ไม่พบผลการค้นหา
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พูดคุยกับไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ 'อ่านกฎหมาย' ว่าด้วยคดี 'ละเมิดอำนาจศาล' ที่ศาลพิพากษาจำคุกเบนจา อะปัญ 6 เดือน โดยวรเจตน์เห็นว่า มีการอ้างถึงการฝ่าฝืน 'ข้อกำหนดศาลอาญา' ที่ออกโดยอธิบดี และลงโทษละเมิดอำนาจศาลตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งมุ่งหมายให้อำนาจนั้นเฉพาะผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีเท่านั้น

ตั้งแต่กลางปีที่แล้วจนถึงปลายปี 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองโดนคดี 'ละเมิดอำนาจศาล' แล้วอย่างน้อย 26 คน

ที่สั่นสะเทือนที่สุดเห็นจะเป็นคดีของ เบนจา อะปัญ นักศึกษาปี 1 วิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ มธ. เพราะศาลลงโทษเธอเต็มเพดานกฎหมาย - จำคุก 6 เดือน จากกรณีที่เธอพร้อมประชาชนราว 300 คนชุมนุมตรงบันไดศาลอาญา ปราศรัย-โปรยใบปลิววิจารณ์ศาลที่ไม่ให้ประกันเพนกวินเพื่อนของเธอในวันที่เขาอดข้าวประท้วงในเรือนจำมานาน 44 วันจนร่างกายย่อยกระเพาะอาหารขับถ่ายมาเป็นชิ้นเนื้อ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 เม.ย.2564

เมื่อการเพดานการชุมนุมถูกยกขึ้นสูง การดำเนินคดีเพื่อกดปราบก็มีจำนวนมาก และการขังระหว่างสู้คดี ไม่ให้ประกันตัวก็กลายเป็นมาตรฐาน การประท้วงศาลตรงๆ จึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เนื้อหารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ผ่านมาศาลก็ไม่เคยลงโทษเต็มที่ชนิดจำคุกถึง 6 เดือน เนื่องจากกฎหมายเปิดช่องให้ดุลพินิจศาลโดยกำหนดโทษ "จำคุกไม่เกิน 6 เดือน" และมีโทษสถานอื่น

แม้แต่กรณีเพนกวินปฏิบัติการในห้องพิจารณาคดี ยืนอ่านแถลงการณ์ทั้งที่ศาลทักท้วง เหตุการณ์อลหม่านจนศาลต้องยุติการพิจารณา เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2564 ครั้งนั้นศาลก็ลงโทษเพนกวินฐานละเมิดอำนาจศาล ให้เพียงจำคุก 10 วัน และเมื่อเห็นว่ายังเด็กและไม่เคยทำความผิดก็ให้ ‘กักขัง’ แทน ‘จำคุก’ ด้วยซ้ำ ชั่วแต่ว่าเพนกวินถูกขังคุกอยู่ในคดีใหญ่กว่าอยู่แล้ว นั่นคือ 112

ข้อหา 'ละเมิดอำนาจศาล' ไม่นับเป็นคดีอาญา ไม่เหมือนข้อหา 'หมิ่นศาล' ที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายอาญามาตรา 198 และมีโทษจำคุกสูง 1-7 ปี หรือปรับ 20,000-140,000 บาท ในที่นี้จะละไว้ไม่กล่าวถึง ขณะที่ข้อหาละเมิดอำนาจศาล เป็นการใช้กฎหมายที่อยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (วิ.แพ่ง) มาตรา 30-33 ใช้กับการประพฤติตัวไม่เรียบร้อย ไม่ฟังคำสั่งศาล ยื้ดเวลาพิจารณา ซึ่งหากฝ่าฝืนไม่ฟังคำสั่งศาล ศาลจะดำเนินการได้ 2 อย่างคือ 1. ไล่ออกจากบริเวณศาล 2.ลงโทษปรับไม่เกิน 500 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

