ไม่พบผลการค้นหา
‘ฐปณีย์-ประชาชนเบียร์‘ ฟังคำพิพากษาศาลแพ่งคดีฟ้อง ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ออกคำสั่ง พรก.ฉุกเฉินปิดกั้นเสรีภาพ ขู่ตัดเน็ต หลังโจทก์-จำเลย ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลเมื่อปี 2564

วันที่ 16 ม.ค. 67 เวลา 08:30 น. ที่ศาลแพ่ง รัชดา ฐปณีย์ เอียดศรีไชย สื่อมวลชนสำนักข่าว The Reporters, ธนากร ท้วมเสงี่ยม กลุ่มประชาชนเบียร์ พร้อมทนายความ เป็นตัวแทนฝ่ายโจทก์เดินทางเข้ารับฟังคำพิพากษา ในคดีสื่อมวลชนและประชาชนนำโดย The Reporters, Voice, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN ประชาชนเบียร์ และภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 ก.ค. 2564 ซึ่งมีเนื้อหาห้ามนำเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่มี “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” และมีอำนาจให้รัฐบาลสามารถสั่งให้ กสทช. ระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้บริการได้

คดีนี้ทางภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2564 พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจาก ข้อกำหนดฯ ดังกล่าวเป็นการปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน อันเป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวชะลอการบังคับใช้ข้อกำหนดฯ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยกเลิกข้อกำหนดฯ ดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ตามลำดับ และศาลแพ่งมีคำพิพากษาจำหน่ายคดีออกจากสารบบ เนื่องจากข้อกำหนดที่โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนนั้นสิ้นผลไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทั้งโจทก์และจำเลยไม่ได้เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงนำไปการอุทธรณ์ของทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายโจทก์เห็นว่า ถึงแม้จำเลยจะมีคำสั่งยกเลิกข้อกำหนดฯ แล้ว แต่ข้อกำหนดฯ ดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ในระหว่างช่วงที่มีการประกาศจนถึงวันที่ยกเลิก การยกเลิกจึงไม่เท่ากับการเพิกถอนข้อกำหนดฯ ที่ทำให้ผลของข้อกำหนดฯ ระงับสิ้นไปทั้งหมด ทั้งการออกข้อกำหนดฯ ดังกล่าวยังเป็นการออกบทบัญญัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่มีฐานทางกฎหมาย จำกัดสิทธิเสรีภาพของโจทก์และประชาชนเกินสมควร ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน ดังนั้นแล้ว ศาลจึงต้องพิพากษากลับให้มีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดฯดังกล่าว จึงจะเป็นธรรมต่อโจทก์ 

ขณะที่ฝั่งจำเลยอุทธรณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลในชั้นวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา เพราะทั้งนี้แม้จำเลยจะยกเลิกข้อกำหนดฯ ไปแล้ว แต่เนื้อหาบางส่วนของคำสั่งศาลมีผลเป็นการวินิจฉัยในเนื้อหาอันเป็นประเด็นแห่งคดีในทางที่เป็นผลร้ายแก่จำเลย โดยที่จำเลยยังไม่มีโอกาสได้ยื่นคำให้การและนำพยานเข้าสืบสู้คดี อันเป็นการวินิจฉัยโดยฟังพยานโจทก์ฝ่ายเดียว ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการนำเนื้อหาในส่วนดังกล่าวของคำสั่งศาลไปใช้อ้างอิง จึงอุทธรณ์ขอให้ศาลกลับคำวินิจฉัยในคำสั่งดังกล่าว