติดลบร้อยละ 11.5 ตามมาด้วยสหภาพยุโรปและจีน ที่ติดลบอย่างละร้อยละ 7.7 และ 7.6 ตามลำดับ ด้านญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ติดลบเท่ากันที่ร้อยละ 2.5 ขณะที่สหรัฐฯ โตในอัตราร้อยละ 11.7
ฝั่งการบริโภคภาคเอกชนของไทยก็ตกลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.2 ในไตรมาสที่ 3/2562 จากที่อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ในไตรมาส 1/2562 สะท้อนความอ่อนแอที่ชัดเจน ภาพสะท้อนดังกล่าว มาจากดัชนีรายได้เกษตรกรที่ต่ำลงจากราคาสินค้าเกษตรและผลิตผลทางการเกษตรที่คงที่และมีแนวโน้มลดลงจากสถานการณ์ความแล้ง ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ตกลงมาต่ำกว่าร้อยละ 50 ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562
โชคดีท่องเที่ยวโต
อย่างไรก็ตาม 'ราฟ' ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยยังได้รับอานิสงค์ที่ดีจากภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวทะลุไปถึง 9.7 ล้านคน ในไตรมาส 3/2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดีย
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ธนาคารโลกมองไว้ที่ร้อยละ 2.5 ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวหลังเหตุการณ์สงครามการค้าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะที่คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของจีนไว้ที่ร้อยละ 5.9 และมองจีดีพีของไทยไว้ที่ร้อยละ 2.7 ในปี 2563 และร้อยละ 2.8 ในปี 2564 โดยให้น้ำหนักจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก
หลุดไม่พ้นรายได้ปานกลาง
'นครินทร์ อมเรศ' ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่า หากประเทศไทยยังไม่มีฐานการลงทุนเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีการเติบโตของผลิตภาพ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะต่ำกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งหมายความว่า ไทยจะยังเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงปี 2593 และไม่สามารถขยับขึ้นไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้
นายนครินทร์ ชี้ว่า หากไทยอยากจะหลุดพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แปลว่าจีดีพีจะต้องโตสูงกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ต่อเนื่องไปจนถึง 2568 ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2580 แต่การจะทำเช่นนั้นได้ ต้องมีการปฏิรูปและปรับปรุงการเติบโตของผลิตภาพการผลิตรวมและเพิ่มการลงทุนของประเทศ
ผู้ช่วย ผอ.ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.สรุปเงื่อนไขในการเพิ่มผลิตภาพของไทยว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการเปิดเสรีด้านการลงทุน เพิ่มการแข่งขันในตลาดภายในประเทศ และส่งเสริมทักษะแรงงานประกอบกับการวิจัยและพัฒนา
ขณะที่ 'เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา' นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย เสนอข้อแนะนำทางนโยบาย ให้รัฐบาลคงความต่อเนื่องในการลงทุนภาครัฐและโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership - PPP) ที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง
นอกจากนี้ เกียรติพงศ์ ยังสะท้อนความกังวลถึงภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบาง และแนะนำให้ภาครัฐเพิ่มความคุ้มครองทางสังคมให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เนื่องจากตัวเลขประชากรที่ยากจนของไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2 จากปี 2558 ที่อยู่ที่ร้อยละ 7.2 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 9.9 ในปี 2561