กระนั้นก็ตาม เรื่องไม่ได้จบง่ายๆ ตรงที่ว่าศาลสั่งอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องมีการตรวจสอบ กรณีของเบนจายังมีปัญหาข้อกฎหมายที่เป็นประเด็นใหญ่มากให้ถกเถียงว่า ศาล 'อ้างข้อกำหนด' ที่ออกใหม่หลังปฏิบัติการของเพนกวิน เพื่อลงโทษการแสดงออกนอกห้องพิจารณาคดีเช่นนี้ได้หรือไม่

ในมุมมอง 'วรเจตน์ ภาคีรัตน์' จากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เห็นว่า "ไม่ได้" และอยากให้ผู้คนในแวดวงกฎหมายมาถกเถียงกัน เขาทักท้วงเพราะเห็นเป็นหลักการใหญ่แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้แล้ว แต่อย่างน้อยทนายความอาจใช้เป็นแนวทางในการยื่นอุทธรณ์ หรือประชาชนอาจใช้ช่องทางอัน 'ริบหรี่' เช่น ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อกำหนดที่ลงโทษแบบนี้ถูกต้องหรือไม่

ประเด็นหลักของวรเจตน์ คือในคำพิพากษาลงโทษเบนจา ศาลอ้างถึง 'ข้อกำหนด' ของศาลอาญา ซึ่งออกโดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาในช่วงม็อบพีคๆ มีอยู่ 6 ข้อ ซึ่งเป็น 'ข้อกำหนดทั่วไป' โดยฝ่ายบริหารศาล แต่เมื่อจะลงโทษจำเลยก็นำไปพ่วงกับ วิ.แพ่ง ซึ่งให้อำนาจของผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีนั้นๆ มีขอบเขตเฉพาะและเป็นคนละส่วนกัน วรเจตน์เห็นว่า การจะสั่งจำคุกใครขนาดนี้โดยใช้ฐานอำนาจจาก "กฎเกณฑ์ทั่วไป" ที่ฝ่ายบริหารศาลออกนั้นกระทำไม่ได้ เพราะเท่ากับอธิบดีทำหน้าที่ 'นิติบัญญัติ' ออกกฎหมายที่มีบทลงโทษใช้ได้เอง ใช่หรือไม่

ในรายละเอียดคดี

ในคำพิพากษาคดีเบนจา ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ว่าใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการเรียกร้องให้ศาลอนุญาตให้ประกันตัวเพื่อนๆ เช่นเดียวกับคดีอื่นๆ ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญก็บัญญัติเช่นกันว่า สิทธิและเสรีภาพต้องถูกจำกัดโดยกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ คุ้มครองเสรีภาพของบุคคลอื่น ฯลฯ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังบัญญัติถึง 'หน้าที่ของปวงชนชาวไทย' ว่าบุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เคารพและไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม ผู้ถูกกล่าวหาจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ควบคู่การใช้เสรีภาพด้วย

ที่สำคัญ ศาลระบุความผิดว่าเบนจาได้ฝ่าฝืน 2 ใน 6 ข้อกำหนดว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยของศาลอาญา ที่อธิบดีเป็นผู้กำหนด

"ข้อกำหนดศาลอาญาฯ ข้อ 1) กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดประพฤติตน ใช้คำพูดหรือกริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรำคาญ ส่งเสียงดัง หรือในทางประวิงให้การดำเนินกระบวนพิจารณาชักช้า หรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร หรือกระทำในลักษณะที่เป็นการยั่วยุ จูงใจ สนับสนุนใดๆ ในการกระทำดังกล่าวในห้องพิจารณา หรือภายในบริเวณศาล รวมถึงการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกัน ข้อ 6) ห้ามมิให้นำหรือใช้โทรโข่ง ไมโครโฟน เครื่องขยายเสียง รวมถึงอุปกรณ์ขยายเสียงต่างๆ หรือการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกัน ภายในศาลอาญาหรือบริเวณรอบศาลอาญา เว้นแต่ได้รับอนุญาต ตามข้อกำหนดศาลอาญาฯ เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนได้ความว่า ผู้พถูกกล่าวหากับพวกประมาณ 300 คน ได้พากันเข้ามาบริเวณศาลแล้วกล่าวถ้อยคำโดยใช้อุปกรณ์ขยายเสียง รวมถึงตะโกนและวิ่งโปรยกระดาษอันมีลักษณะส่งเสียงดัง ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรำคาญ อีกทั้งถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวและอ่านบทกลอนก็มีเนื้อหาที่ประณาม ใส่ร้ายและดูหมิ่นต่อการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการอันมีลักษณะก่อให้เกิดความแตกแยกเกลียดชังในสังคม การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 50(3),(6) และเป็นการละเมิดข้อกำหนดศาลอาญาข้อ 1) และข้อ 6) อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล"

"จึงมีคำสั่งว่า นางสาวเบนจา อะปัญ ผู้ถูกกล่าวหา มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31(1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15,180 ให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหา มีกำหนด 6 เดือน แม้ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับข้อเท็จจริงว่าได้กระทำการตามคำกล่าวหาก็ตาม แต่กลับต่อสู้ว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิด อันเป็นการแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้สำนึกถึงการกระทำ ประกอบกับคำรับของผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นไปในทางจำนนต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัด คำรับข้อเท็จจริงของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาอันจะเป็นเหตุบรรเทาโทษได้" คำพิพากษาระบุ

ข้อกำหนดศาลอาญา

วรเจตน์ให้ความเห็นว่า  

ปกติคดีละเมิดศาล ไม่เคยได้ยินว่าศาลลงโทษหนักขนาดนี้ จำคุก 6 เดือน ตอนอ่านข่าวนักข่าวสรุปว่า มีการละเมิดข้อกำหนดของศาลอาญา ทำให้เกิดสงสัยว่าการละเมิดข้อกำหนดของศาลอาญา จะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้อย่างไร จึงเปิดดูข้อกำหนดศาลอาญา

ประเด็นที่แปลกใจมากๆ และคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นปัญหาอย่างมากคือ อธิบดีศาลอาญามีอำนาจออกข้อกำหนดที่ใช้เป็นฐานในการลงโทษคุณเบนจาในกรณีนี้หรือเปล่า เวลาเห็นข้อกำหนดคำถามแรกคือ ข้อกำหนดแบบนี้อาศัย 'ฐานอำนาจ' แบบไหน เท่าที่อ่านข้อกำหนดทั้งหมด มีความเห็นว่า อธิบดีศาลอาญาไม่มีอำนาจในการออกข้อกำหนดในลักษณะดังกล่าวใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่สามารถใช้เป็นฐานในการลงโทษได้

ขอเริ่มต้นจากความผิดฐาน 'ละเมิดอำนาจศาล' ก่อนว่ามันถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 30 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่า ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือต่อบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณและให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปอย่างเที่ยงธรรมและรวดเร็ว อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงการสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญ ในทางประวิงให้ชักช้า หรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร

มาตรา 31 ระบุว่า ผู้ใดกระทำการดังกล่าวต่อไปนี้ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล 1.ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

อยากให้ลองดูบทบัญญัติมาตรา 30 ชัดๆ ช้าๆ ‘ศาลสามารถออกข้อกำหนดใดๆ แก่ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล’ คำว่า ศาล ตรงนี้หมายถึงอะไร ในมาตรา 1 มีการนิยามคำว่า ศาล หมายความว่า ศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ดังนั้น วิ.แพ่ง มาตรา 30 เขามีไว้ให้ผู้พิพากษาที่ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเป็นคนใช้

ตัวอย่างที่ยกกันในทางตำรา เช่น หลวงจำรูญเนติศาสตร์ เขียนอธิบาย วิ.แพ่งไว้ว่า ศาลจะออกข้อกำหนดใดๆ ก็ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร ตราบใดที่ข้อกำหนดนั้นออกโดยมีความมุ่งหมายดังระบุเอาไว้ โดยศาลจะออกโดยวาจาก็ได้ แต่มาตรา 48 บังคับว่าในคดีทุกเรื่องให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะจดแจ้งรายงานการนั่งพิจารณา เพราะฉะนั้นเมื่อศาลสั่งในคดีใด ก็ต้องบันทึกไว้ในรายงานการพิจารณาด้วย

ยกตัวอย่างเช่น นายดำ-โจทก์ นายแดง-จำเลย นายแดงถามพยานของนายแดงโดยนานๆ จะถามสักคำถามหนึ่ง ถามนอกเรื่องราวประการต่างๆ แสดงให้เห็นว่านายแดงต้องการประวิงคดี ศาลก็จะต้องสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติเช่นนั้นอีก ไม่ให้ถามประวิงคดีแบบนี้ ถ้ามีการฝ่าฝืนจะถือว่านายแดงละเมิดอำนาจศาลและจะถูกลงโทษ เพราะฉะนั้น การใช้ละเมิดอำนาจศาล คนที่มีอำนาจในการสั่งคือ ผู้พิพากษาที่ดำเนินกระบวนพิจารณา เพราะความผิดละเมิดอำนาจศาลมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศาลมีอำนาจในห้องพิจารณา ให้การพิจารณานั้นดำเนินไปโดยต่อเนื่อง ไม่เกิดความวุ่นวายในการพิจารณาคดี

อีกกรณีหนึ่งคือ ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นตัวบทที่เขียนไว้กว้างๆ ให้ศาลพิจารณา

กรณีของคุณเบนจา อยู่ตรงที่ว่าคุณเบนจาถูกลงโทษเพราะว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนด ซึ่งข้อกำหนดที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี ข้อกำหนดดังกล่าวที่ใช้เป็นฐานการลงโทษเกิดจากการสั่งการของอธิบดีศาลอาญา ออกเมื่อ 17 มี.ค.2564 ที่อยากให้สังเกตคือ ตอนต้นของข้อกำหนดมีการเขียนว่า เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในบริเวณศาลอาญา และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปด้วยความเที่ยงธรรมและรวดเร็ว รวมถึงมิให้คู่ความดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญ หรือในทางประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15....

เราจะเห็นว่า อธิบดีอาศัยฐานของอำนาจจาก วิ.แพ่ง มาตรา 30 ส่วน วิ.อาญามาตรา 15 ไม่มีอะไรมากเพียงบอกว่าหากเรื่องใดไม่มีบัญญัติไว้ก็ให้อาศัยวิ.แพ่งโดยอนุโลม เพื่อออกข้อกำหนด 6 ข้อ ซึ่งไม่ได้ห้ามคู่ความ แต่เป็นการห้าม "ผู้ใด" และห้ามทั้งในห้องพิจารณาคดี ภายในศาลอาญา หรือบริเวณรอบศาลอาญา

นี่เป็นข้อกำหนดฉบับที่ 2 ฉบับแรกออกปี 2563 โดยปกติไม่เคยเห็นข้อกำหนดแบบนี้

ประเด็นคือ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อธิบดีออกข้อกำหนดเป็นการทั่วไป ตอนท้ายของข้อกำหนด 6 ข้อบอกด้วยว่า ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ผลคือเท่ากับ อธิบดีศาลอาญาอาศัยอำนาจตามมาตรา 30 ของวิ.แพ่ง ออกกฎเกณฑ์ซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปเสมือนหนึ่งว่าเป็นกฎหมาย ไม่ได้ใช้เฉพาะคู่ความในคดีแล้ว และกำหนดกฎเกณฑ์หลายอย่างที่เห็นได้ชัดว่าใช้กับบุคคลทั่วไปที่มาศาล คำถามคือ ผู้บริหารศาลสามารถอ้าง วิ.แพ่งมาตรา 30 ออกข้อกำหนดแบบนี้ได้ไหม คำตอบก็คือ ไม่ได้ เพราะนี่เป็นการออกกฎเกณฑ์ที่ใช้เป็นการทั่วไป

ที่น่าประหลาดใจก็คือ นอกจากศาลอาญาจะออกข้อกำหนดแบบนี้ ยังมีศาลอื่นออกข้อกำหนดคล้ายๆ กันตามมาอ้างอำนาจจากมาตรา 30 วิ.แพ่งเหมือนกัน ก็คือ ศาลอาญาคดีทุจริตภาค 1 ลักษณะการเขียนคล้ายกันเลย ใช้บังคับเป็นการทั่วไป และการฝ่าฝืนก็มีโทษทางอาญาด้วย

ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาเรื่องฐานแห่งอำนาจ อธิบดีผู้บริหารศาล อาจมีอำนาจในการรักษาความเรียบร้อยในเขตศาลซึ่งเป็นอาคารสถานที่ เหมือนสถานที่ราชการต่างๆ ที่ออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ แต่เรื่องนี้มันคนละเรื่องกับฐานเรื่องละเมิดอำนาจศาลตามวิ.แพ่งมาตรา 30 อธิบดีจะไปใช้อำนาจออกกฎเกณฑ์ใช้บังคับเป็นการทั่วไปแล้วบอกว่าคนที่ฝ่าฝืนเท่ากับละเมิดอำนาจศาลนั้นไม่ได้ ถ้าจะออกกฎเกณฑ์ทั่วไปแบบนี้และมีโทษอาญา สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องไปขออำนาจจากรัฐสภา ต้องขออำนาจจากผู้แทนปวงชนว่า ศาลต้องการอำนาจแบบนี้ แล้วให้ผู้แทนปวงชนพิจารณาว่าจะให้อำนาจแบบนี้หรือไม่

ถ้าเราดูคดีของคุณเบนจา จะเห็นได้ว่า ผู้พิพากษาสองท่านที่เป็นองค์คณะในการตัดสินคดีละเมิดอำนาจศาลจะพูดถึง วิ.แพ่งมาตรา 30 พูดถึงการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล แต่ฐานที่ใช้ในการลงโทษจริงๆ มาจากข้อกำหนดของอธิบดีศาลอาญาว่าฝ่าฝืนข้อ 1 และข้อ 6 แล้วใช้อันนี้ในการลงโทษ แล้วการลงโทษก็ลงโทษเต็มตามวิ.แพ่ง สูงสุด 6 เดือน เขาใช้การละเมิดข้อกำหนดของอธิบดีเป็นฐาน แทนที่จะเป็นการละเมิดคำสั่งของผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีเป็นฐานซึ่งเขามีอำนาจสั่งตามวิ.แพ่งมาตรา 30

คนในวงการกฎหมายลองไปอ่าน วิ.แพ่งมาตรา 30 ดูว่า มุ่งหมายให้ผู้พิพากษาในห้องพิจารณาคดีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้ ไม่ได้มุ่งหมายให้ผู้บริหารศาลใช้อำนาจนี้ เพราะถ้ามุ่งหมายแบบนั้นก็ต้องเขียนว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจอธิบดีศาลอาญา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลฎีกา หรืออะไรพวกนี้ มีอำนาจในการออกข้อกำหนดเกี่ยวกับความรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในบริเวณศาล ก็ต้องเขียนแยกออกไปต่างหาก และอาจกำหนดกฎเกณฑ์เป็นการทั่วไป

ผลของมันคืออะไร ผลก็คือ ข้อกำหนดของอธิบดีศาลอาญามันเป็นข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่ใช้เป็นการทั่วไป เป็นลักษณะการออกกฎหมายด้วยตัวของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเอง ซึ่งมาตรา 30 วิ.แพ่งไม่ได้ให้อำนาจเอาไว้

หลายคนสงสัยว่า ให้หรือไม่ให้อำนาจ แต่ใช้ไปแล้วในทางเป็นจริง ใช้ในการลงโทษไปแล้ว แม้จะใช้ไปแล้วในทางความเป็นจริง แต่ยังไม่มีใครทักท้วงเรื่องนี้ จึงอยากให้นักเรียนกฎหมาย ทนายความ ผู้พิพากษาตุลาการได้ทบทวน วิ.แพ่งมาตรา 30 ว่าเขากำหนดให้เป็นอำนาจของใคร เป็นของผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

ตอนนี้มีศาลอาญา และศาลอาญาคดีทุจริตที่ออกข้อกำหนดแบบนี้ ผมไม่แน่ใจศาลอื่นจะออกข้อกำหนดแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือไม่ และขอบเขตในการบัญญัติก็แล้วแต่ตัวหัวหน้าศาลที่จะออกมากระนั้นหรือ แล้วใช้บังคับนานแค่ไหน อย่างไร เป็นฐานให้ผู้พิพากษานำมาตัดสินคดีได้จริงหรือไม่ แม้จะมีการใช้จริงแล้ว แต่เราอย่าเพิ่งแน่ใจว่าการปรับใช้กฎหมายแบบนี้จะถูกต้องเสมอไป อาจต้องมีการอุทธรณ์โต้แย้งต่อไป

โดยปกติหากเทียบกับกฎหมายมหาชน หากมีตัวกฎหมายแม่บท เช่น พระราชบัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรี ให้อำนาจอธิบดีออกกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ถ้าอธิบดีออกกฎโดยไม่มีอำนาจ หรืออ้างฐานอำนาจผิด หรือออกฎเกณฑ์ขยายอำนาจตัวเองออกไป กฎเกณฑ์แบบนี้สามารถถูกท้าทายหรือโต้แย้งได้ที่ศาลปกครอง แต่กรณีการออกข้อกำหนดศาลอาญา แม้อธิบดีศาลอาญาจะเป็นผู้บริหารแต่ก็เป็นผู้พิพากษาด้วยในเวลาเดียวกัน จริงๆ แล้วสถานะควรไม่ต่างกับอธิบดีในฝ่ายบริหาร รัฐมนตรี ปลัดกระทรวงต่างๆ แต่ในระบบของเราจะถือว่างานของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามันเกี่ยวพันกับกระบวนการทางตุลาการ มันเคยมีกรณีกฎหมายเปิดช่องให้ศาลออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ มีคนเห็นว่าไม่ถูกต้องเอาไปฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองก็ไม่รับพิจารณาโดยอ้างว่า เป็นการใช้อำนาจที่เกี่ยวเนื่องกับอำนาจตุลาการ ฉะนั้น โอกาสที่จะได้ตรวจสอบประกาศข้อกำหนดนี้โดยเอาไปฟ้องศาลปกครองจึงยาก คิดว่าจากแนวบ้านเรา ศาลปกครองคงไม่รับฟ้อง

หนทางที่ริบหรี่มากๆ คือ การไปยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ อาจยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนว่า อธิบดีสองศาลออกกฎเกณฑ์แบบนี้โดยกฎหมายแม่บทไม่ได้ให้อำนาจไว้ จึงขอให้วินิจฉัยว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคดีพิจารณาหรือเปล่า

ระบบในบ้านเราเป็นแบบนี้ การตรวจสอบผู้พิพากษาไม่ว่า ผู้พิพากษาในทางคดี หรือผู้พิพากษาซึ่งทำงานในทางบริหารก็ตาม ทำได้ยากในระบบกฎหมายไทย

การที่อธิบดีศาลอาญาออกข้อกำหนดแบบนี้ มันชวนให้ตั้งคำถามตัวโตๆ ว่า เราจะให้อำนาจผู้บริหารศาลออกกฎเกณฑ์ในลักษณะแบบนี้อย่างไรก็ได้ แล้วไม่มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจออกกฎเกณฑ์อย่างนั้นหรือ อาจมีคนเถียงว่า อธิบดีศาลออกกฎเกณฑ์มาก็เพื่อความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล ผมไม่ได้บอกว่าอธิบดีทำไม่ได้ ในแง่ของการเป็นผู้ดูแลอาคารในเชิงการบริหารอาคารได้ แต่ไม่ใช่อำนาจตาม มาตรา 30 วิ.แพ่ง

และแน่นอนการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับอาคาร อาคารศาลเป็นอาคารราชการอย่างหนึ่ง สร้างโดยภาษีอากรประชาชน การออกกฎเกณฑ์ต่างๆ บางครั้งก็ประหลาด เช่น ห้ามถ่ายรูปไปทางศาล ตอนผมมีคดีไปศาลแขวงดุสิต มีการถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ทาง รปภ.ก็ไล่เลย บอกว่าต้องถ่ายหันไปข้างนอก ผมก็แปลกใจว่า การถ่ายรูปติดอาคารศาลจะทำให้ตัวอาคารสึกกร่อนหรืออย่างไร การออกกฎเกณฑ์จึงต้องมีเหตุผลความจำเป็นอันเหมาะสมด้วย ไม่ใช่ออกกฎเกณฑ์อะไรก็ได้ ไม่อย่างนั้นจะทำให้อาคารศาลกลายเป็นสถานที่ที่แตะต้องหรือละเมิดมิได้ ศักดิ์สิทธิ์ไปเลย มีสถานะเหนือกว่าที่ว่าการอำเภอ ทำเนียบรัฐบาล อาคารรัฐสภาไปเสียอีก เพราะไปทำในที่อื่นๆ ไม่มีความผิดฐานละเมิดรัฐสภา ละเมิดคณะรัฐมนตรี จะผิดฐานชุมนุมฐานอื่นๆ ก็ว่ากันไป

ผมกังวลว่า ถ้าไม่พูดอะไรเลย เดี๋ยวศาลอื่นก็จะอาศัยอำนาจนี้ออกข้อกำหนดของแต่ละศาลตามไปอีก แน่นอน อันนี้เป็นความเห็นผม ผมอ่านข้อกฎหมาย อ่านตำรามาพอสมควร เพราะเอะใจเมื่อเห็นคดีนี้ พออ่านกฎหมายแล้วพบว่าไม่ใช่ ผู้บริหารศาล อธิบดีศาลอาศัยตามประมวลกฎหมายิวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการคุมกระบวนพิจารณา ใช้ออกกฎเกณฑ์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยทั่วไปไม่ได้ ผมเห็นแบบนั้น ถ้าต้องการอำนาจแบบนี้ต้องแก้กฎหมายแล้วขออำนาจจากสภา

กรณีของศาลรัฐธรรมนูญ เราจะเห็นได้เวลาที่เขาออกข้อกำหนดมา เขามีกฎหมายให้อำนาจ กฎหมายให้อำนาจนั้นจะดีหรือไม่ดีวิจารณ์กันได้ว่าให้อำนาจเขามากเกินไปไหม แต่เราลองสังเกตดูเวลาศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนด ข้อกำหนดที่เขาออกเขาจะใช้คดีต่อคดี เช่น คดีล้มล้างการปกครอง จะมีการออกข้อกำหนดโดยกำหนดเวลานี้ถึงเวลานี้ แล้วจบก็คือจบ เฉพาะคดีนั้น เขาไม่ได้ออกข้อกำหนดบริเวณอาคารศาลรัฐธรรมนูญแบบทั่วไป เขาดูความจำเป็นของแต่ละคดีไป

ผมไม่ได้บอกว่าอำนาจที่ให้กับศาลในลักษณะแบบนี้มันสมควร พอเหมาะพอประมาณไม่มากเกินไป อันนั้นเป็นประเด็นที่เราต้องไปเถียงกันในตัวพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญอีกส่วนหนึ่ง แต่อย่างน้อยศาลรัฐธรรมนูญ เวลาออกข้อกำหนดเขาสามารถอ้างกลับไปยังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญได้ แต่กรณีของศาลอาญา ผมเห็นว่า อธิบดีศาลอาญาไม่สามารถอ้างอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้อำนาจผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี เอามาใช้เป็นฐานแห่งอำนาจในการออกกฎเกณฑ์เป็นการทั่วไป และผู้ที่ฝ่าฝืนให้ถือว่าละเมิดอำนาจศาลเลย

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราจะถือหลักนิติรัฐ เราละเลยลักษณะแบบนี้ไม่ได้ เป็นการท้วงติงกัน ถ้าความเห็นผมไม่ดี ผมก็เสียหายเอง แต่อย่างน้อยควรต้องมีคำอธิบาย อาจจากโฆษกศาลยุติธรรม หรืออธิบดีศาลอาญา

  • ดูได้ที่ https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=tsapH8uGl7k&t=670s&ab_channel=ReadChannel