ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ' ลุยลงพื้นที่คลองสามวา เล็งออกแบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ชงตลาดกีบหมูเป็นโมเดลต้นแบบรวมช่างฝีมือแรงงาน 'จิรายุ-นฤนันมนต์' ยื่นหนังสือร้องแก้ปัญหาจราจร เผยอย่าสนใจแต่กรุงเทพฯ ชั้นใน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่แยกลำกระโดก เขตคลองสามวา เพื่อติดตามปัญหาการจราจรและปัญหาอื่นในพื้นที่เขตคลองสามวา ซึ่งผู้ว่าราชการกรุเทพมหานครได้ให้ความสนใจสอบถามสภาพความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ รวมถึงแรงงานที่มารอการจ้างงานบริเวณตลาดกีบหมู 

โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้พร้อมด้วย วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตคลองสามวา ไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา และพันธ์ศักดิ์ เจริญสุข ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา ได้ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูลด้วย

ชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้ได้มาเยี่ยมเขตคลองสามวา ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรหนาแน่นมาก แต่โครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ปรับให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่หนาแน่น จะเห็นได้ว่าปัญหารถติดไม่ได้มีแต่พื้นที่ชั้นใน ซึ่งในวันนี้ ส.ส. และ ส.ก. ในพื้นที่ได้นำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่มาร้องเรียนให้ทราบ ทั้งปัญหารถติดขัดที่ต่อเนื่องไปหลายแยก และได้มอบให้รองผู้ว่าฯ วิศณุ ดูภาพรวมการจราจรในพื้นที่ และการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานให้วางเป็นยุทธศาสตร์ในระยะยาว จำเป็นต้องมีสะพานข้ามแยกหรือไม่ ต้องปรับปรุงถนนหรือขยายถนนเส้นไหน 

ชัชชาติ กล่าวอีกว่า เขตหนองจอก และเขตมีนบุรีก็มีปัญหาเรื่องการเดินทางเช่นเดียวกัน นอกจากนี้พบว่าในพื้นที่มีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสีชมพูแต่รถสาธารณะที่จะนำไปสู่ระบบรถไฟฟ้ายังไม่เพียงพอ จนสุดท้ายประชาชนก็ต้องใช้รถส่วนตัว ขณะที่ในส่วนของงบประมาณลงมาไม่เยอะในขณะที่ประชากรมีจำนวนมากและพื้นที่กว้าง ต้องดูว่าจะปรับปรุงด้านต่าง ๆ อย่างไรทั้งในด้านสาธารณสุข การศึกษา ระบายน้ำ และการกำจัดขยะ คงต้องดูรายละเอียดให้มากขึ้น เพราะความต้องการของประชาชนก็ไม่แตกต่างจากกรุงเทพฯ ชั้นใน 

ชัชชาติ กล่าวอีกว่า ในส่วนของปัญหาการระบายน้ำเดือนที่ผ่านมาได้ลอกท่อไปแล้วกว่า 2,000 กิโลเมตร ในหลายพื้นที่ มีการลอกคลองสายหลักเช่นคลองลาดพร้าว มีการนำ Mobile Unit มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมทั้งประสานงานกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิดเพื่อระบายน้ำออกนอกพื้นที่ ที่ผ่านมาวางแผนได้ดี คงต้องดูในยุทธศาสตร์ระยะยาว แต่คิดว่าเรื่องน้ำท่วมตอนนี้เราไปได้ถูกทางแล้ว 

ขณะที่ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้มายื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาการจราจร และกล่าวว่า เป็นนิมิตหมายอันดีที่ผู้ว่าฯ กทม. ลงมาดูปัญหาของประชาชนในเขตคลองสามวา ซึ่งวันนี้ประชากรในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯพุ่งสูงขึ้นโดยพื้นที่เขตคลองสามวา ตั้งแต่ถนนรามอินทรา, คู้บอน, หทัยราษฎร์, นิมิตใหม่, เลียบคลองสอง, ประชาร่วมใจ และถนนปัญญารามอินทรามีประชาชนอยู่อาศัยกว่า 250,000 คน ไม่นับรวมประชากรแฝงอีกหลายหมื่นคน และมีหมู่บ้านจัดสรรขึ้นเป็นจำนวนมาก 

จิรายุ กล่าวว่า โดยทางกายภาพของพื้นที่กลับไม่มีบริการสาธารณะซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ใช้รถยนต์ส่วนตัว ทำให้ในแต่ละวันมีการจราจรติดขัดอย่างหนัก ยิ่งในช่วงโมงเร่งด่วนจะมีปัญหาอย่างมาก เนื่องจากในพื้นเขตคลองสามวามีแยกใหญ่ กว่า 5 แห่งแต่ไม่มี สะพานลอยข้ามแยกแม้แต่จุดเดียว

