ไม่พบผลการค้นหา
เปิดโปรไฟล์ตัวละครเด่น กก.สมานฉันท์ภายใต้การแต่งตั้งของฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่มีแม้แต่เงาฝ่ายค้านและตัวแทนม็อบร่วมวงด้วย โดย 1 ในกรรมการบางคนเคยสร้างเรื่องฮือฮากลางรัฐสภาด้วยการทำท่าเชือดคอ

พลันที่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ลงนามประกาศรัฐสภาเมื่อวันที 11 ม.ค. 2564 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการสมานฉันท์ โดยมีรายละเอียดระบุว่า ตามที่มีประธานรัฐสภา เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการสมานฉันท์ ลงวันที่ 8 ธ.ค. 2563 กำหนดรูปแบบและองค์ประกอบของคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยกำหนดให้มีกรรมการจำนวน 21 คน

และบัดนี้รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมคล (ทปอ.มทร.) ได้เสนอชื่อผู้แทนของตนเป็นกรรมการสมานฉันท์แล้ว อาศัยอำนาจตามรัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 80 วรรค 4 ประธานรัฐสภา จึงออกประกาศแต่งตั้งบุคคลต่อไปนี้ เป็นกรรมการสมานฉันท์

1. พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล

2. เทอดพงษ์ ไชยนันทน์

3. นิโรธ สุนทรเลขา

4. สรอรรถ กลิ่นประทุม

5. วัลลภ ตังคณานุรักษ์

6. ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร

7. ศ.เกียรติคุณ สุริชัย หวันแก้ว

8. ศ.วันชัย วัฒนศัพท์

9. สมศักดิ์ รุ่งเรือง

10. รศ.นิรุต ถึงนาค

11. ผศ.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง

สำหรับ 11 กรรมการสมานฉันท์ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้อำนาจของประธานรัฐสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ละรายมีประวัติที่น่าสนใจ

ชัยชาญ ช้างมงคล

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม อายุ 63 ปี จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร (ตท.) รุ่นที่ 16 ถือเป็นตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ ในทุกครั้งที่ต้องรับบทบาทชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะกระทู้ถามสด เคยผ่านตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2560 สมาชิสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมทั้งเป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการเพื่อเตรียมการสร้างสามัคคีปรองดองในยุครัฐบาล คสช. 

ทั้งนี้ พล.อ.ชัยชาญ ถูกเสนอชื่อเข้ามานั่งในกรรมการสมานฉันท์สัดส่วนคณะรัฐมนตรี

เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ab0268b4def953130.jpg

เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ วัย 76 ปี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ถูกส่งเข้าร่วมวงกรรมการสมานฉันท์ ในสัดส่วนคณะรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองอาวุโสของพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็น ส.ส.มา 14 สมัย ตั้งแต่ ปี 2518 จนถึงปัจจุบัน เคยเป็นถึงระดับรัฐมนตรีช่วย (รมช.)กระทรวงสาธารณสุข รมว.สาธารณสุข รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประธานวิปรัฐบาล และประธานวิปฝ่ายค้าน

ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เทอดพงษ์ เคยเป็นประธานกรรมาธิการ (กมธ.)เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จากเขตใหญ่เรียงเบอร์ กลับมาใช้เป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียว 375 คนและระบบบัญชีรายชื่อ 125 คน ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 จนกระทั่งพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกต้ังในที่สุด

นิโรธ สุนทรเลขา 1f2c16e5b19c59db0d4905bf.jpg

นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ มาในนามสัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาล ดีกรีนิติศาสตรบัณฑิต ม.รามคำแหง ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) ม.รามคำแหง เป็น ส.ส. 3 สมัย ประสบการณ์เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งเคยเป็นประธาน กมธ.การท่องเที่ยวและกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดสำคัญ นิโรธ เป็นมือประท้วงของพรรคพลังประชารัฐ ที่คอยทักท้วงการอภิปรายของฝ่ายค้าน

สรอรรถ

สรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย สัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาล นักการเมืองมากประสบการณ์ วัย 65 ปี ประสบการณ์สำคัญเคยเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.เทคโนโลยีและการสื่อสาร รมว.แรงงาน รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รมช.มหาดไทย เป็นอดีต ส.ส.ราชบุรี 5 สมัย ปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย

วัลลภ สภา นิติบัญญัติแห่งชาติ Untitled.png

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในนามผู้แทน ส.ว. หรือชื่อที่เรียกกันคุ้นหูสื่อมวลชน ว่า 'ครูหยุย' เคยผ่านตำแหน่ง ส.ว.เมื่อปี 2539 และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ว.กรุงเทพมหานคร ปี 2543 โดยได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 6 กวาดเสียงคนกรุงไปจำนวน 52,154 คะแนน ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และปี 2557 วัลลภ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สนช.

