ไม่พบผลการค้นหา
วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ค้นพบ CBN จากกัญชายับยั้งเซลล์มะเร็งปอด นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของการวิจัย พร้อมเปิดสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์แห่งแรกในไทย และ 4 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชา

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กัญชาเป็นพืชที่มีคุณค่าและมีประโยชน์มากมาย มีหลักฐานทางวิชาการที่แสดงว่ากัญชามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหลายชนิด และมีแนวโน้มการนำมาใช้ทางการแพทย์มากขึ้น มหาวิทยาลัยรังสิตได้เล็งเห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ของกัญชามาอย่างยาวนาน เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่ขออนุญาตทำงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และได้รับอนุญาตเป็นรายแรกในปี 2560 เป็นต้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อวิจัยและพัฒนายาและตำรับยาที่พัฒนาจากกัญชาให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผล ผลงานวิจัยกัญชาด้านการแพทย์ของมหาวิทยาลัยรังสิตที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์และถือเป็นการบูรณาการ การทำงานร่วมกันของวิทยาลัยและคณะต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง  มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้จัดตั้ง “สถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์” ขึ้นมาเพื่อให้สามารถทำงานวิจัยกัญชาได้ทุกมิติ เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติในการบำบัดโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิง สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้วิจัยการศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารจากกัญชาในสัตว์ทดลอง เปิดเผยว่า โรคมะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งผู้ชายและผู้หญิงทั่วโลก โดยเป็นโรคมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง เนื่องจากธรรมชาติของโรคที่ค่อนข้างดุดันและการไม่ตอบสนองต่อการรักษา ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรคมะเร็งปอด ดังนั้น การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนายาต้านมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพ ยังมีความสำคัญต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเป็นอย่างยิ่ง สารกลุ่ม cannabinoids เป็นสารกลุ่มหลักที่พบในกัญชา โดยมีสาร ∆9-tetrahydrocannabinol (THC) เป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทและมีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของมะเร็งหลายชนิดทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ส่วนสาร cannabinol (CBN) เป็นสารที่เกิดจากการปฏิกิริยาของสาร THC ในระหว่างการเก็บรักษา พบได้มากในกัญชาแห้ง

ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานการศึกษาผลของสาร THC และ CBN ต่อเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในสัตว์ทดลอง การศึกษาวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของสาร THC และ CBN ต่อมะเร็งปอดของมนุษย์ในสัตว์ทดลอง

“จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากกัญชา คือ THC และ CBN มีฤทธิ์ลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในหลอดทดลองได้ดี ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาผลของ THC และ CBN จากกัญชาต่อเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในหนูทดลอง พบว่าการฉีด THC และ CBN ในหนูทดลองที่เหนี่ยวนำให้เกิดเป็นมะเร็งด้วยเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ ทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ หนูทดลองที่ได้รับสาร THC และ CBN มีขนาดของก้อนมะเร็งเล็กกว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับสารอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าสาร THC และ CBN จากกัญชามีฤทธิ์ต้านมะเร็งปอดของมนุษย์ได้ทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ กล่าวเสริม

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชาอีก 4 ผลงาน ได้แก่ ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา ยาประสะกัญชา น้ำมันกัญชา และแคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก 

IMG_2103 (2).jpg


อาจารย์ ดร.เภสัชกรหญิง อภิรดา สุคนพันธ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้วิจัยผลิตภัณฑ์แคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นช่องปาก กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าอาการของโรค ความเครียด จากโรคหรือผลกระทบจากการรักษาโรคบางประเภท ทำให้ผู้ป่วยวิตกกังวล และมีคุณภาพการนอนหลับลดลง การนอนหลับที่ไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณภาพ ส่งผลเสียทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทำให้ความสามารถในการต่อสู้กับโรคและการฟื้นฟูร่างกายด้อยลง ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยรังสิต จึงดำเนินการวิจัยภายใต้โครงการ “การพัฒนาตำรับแคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นช่องปากและผลของสารแคนนาบินอลต่อการนอนหลับ” เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ช่วยคลายวิตกกังวล ทำให้นอนหลับได้ดี ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

IMG_2098.jpg

สาร CBN เป็นสารสำคัญที่ตรวจพบได้ในกัญชาแห้ง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสาร THC จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติ พบว่าสาร CBN มีฤทธิ์ทำให้นอนหลับ นอกจากนี้การใช้ร่วมกับสาร THC มีผลส่งเสริมให้การนอนหลับดีขึ้น ทั้งนี้การได้รับยาโดยการรับประทานจะออกฤทธิ์ได้ช้าและตัวยาส่วนใหญ่ถูกทำลาย เพื่อให้ตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้เร็วและมีประสิทธิภาพ จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสเปรย์ฉีดพ่นช่องปาก เพื่อให้ตัวยาสามารถดูดซึมผ่านทางเยื่อบุช่องปากได้ทันที อีกทั้งยังช่วยลดการถูกทำลายของตัวยาที่ตับ ซึ่งนอกจากการศึกษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ฉีดพ่นในช่องปากแล้ว ยังมีการศึกษาประสิทธิภาพต่อการนอนหลับในสัตว์ทดลอง เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมีความปลอดภัย มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพในการคลายวิตกกังวล ทำให้นอนหลับดีขึ้น

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิง สุชาดา จงรุ่งเรืองโชค และนักวิจัย ลุกมาน สือรี ผู้วิจัยผลิตภัณฑ์ “น้ำมันกัญชา (Cannabis Oil) ที่ควบคุมคุณภาพมาตรฐานระดับสากล” กล่าวว่า การคุ้มครองผู้บริโภคที่จะใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชา จะต้องทำการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของน้ำมันกัญชาเช่นเดียวกับยา โดยน้ำมันกัญชามีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ คือ THC, CBD และ CBN ดังนั้นทีมผู้วิจัยจึงได้วิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิด ในน้ำมันกัญชาที่สกัดได้ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณที่ถูกต้อง แน่นอน เพื่อประสิทธิผลในการรักษา ความปลอดภัยของผู้ป่วย และได้ทำการศึกษาความคงสภาพของน้ำมันกัญชาที่ผลิตได้อีกด้วย

นอกจากนี้ กัญชาเป็นพืชที่สามารถดูดซับโลหะหนักได้ดี ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบหาปริมาณสารปนเปื้อนและปริมาณโลหะหนัก รวมถึงการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ โดยข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาคือจะต้องไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ชนิด Staphylococcus aureus ต่อน้ำมันกัญชา 1 กรัม เชื้อจุลินทรีย์ชนิด Clostridium spp. ต่อน้ำมันกัญชา 10 กรัม และเชื้อจุลินทรีย์ชนิด Salmonella spp. ต่อน้ำมันกัญชา 10 กรัม 

IMG_7767 (1).JPG

อาจารย์ เภสัชกร เชาวลิต มณฑล ผู้วิจัย ยาเม็ดเวเฟอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา กล่าวว่ายาเม็ดเวเฟอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา เป็นยาที่สามารถแตกตัวได้อย่างรวดเร็วในช่องปาก ส่งผลให้ยาถูกดูดซึมและออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น การใช้ยานี้สามารถวางใต้ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ตัวยาจะดูดซึมผ่านเยื่อบุในช่องปาก โดยไม่ต้องดื่มน้ำตาม จึงเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วยในการใช้ยา ดังนั้น ยานี้จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการกลืนหรือผู้ป่วยที่มีเยื่อบุช่องปากอักเสบจากการได้รับยาเคมีบำบัด 

อีกหนึ่งในผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบคือ ตำรับยาไทย “ประสะกัญชา” โดยทีมวิจัย อาจารย์ เภสัชกร ณฐวรรธน์ จันคณา, อาจารย์ แพทย์แผนไทย นิรันดร์ วิพันธุ์เงิน, นักวิจัย ปฐมาภรณ์ ปฐมภาค, อาจารย์ สมพร ผลกระโทก, อาจารย์ อัญชนา แสนเมือง และอาจารย์ นภา บุญมา เปิดเผยถึงผลงานดังกล่าวว่า กัญชากับคนไทย มีความผูกพันกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานในตำราพระโอสถพระนารายณ์ที่มีการนำกัญชามาปรุงเป็นยาเพื่อบำบัดรักษาโรค 

สำหรับตำรับยาเข้ากัญชาที่ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อนำมาศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นตำรับยาเข้ากัญชาที่อ้างอิงจากคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด) เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยสรรพคุณของสมุนไพร และวิธีการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ คัมภีร์นี้เป็น 1 ใน 14 คัมภีร์ที่ถูกรวบรวมไว้ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้จัดพิมพ์เพื่อใช้ในโรงเรียนราชแพทยาลัย จึงเป็นตำราที่แพทย์ไทยแผนโบราณใช้อ้างอิงในการตรวจวินิจฉัย และรักษาอาการป่วยไข้สืบต่อกันมา ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทางทีมวิจัยคัดเลือกตำรับนี้มาศึกษา

และสาเหตุที่เรียกชื่อตำรับดังกล่าวว่า ประสะกัญชานั้น มีที่มาจากปริมาณของเครื่องยากัญชาที่เข้าในตำรับมีปริมาณครึ่งหนึ่งของเครื่องยาทั้งหมดในตำรับ โดยส่วนประกอบของตำรับยาประสะกัญชา มีดังนี้ ตรีกฏุก (พริกไทย ดีปลี เหง้าขิงแห้ง) จันทน์ทั้ง ๒ (แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว) ใบสะเดา ใบคนทีเขมา พริกไทยล่อน และใบกัญชา จากสูตรตำรับยาข้างต้นจะเห็นถึงองค์ความรู้และภูมิปัญญาแพทย์ไทยแผนโบราณที่นำสมุนไพรรสร้อนเข้ามาช่วยลดฤทธิ์เมาเบื่อของกัญชาได้ ทางทีมวิจัยได้ตระหนักถึงองค์ความรู้ของบรรพคุณ จึงต้องการที่จะสืบสานภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย รวมทั้งพัฒนาตำรับยาแผนโบราณที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ตลอดจนเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของแพทย์ผู้สั่งใช้ยาและผู้ป่วยที่ได้รับยาด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :