ไม่พบผลการค้นหา
เปรียบเทียบกฎหมายหมิ่นกษัตริย์แต่ละประเทศ อังกฤษ ญี่ปุ่น นอร์เวย์ ยกเลิกไปแล้ว ข้อสังเกตประเทศที่ยังใช้อยู่ ปกครองแบบกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ

กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า - Conlab เผยแพร่บทความผ่านเพจเรื่อง [ ม.112 โทษหนักจริงหรือ? : เปรียบเทียบ ‘กฎหมายหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ’ ของไทย-ต่างประเทศ ]

มีประเด็นเนื้อหาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

บทความเริ่มต้นว่า ข้อโต้แย้งหนึ่งระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนการคงอยู่และบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขหรือยกเลิก คือข้อโต้แย้งที่ว่า มีกฎหมายลักษณะนี้ในต่างประเทศหรือไม่ ถ้ามี อัตราโทษเป็นอย่างไร กรณีใดบ้างที่เข้าข่ายความผิด รายละเอียดของกฎหมายดังกล่าว เหมือน หรือ แตกต่างจากมาตรา 112 ของไทยอย่างไร

เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ จึงต้องนำ “กฎหมายหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ” ของแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

1. ประเทศที่ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายนี้แล้ว ได้แก่

1.1) ประเทศอังกฤษ - มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติความยุติธรรมทางอาญาและการออกใบอนุญาต (สกอตแลนด์) พ.ศ. 2553 ยกเลิกกฎหมายอาญาทั่วไปเกี่ยวกับการปลุกระดมและความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกล่าววิจารณ์พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร การฟ้องร้องครั้งสุดท้ายสำหรับความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์คือในปี 1715 นั่นคือ 306 ปีที่แล้ว

1.2) ประเทศญี่ปุ่น - ในรัฐธรรมนูญปี 1947 (พ.ศ.2490) ได้ยกเลิกกฎหมายที่ทำให้การล่วงละเมิดจักรพรรดิเป็นอาชญากรรม การตัดสินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 1946 (พ.ศ.2489) ในการประท้วงของคนงานเรื่องการขาดแคลนอาหาร นายโชทาโร่ มัตสึชิมะ คนงานคนหนึ่งซึ่งฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ได้ชูป้ายที่ระบุว่า “ข้า, สมเด็จพระจักรพรรดิ, ได้กินจนอิ่มแล้ว, แต่เจ้า, ผู้อยู่ใต้ปกครองของข้า, ควรอดตาย!”

การกระทำนี้ทำให้นายโชทาโร่ถูกตัดสินจำคุกแปดเดือนในข้อหาหมิ่นประมาท แต่ได้รับการอภัยโทษโดยการนิรโทษกรรมของจักรพรรดิในทันทีตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

1.3) ประเทศนอร์เวย์ - นอร์เวย์เคยมีโทษหนักสุดในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือการประหารชีวิตโดยการตัดหัว ซึ่งเป็นวิธีการประหารชีวิตมาตรฐานในช่วงทศวรรษที่ 1600 และ 1700 แต่เมื่อสังคมพัฒนาไป กฎหมายก็มีมนุษยธรรมมากขึ้น

ประมวลกฎหมายอาญาของนอร์เวย์ปี 1902 (พ.ศ.2445) กำหนดโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี นอกจากนี้ยังมีหมายเหตุสำคัญ คือพระมหากษัตริย์ต้องมีพระราชกระแสรับสั่งหรือทรงยินยอมให้ดำเนินคดี แตกต่างจากของไทยที่ใครจะฟ้องใครก็ได้

2. ประเทศที่ยังคงบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทประมุขของรัฐหรือยังไม่ยกเลิกกฎหมาย แต่ไม่ได้บังคับใช้ ซึ่งสามารถเรียงลำดับจากโทษหนักสุดไปเบาสุดได้ดังนี้

2.1) ซาอุดีอาระเบีย - เป็นประเทศที่ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งกษัตริย์เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล

บทบัญญัติภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่มีผลบังคับใช้ในปี 2014 (พ.ศ.2557) กำหนดว่าการกระทำที่ "คุกคามเอกภาพของซาอุดีอาระเบีย รบกวนความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของรัฐหรือกษัตริย์" ถือเป็นการกระทำที่เป็นการก่อการร้าย อาจมีการพิจารณาโทษเป็นรายกรณีเนื่องจากลักษณะ “ตามอำเภอใจ” ของระบบกฎหมายของซาอุดีอาระเบีย โดยความผิดดังกล่าว อาจได้รับการลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรงรวมถึงการเฆี่ยนในที่สาธารณะ การจำคุกที่ยาวนาน และแม้กระทั่งการประหารชีวิต

เหตุการณ์ล่าสุด คือการควบคุมตัว Zuhair Kutbi ที่แสดงความปรารถนาให้มีการปฏิรูปอย่างสันติ รวมถึงการควบคุมตัวนักข่าว 30 คนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซาอุดิอาระเบียหลังจากนายจามาล คาชอกกี นักข่าวชาวซาอุดิอาระเบียเสียชีวิต

2.2) ประเทศไทย - ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุก 3- 15 ปี” ปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ถูกจัดอยู่ใน “ระบอบประชาธิปไตยที่มีความบกพร่อง” โดย EIU ในการดำเนินคดีตามม.112ล่าสุด มีผู้ถูกหมายเรียกอย่างน้อย 30 รายใน 18 คดี นับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.-16 ธ.ค. และคดีของนายอำพล ตั้งนพกุล หรือเรียกสั้นๆว่า “อากง” ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นฯ สถาบันพระมหากษัตริย์และได้รับโทษจำคุกถึง 20 ปีก่อนเสียชีวิตในเรือนจำตอนปีพ.ศ. 2555

2.3) โมร็อกโก - กฎหมายอาญาระบุบทลงโทษขั้นต่ำในการล่วงละเมิดต่อกษัตริย์ ว่าหากคำแถลงที่ล่วงละเมิดอยู่ในสถานที่ส่วนตัวและไม่ใช่ที่สาธารณะ (เช่น ไม่ออกอากาศ) ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี และจำคุก 3 ปีหากเผยแพร่ในที่สาธารณะ โดยทั้งสองกรณี มีโทษสูงสุดคือจำคุก 5 ปี

ในปี 2019 (พ.ศ.2562) The Economist Intelligence Unit (EIU) จัดอันดับให้โมร็อกโกเป็นประเทศที่มี "ระบอบการปกครองแบบลูกผสมกึ่งเผด็จการ" (hybrid regime) นอกจากนี้ โมร็อกโกยังกำหนดให้การรักร่วมเพศเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 3 ปี

2.4) ไอซ์แลนด์ - ยังคงมีกฎหมายห้ามหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและอาจขยายเวลาได้ถึง 5 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 สำหรับการละเมิดที่ร้ายแรงมากสามารถขยายระยะเวลาได้ 6 ปี อย่างไรก็ตาม ไม่พบการบังคับใช้ในปัจจุบันหรือเรียกว่าเป็น “dead letters” คือตัวหนังสือบนจดหมายที่ตายไปแล้ว

ไอซ์แลนด์ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มตัว และอยู่ในอันดับสองของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลกใน Democracy Index ของ EIU ด้วย

2.5) กัมพูชา - เป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระบอบการปกครองแบบลูกผสมกึ่งเผด็จการ (hybrid regime)

สำหรับการหมิ่นประมาทประมุขของรัฐ มีโทษจำคุก 1-5 ปี บังคับใช้ครั้งล่าสุดในปี 2562 โทษปรับ 2-10 ล้านเรียล โดยมีการนำกฎหมายมาดำเนินคดีย้อนหลังกับผู้ต้องหาถึง 40 ราย

2.6) จอร์แดน - เป็นประเทศที่ EIU จัดให้อยู่ในประเภทระบอบการปกครองแบบลูกผสมกึ่งเผด็จการ (hybrid regime)

การหมิ่นประมาทประมุขของรัฐมีโทษจำคุก 1-3 ปี ในปี 2555 มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อการปฏิรูปต้องเผชิญกับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย

2.7) บรูไน - ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มีโทษจำคุกสูงสุดสำหรับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ที่ 3 ปี

2.8 ) มาเลเซีย - มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี และ EIU ให้คะแนนมาเลเซียเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยบกพร่องในปี 2562

2.9) สวิตเซอร์แลนด์ - ถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ สำหรับกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี อย่างไรก็ตาม ไม่พบข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในปัจจุบัน

2.10) สเปน - ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) และถูกจัดโดย EIU ว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยเต็มตัว

การดูหมิ่นราชวงศ์มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี การบังคับใช้ครั้งล่าสุดคือคดีของ El Jueves นิตยสารแนวเสียดสีของสเปนที่ถูกโทษปรับหลังจากตีพิมพ์การ์ตูนที่มีภาพล้อเลียนการมีเพศสัมพันธ์ของกษัตริย์เฟลิเป้ที่ 6 (ขณะดำรงพระยศ ‘เจ้าชายแห่งอัสตูเรียส’) และภรรยาของเขาในปี 2550

2.11) สวีเดน และ เดนมาร์ก - ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) มีโทษจำคุก 4 เดือนสำหรับการละเมิดไม่ร้ายแรง หากละเมิดอย่างร้ายแรงอาจต้องโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

2.12) เนเธอร์แลนด์ - ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) มีโทษจำคุกสูงสุดเพียง 4 เดือน บังคับใช้ครั้งล่าสุดในปี 2559 โดยชายวัย 44 ปีถูกตัดสินจำคุก 30 วันเพราะเขา “จงใจดูหมิ่น” พระมหากษัตริย์บนเฟซบุ๊กโดยกล่าวหาด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่าพระมหากษัตริย์เป็นฆาตกรและผู้ข่มขืนกระทำชำเรา

2.13) รัสเซีย - ปกครองในระบอบกึ่งประธานาธิบดี (federal semi-presidential republic) ถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ ใน Democracy Index ของ EIU

ในเดือนมีนาคม 2562 ที่ประชุมสหพันธรัฐรัสเซียได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยข่าวปลอมหรือดูหมิ่นประธานาธิบดีรัสเซีย นายกรัฐมนตรี และประมุขต่างประเทศ ต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 วัน และปรับไม่เกิน 30,000 รูเบิล

จากข้อมูลทั้งหมด จะพบข้อน่าสังเกต 5 ประการ ได้แก่

1. การมีกฎหมายบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร แตกต่างจากการดำเนินคดี เพราะประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ แม้ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ แต่ไม่มีการดำเนินการฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกต่อไป ประเทศสุดท้ายที่ทำเช่นนั้นคือสเปน ในปี 2561 ทางการได้ตัดสินจับคุกแร็ปเปอร์ที่ทำเพลงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ เป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน จนนำมาสู่การประท้วงของประชาชนเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก

2. เรื่องวิธีการฟ้องร้องก็เป็นหนึ่งในปัญหาหลักของการบังคับใช้ ป.อาญา มาตรา 112 ในประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งเปิดให้ใครฟ้องร้องผู้ใดก็ได้ กลายเป็นการนำกฎหมายนี้มาใช้อย่างพร่ำเพื่อ เพื่อกำจัดผู้เห็นต่างหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ตัวอย่างการฟ้องร้องตามกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ เช่น ประเทศเดนมาร์ก ได้จำแนกความผิดในการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพออกจากการยกเว้นสำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มีผลให้จะไม่มีความผิดหากสามารถพิสูจน์ความจริงของข้อกล่าวหาได้ หรือสำหรับข้อความที่กล่าว "โดยสุจริต" หรือ "เป็นการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ชัดเจน” และการฟ้องร้องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะสามารถฟ้องร้องได้ตามคำสั่งของกระทรวงยุติธรรมเท่านั้น

ส่วนประเทศนอร์เวย์ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสามารถเริ่มต้นได้ “โดยคำสั่งของกษัตริย์หรือได้รับความยินยอมจากเขาเท่านั้น”

3. จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือประเทศที่ democracy index ของ EIU ให้คะแนนเป็นประชาธิปไตยลูกผสม (กึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ) จะอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศที่ยังมีการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทประมุขของรัฐและมีโทษสูง เช่น ซาอุดีอาระเบีย มีการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบทั้งที่เป็นสาธารณรัฐ (Republic) และประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) จะมีโทษไม่เกิน 3 ปี หรือในประเทศยุโรปตะวันตก เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก หรือสวีเดน โทษสูงสุดแค่ 4 เดือน (สำหรับเดนมาร์กกับสวีเดนอาจมีโทษสูงสุด 1 ปีหากเป็นการละเมิดร้ายแรง)

4. รัสเซียที่ถูกให้คะแนนโดย EIU ว่าเป็นรัฐเผด็จการ เนื่องจากมีการเลือกตั้งแต่ยังเป็นรัฐบาลรวมอำนาจรัฐ กลับมีโทษสูงสุดสำหรับการดูหมิ่นประมุขของรัฐคือจำคุกไม่เกิน 15 วัน และปรับไม่เกิน 30,000 รูเบิล ซึ่งถือเป็นโทษที่ต่ำที่สุดในบรรดาทุกประเทศที่ยังไม่ยกเลิกกฎหมายนี้ และถือว่าค่อนข้างต่ำสำหรับประเทศที่เป็นรัฐบาลรวมอำนาจและมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในประเทศ เช่น เพิ่งจะมีการแก้ไขให้การรักร่วมเพศเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายในปี 2536 และตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา การเป็นผู้รักร่วมเพศหรือกลุ่ม LGBTQ ถูกจำแนกออกเป็นผู้ป่วยทางจิตแทนการทำผิดกฎหมาย

5. บรูไนซึ่งปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปีซึ่งเทียบกับประเทศไทยที่เป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีโทษ 3 - 15 ปีถือว่าโทษเบากว่ามาก

ด้วยการหายไปของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรป เปลี่ยนไปเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมน้อยลงในอารยประเทศ