จิรายุ เสริมว่า นายจิรายุ กล่าวว่า ตนได้อภิปรายในรัฐสภาตั้งแต่ ปี 2562 มาจนถึงปัจจุบันมากกว่า 5 ครั้ง เรียกร้องให้ กทม. ดำเนินการแก้ไข แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ อาจเป็นเพราะ ส.ก.ก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช.เลยไม่ค่อยใกล้ชิดกับประชาชนแถมผู้ว่า กทม.ก็มาจาก ม.44 ของ คสช. กทม.เลยเสียโอกาสไปกว่า5 ปี ขณะที่กรุงเทพฯชั้นใน ที่มีประชากรน้อยแค่หลักหมื่น กลับได้รับการแก้ไขปัญหาทั้งทำอุโมงค์ข้ามแยกสะพานข้ามแยก ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อคนกรุงเทพฯ คลองสามวากว่า 3 แสนคนที่เสียภาษีให้รัฐบาล และ กทม.เหมือนกัน

ด้าน นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตคลองสามวา กล่าวว่า ในพื้นที่มีสภาพปัญหาที่หมักหมม มานานทั้งในหลักการจัดสรรงบประมาณที่กลับใช้วิธีหารเท่ากันทุกเขต 50 เขต ทั้งๆ ที่เขตชั้นในมีพื้นที่เล็กประชากรน้อยแค่ 3-4 หมื่น แต่กลับได้งบประมาณใกล้เคียงกับเขตที่มีประชากรกว่า 2.5 แสน นอกจากนี้การออกแบบถนนการวางแผนแก้ไขปัญหาเพื่อรองรับ ประชากรที่เพิ่มขึ้น ก็ทำอย่างไม่เป็นรูปธรรม

ด้วยเหตุนี้จึงขอเสนอให้ผู้ว่าราชการได้พิจารณาดังนี้

1.) ถนนหทัยราษฎร์มี เพียง 2 เลน การจราจรหนาแน่น แต่กลับมีเกาะกลางถนนใหญ่เกินความจำเป็น ทำให้รถจอดข้างทางเพียง 1 คันก็จะเสียเลนในการสัญจรไป-มา โดยมีข้อเสนอแนะให้ลดขนาดเกาะกลางถนนและเพิ่มเลนถนน อีกทั้งจัดทำสะพานข้ามแยกบริเวณแยกหทัยมิตร เนื่องจากสี่แยกเป็นมุมทแยงทำให้รถติดขัดสะสม ก็จะลดปริมาณการติดขัดจาก 6 แยกจะเหลือเพียง 3 แยกเท่านั้น

2.) บริเวณห้าแยกลำกะโหลก ซึ่งผู้ว่าราชการเคยมาดูสภาพการจราจร เนื่องจากมีหมู่บ้านภายในซอยเป็นจำนวนมาก ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก โดยมีข้อเสนอแนะ และ แนวทางแก้ไข : จัดทำสะพานเหล็กข้ามแยกบนถนนพระยาสุเรนทร์ข้ามแยกลำกะโหลกเพิ่งจะลดการจราจรจากห้าแยกเหลือเพียงสามแยกได้

3.) ขยายถนนพระยาสุเรนทร์ช่วงแยกตัดคู้บอนมุ่งหน้าวัดพยาสุเรนทร์ ซึ่งเป็นเลนสวนมาตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการขยายถนน ทั้งๆที่เป็นทางระบายรถไปเชื่อมต่อกับวงแหวนกาญจนาภิเษก ซึ่งสามารถไปขึ้นทางด่วนรามอินทราอาจณรงค์ได้

4.) บริเวณถนนนิมิตใหม่รถจำนวนมาก จากลำลูกกา มุ่งหน้ามีนบุรี บริเวณสามแยกนิมิตใหม่ตัดหทัยมิตรและสามแยกถนนสุดใจ ซึ่งเป็นสี่แยกที่มีความทแยง ทำให้รถติดสะสม หากมีทางสะพานข้ามแยกดังกล่าวก็จะทำให้การจราจรคล่องตัวในทุกช่วงเวลา ซึ่งทั้งหมดนี้ ตนและ ส.ส. พื้นที่ จะนำเสนอในที่ประชุม รัฐสภา และ สภา กทม. อีกครั้งเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง