นายกิตติรัตน์ ณระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และคณะทำงาน ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร รับฟังปัญหาจากเกษตรกร ชาวสวนปาล์มรวมถึงนักวิจัย ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากราคาปาล์มตกต่ำ พร้อมกับฟังข้อเสนอถึงแนวทางการแก้ไข
ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนปาล์ม สะท้อนว่าปัจจุบัน ขายปาล์มดิบขาดทุนกิโลกรัมละประมาณ 2 บาท ซึ่งหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหา อย่างมีประสิทธิภาพคือการพัฒนา น้ำมันไบโอดีเซล B-100 ที่จะช่วยลดต้นทุน และส่งเสริมการใช้ปาล์ม ของเกษตรกร
แต่ปัจจุบันยังมีอุปสรรคเช่นเรื่องการจ้างผลิตปาล์มดิบ มาเป็นไบโอดีเซล B-100 ขณะเดียวกัน ต้องการให้ผู้มีอำนาจ แก้ระเบียบปฏิบัติ ที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการ พัฒนาไบโอดีเซลB-100ให้สามารถเปิดตลาดได้กว้างขึ้น นอกจากนี้เกษตรยังเสนอให้ใช้ ปาล์มน้ำมัน ในโรงงานผลิตไฟ้ฟ้า ซึ่งจะทำให้ ปาล์มดิบในตลาดเพิ่มกว้างขึ้น และภาพรวมทั้งประเทศจะเกิดความสมดุล มากขึ้น
หลังการรับฟัง ข้อเสนอนายกิตติรัตน์เชื่อว่า การแก้ไขปัญหา ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ สามารถดำเนินการได้ทันที โดยเฉพาะ การผลักดัน น้ำมันไบโอดีเซล B-100 จึงอยากให้ข้อคิดเห็นเหล่านี้ไปถึงทุกพรรคการเมือง รวมถึงพรรคการเมืองที่มีส.ส.เขตในภาคใต้ และหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะนำเรื่องนี้ไปปฏิบัติทันที แต่หากเป็นฝ่ายค้านจะนำไปสู่การอภิปราย เพื่อให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า จากการวิจัยและทดสอบ ประสิทธิภาพ ของน้ำมันไบโอดีเซล B-100 ไม่เกิดผลกระทบกับเครื่องยนต์ ขณะเดียวกันเห็นว่าภาคธุรกิจ ยังยึดติดกับแนวทางการทำธุรกิจแบบเดิมๆ การขยายตลาดให้กว้างขึ้น จึงยังมีอุปสรรค ดังนั้นภาครัฐจะต้องจริงใจต่อการแก้ไขปัญหา นายกิตติรัตน์ระบุด้วยว่า ในการหาเสียงบางพรรคการเมือง ประกาศชัดว่า จะทำให้ราคาสิ้นค้าเกษตร โดยเฉพาะปาล์ม มีราคาเท่าใด ทำได้ทัน แต่เหตุใด จนถึงขณะนี้ จึงไม่ดำเนินการ แม้จะผ่านมาหลายเดือนแล้ว และพรรคการเมืองนั้น ก็เป็นพรรคที่มีนายกรัฐมนตรีสังกัดอยู่
ขณะที่ตัวแทนนักวิจัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังรณรงค์ให้ใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ B-100 ซึ่งปัจจุบันมีรถยนต์ ใช้ไปแล้วกว่าหมื่นคัน พร้อมยืนยันว่าไบโอดีเซล B-100 ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ ซึ่งแตกต่างจากในอดีต โดยเฉพาะในแง่ของสมรรถนะ และไม่เกิดผลเสียต่อเครื่องยนต์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในต่างประเทศเริ่มนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย