ไม่พบผลการค้นหา
'สว.เสรี' เผยวุฒิสภาตั้งคณะทำงาน รวมประเด็นพร้อมอภิปรายทั่วไปรัฐบาล หวังกรอบเวลา 2 วัน ภายใน ก.พ. แง้มชื่อ 'สมชาย-คำนูณ-ถวิล' ร่วมอภิปรายด้วย แต่รับอาจไม่ดุเดือดเท่าซักฟอกฝั่ง สส.

วันที่ 29 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา เสรี สุวรรณภานนท์ สว. ในฐานะผู้ยื่นเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญ เปิดเผยความคืบหน้าของการเตรียมอภิปราย ว่า ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมวิปวุฒิสภาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อดำเนินการประสานงานกับสมาชิกวุฒิสภาที่จะอภิปรายในญัตติดังกล่าว โดยมี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นหัวหน้าคณะ และมี ตน และ สมชาย แสวงการ สว. เพื่อรวบรวมประเด็นที่สมาชิกจะอภิปรายและได้จัดทำแบบสอบถามเพื่อความชัดเจน ให้เห็นประเด็นของแต่ละคน และจัดอันดับกำหนดเวลาให้สามารถ ทำงานได้โดยสะดวก

ทั้งนี้ ทางวุฒิสภาเสนอแนวทางระยะเวลาการอภิปราย 2 วัน ถ้าเป็นไปได้ จะเริ่มอภิปรายภายในเดือน ก.พ. นี้ อยู่ที่รัฐบาลจะมีความพร้อมหรือไม่ อยู่ที่สะดวก และความสุจริตใจของรัฐบาลในการทำหน้าที่นี้ เพราะระยะเวลาที่วุฒิสภาชุดนี้จะครบ สมัยประชุมคือวันที่ 9 เม.ย. เจตจำนงเราไม่อยากให้ชักช้า ต้องการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. หรือ มี.ค. นี้

ส่วนความเห็นของประชาชนจากนิด้าโพล ที่เห็นว่าควรล้มเลิกโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น เสรี ระบุว่า เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกัน เรื่องการแจกเงินเป็นเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งประชาชนก็อยากให้แค่ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่เป็นภาระต่อประเทศ แต่รัฐบาลเองยังยืนยันที่จะทำอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันในสภา

สำหรับกรณีคนในรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับทรัพย์อธิบดีกรมการข้าวนั้น เสรี ระบุว่า มีอยู่ในประเด็นหัวข้อเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งความจริงมีหลายเรื่อง ทั้งเรื่อง หมูเถื่อน ไก่เถื่อน ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในหลายภาคส่วน แม้กระทั่งเรื่องการท่องเที่ยวที่เราเสนอ ก็เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด ก็ต้องนำเรื่องเหล่านี้มาพูดกันเพราะไม่ใช่เพียงแค่นี้ เรื่องเรียกทรัพย์สินบนเกิดขึ้นตลอด แม้กระทั่งในช่วงที่ประชาชนได้สัมผัสกับหน่วยงานราชการ ที่ให้บริการประชาชน ถูกบีบบังคับรีดเงินให้ประชาชนยอมจ่าย โดยใช้วิธีการที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เรียนเองแต่ใช้อำนาจหน้าที่

ส่วนจำนวนผู้ที่ลงชื่ออภิปราย มีสมาชิกมาแสดงความจำนงหลายท่าน แต่เราต้องการความชัดเจนเรื่องประเด็นและเวลา จึงต้องทำแบบสอบถามเพื่อแสดงความจำนงเป็นหลักฐาน ส่วนคนอภิปรายก็จะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เช่น ถวิล เปลี่ยนศรี, สมชาย แสวงการ, คำนูณ สิทธิสมาน, นพ.ทวีวงษ์ จุลกมนตรี, กำพล เลิศเกียรติดำรง เป็นต้น

เสรี ยังกล่าวถึงความแตกต่างของการอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรว่า สภาผู้แทนราษฎรจะมีแนวทางที่เข้มข้น และให้เห็นว่ารัฐบาลทำงานล้มเหลวอย่างไร ส่วนทาง สว. จะเป็นการนำเสนอประเด็นปัญหาเพื่อให้รัฐบาลนำไปแก้ไขบริหารประเทศ ความเข้มข้นดุเดือดจึงจะไม่เหมือนกับฝั่งสภาผู้แทนราษฎร เราจะพูดในเหตุผล เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและพี่น้องประชาชนเป็นหลัก

ขณะที่ในวันอภิปราย มองว่า นายกรัฐมนตรีควรเดินทางมาชี้แจงด้วยตนเองหรือไม่ เสรี กล่าวว่า ด้วยเหตุผลและสภาพปัญหา นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล เรากำลังอภิปรายพูดกับรัฐบาล ถ้าหัวหน้าไม่มา ก็อาจจะทำให้ความชัดเจนของเนื้อหาที่จะตอบไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ดีที่สุดคือ หวังว่านายกรัฐมนตรีจะมาชี้แจงแถลงต่อวุฒิสภาด้วยตนเอง แล้วจะมีคณะรัฐมนตรีมากี่ท่านก็สุดแท้แต่

เมื่อถามถึงรายชื่อของ สว. ที่ร่วมยื่นญัตติอภิปราย เสรี กล่าวว่า ไม่ทราบว่าสื่อรายงานว่าอย่างไร แต่โดยเบื้องต้นเท่าที่ทราบ ยังไม่มี สว. รายใดถอนรายชื่อออก