ภายหลังมีการสรรหาแต่งตั้ง ส.ว. 250 คนที่มาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 วัลลภ ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่ง สมาชิก สนช. ก็เข้ารายงานตัวเพื่อรับตำแหน่ง ส.ว.เป็นคนแรกหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ

อุดมการณ์ของ วัลลภ เคยระบุผ่านทำเนียบเกีรยติยศ (Hall of Fame) บุคคลคุณภาพแห่งปี 2014 ด้านเด็กและเยาวชนไว้ว่า "ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของเด็กไทย" โดยประสบการณ์สำคัญของเขาคือก่อตั้งมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และเป็นผู้ริเริ่มโครงการครูข้างถนน

ในระหว่างที่ วัลลภ นั่งเก้าอี้ สมาชิกสนช. เขาได้ร่วมประชุมสนช.เพื่อลงมติถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งในคดีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งผลการลงมติ ที่ปาชุม สนช.มีมติถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ด้วยมติ 190 ต่อ 18 เสียง เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2558 ทั้งนี้สื่อมวลชนได้จับภาพระหว่างการลงมติ โดยปรากฏภาพ วัลลภทำท่ายกมือขึ้นมาเชือดคอตัวอง

โดยวัลลภ ชี้แจงว่าไม่ได้มีเจตนาเยาะเย้ยหรือถากถางใคร แต่ที่ทำไปเพราะความประหลาดใจกับมติที่ออกมาถึง 190 เสียง ทั้งที่คาดการณ์ว่าจะมีเสียงถอดถอนเพียง 135 เสียง 

"ผมต้องขออภัยจริงๆ ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของจริยธรรมอะไรเลย" วัลลภ กล่าว

เรื่องดังกล่าวต้องนำไปสู่การนำเข้าตั้งคณะกรรมการจริยธรรม สนช.เพื่อสอบกรณี วัลลภแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมด้วยการทำท่าเชือดคอระหว่างการนับคะแนนถอดถอน ยิ่งลักษณ์ โดยที่ประชุม สนช.เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2558 ได้ประชุมลับพิจารณาเรื่องดังกล่าว และเห็นชอบตามรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการจริยธรรม สนช.ว่า วัลลภไม่ได้มีการกระทำฝ่าฝืนจริยธรรมแต่อย่างใด

ฉวีรัตน์ กรรมการสมานฉันท์ 22211148_3541.jpg

ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) วัย 71 ปี เคยผ่านตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม จบการศึกษาปริญญาเอก จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย (ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (อุดมศึกษา)) มีทรัพย์สินกว่า 34.3 ล้านบาท และไม่มีหนี้สิน

ส่วนกรรมการสมานฉันท์ในตำแหน่งอื่นๆมาจากสัดส่วนนักวิชาการ

ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้บริหารโรงเรียนพัฒนาผู้นำและสร้างสันติธรรม รักสคูล เคยเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรพื้นฐานการแก้ปัญหาความขัดแย้ง หลักสูตรการเจรจาไกล่เกลี่ยและหลักสูตรวิทยากรการจัดการความขัดแย้ง สถาบันพระปกเกล้า เมื่อปี 2550-2556  อดีตผู้อำวยการสำนักสันติวิธีและธรรมภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ระหว่างปี 2544-2550 และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศ.กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง อายุ 71 ปี อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้อำนวยการหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ และปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

สุริชัย หวันแก้ว คณะกรรมการสมานฉันท์ _979610155738658_8675460885650604032_n.jpg

ศ.กิตติคุณสุริชัย เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ดำรงตำแหน่งเลขานุการของกอส.ในการแก้ปัญหาเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ และเป็นอดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ผู้เชี่ยวชาญประเด็นด้าน การพัฒนา คนชายขอบ และโลกาภิวัตน์

ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 

ดร. สมศักดิ์ รุ่งเรือง อธิการบดีวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก

สมศักดิ์ รุ่งเรือง อธิการบดี กรรมการสมานฉันท์ cellor.jpg

รศ.นิรุต ถึงนาค อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

ทั้งนี้ต้องจับตาการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ไม่มีแม้แต่เงาของฝ่ายค้านและตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าร่วมนั้น จะเป็นการสร้างหนทางปรองดองให้กับบ้านเมืองได้หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง