ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการภาคประชาสังคม นำ 617 รายชื่อ ยื่น อธิบดีราชทัณฑ์ เร่งส่งตัว"เพนกวิน" รักษาโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน หลังไม่ได้ประกันตัวตามสิทธิ จนร่างกายอยู่ในขั้นวิกฤต

รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยมารดาของ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง พร้อมเพื่อนนักวิชาการเป็นตัวแทน นำรายชื่อนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองและภาคประชาสังคมจำนวน 617 คน ที่ร่วมกันเข้าชื่อเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 


ศาลไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน

เพื่อขอให้ส่งตัว พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำคณะราษฎรไปรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน หลังจากพริษฐ์และปนัสยา ผู้ต้องขังคดีการเมืองได้อดอาหารประท้วงเป็นเวลา 46 วันและ 32 วัน เพื่อประท้วงต่อศาลอาญาที่ปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว ของพวกเขา แม้ว่าทางทนายความและครอบครัวได้พยายามยื่นขอประกันหลายครั้ง รวมถึงได้อธิบายต่อศาล โดยอ้างถึงหลักรัฐธรรมนูญไทยที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดและจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าว เสมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำผิดจริง แต่ศาลก็ไม่เคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา

จนกระทั่งช่วงเย็นวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมาทนายความได้เข้าเยี่ยม พริษฐ์ และทราบว่าสุขภาพของพริษฐ์ ทรุดหนักมีการถ่ายอุจจาระเป็นชิ้นเนื้อและลิ่มเลือดผิวหนังเหี่ยวย่น นอนไม่หลับล่องลอยร่างกายอ่อนเพลีย จนไม่สามารถเดินเองได้เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ครอบครัวของพริษฐ์และประชาชนที่รักประชาธิปไตย วิตกกังวลอย่างยิ่ง ว่าสุขภาพของพริษฐ์ตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยง รวมถึงสภาวะที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในขณะนี้มีการระบาดของโรคโควิด 


ขอราชทันฑ์คำนึงหลักมนุษยธรรม

ดังนั้นจึงนำรายชื่อบุคคลต่างๆจำนวน 617 คน เพื่อมาเรียกร้องอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ใช้อำนาจส่งตัวพริษฐ์ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนอกเรือนจำที่มีประวัติการรักษาของพริษฐ์ จนกว่าจะแข็งแรงพ้นขีดอันตราย และร่างกายสามารถกลับมารับประทานอาหารได้ตามปกติ พร้อมย้ำว่านี่คือการร้องขอให้ผู้มีอำนาจช่วยรักษาชีวิตของพริษฐ์ โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมต่อเยาวชนคนหนึ่ง ที่มีความรักชาติบ้านเมือง ไม่น้อยไปกว่าผู้ใด

รศ.พวงทอง กล่าวอีกว่า การที่เยาวชนไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ตามหลักการอย่างตรงไปตรงมา แสดงให้เห็นว่าถึงปัญหา เพราะคงไม่มียุคใดสมัยใดที่จะมีประชาชนเยาวชนกล้าไปยืนด่าทอศาล ไม่เกรงกลัวต่อศาลขาดความเคารพนับถือ ส่วนจะนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ที่ผ่านมาผู้ที่อำนาจในกระบวนการยุติธรรมยังไม่ทำให้เห็น