ไม่พบผลการค้นหา
'ประยุทธ์' ทิ้งทวนก่อนยุบสภาฯ ประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่อง แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 2566 – 2580 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศลงในราชกิจจาฯ แล้ว

วันที่ 8 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2566 - 2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ลงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 140 ตอนพิเศษ 51 ง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 แล้ว

โดยระบุว่า ตามที่แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561 - 2580) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนัยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่18 เมษายน 2562 ทั้งนี้ ในกรณีที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทให้สอดคล้องกับความจำเป็นของประเทศ ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีก่อน และเมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว จึงดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติได้

บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2566 - 2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอ ดังมีสาระสำคัญแนบตามท้ายนี้ จึงให้ประกาศแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2566 - 2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ในราชกิจจานุเบกษาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น ถือเป็นกลไกสำคัญที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2560 ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การกำหนดนโยบายต่างๆ และการจัดทำงบประมาณประจำปีต่อไปจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ ยังมีการระบุโทษไว้ด้วยว่า ข้าราชการที่ไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติอาจถึงขั้น "ไล่ออกจากราชการ" ส่วนรัฐมนตรีที่กำหนดนโยบายไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ อาจโดนโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี

โดยหากเมื่อย้อนไปดู มาตรา 25 ของ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ นั้น ได้ระบุโทษไวดังนี้ "ถ้าหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ทางสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะพิจารณาว่าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวจงใจไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ หากมีมติเห็นว่าจงใจก็จะส่งเรื่องดังกล่าวต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และถ้า ป.ป.ช. เห็นว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีมูล “ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่งต่อไป"

ในส่วนของรัฐมนตรีนั้น ในบทเฉาพะกาลของ มาตรา 29 ของ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ระบุว่า ในระหว่างอายุของ ส.ว. ที่ คสช.แต่งตั้ง ในกรณี ที่การดําเนินการของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ หรือ แผนแม่บท เป็นผลจาก มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือเป็นการดําเนินการของ ครม.โดยตรง 

โดยให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ แจ้งให้คณะกรรมการ และ ส.ว. และให้ ส.ว.ดําเนินหากเห็นว่ากรณีเป็นปัญหาว่ามติของ ครม.หรือการดําเนินการ ของ ครม.เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้วุฒิสภามีมติเสนอเรื่อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ทันที 

และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติ ครม. หรือการดําเนินการของ ครม.เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดําเนินการ อํานาจหน้าที่โดยเร็ว 

ทั้งนี้ให้ ป.ป.ช. พิจารณา และมีมติให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ฟังข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ปรากฏในคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 

ซึ่งหากย้อนไปดู พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ไว้ว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง “จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” ให้ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

และในมาตรา 81 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้ระบุไว้ว่า ถ้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินว่าผิด “ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น” โดยที่คนที่โดนเพิกถอนสิทธิดังกล่าว “ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป” และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ อีกเลย

นอกจากนี้ยังอาจโดนโทษจำคุกด้วย เนื่องจากในมาตรา 172 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้ระบุไว้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต “ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นหรือ 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 

โดยรายละเอียดทั้งหมด 377 หน้า สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ 

https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D051S0000000000400.pdf