งานศึกษาหลายชิ้นในอดีตที่สรุปผลออกมาว่าผู้ชายเกิดมามีสมองที่เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์กว่าผู้หญิงนั้นล้วนเป็นงานที่ศึกษาจากคะแนนทดสอบเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ทำการศึกษาสมองของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายกลับไม่พบความแตกต่างในการใช้งานของสมองแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ในทั้งสองเพศ
'เจสสิกา แคนทลอน' ศาสตรจารย์ด้านการพัฒนาประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ในสหรัฐฯ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจากการทำข้อสอบทางคณิตศาสตร์ และพบว่าศักยภาพของเด็กทั้งสองเพสเท่าเทียมกันจนอย่างไม่สามารถแยกออกได้
"พวกเขาพัฒนาความสามารถในอัตราเท่าๆกันในช่วงต้นของวัยเด็ก" เจสสิกา กล่าว
นอกจากนี้เพื่อตรวจสอบกระบวนการคิดของสมองที่ทำให้ทั้งสองเพศมีผลออกมาเทียบเท่ากันให้ลึกลงไปอีกนั้น เจสสิกาและทีม ยังทำการทดลงกับเด็กอายุ 3 - 10 ปี จำนวน 104 คน โดยให้เด็กเหล่านี้ทำแบบทดสอบความถนัดทางปัญญาและดูวิดีโอบทเรียนคณิตศาสตร์ขณะอยู่ในเครื่องแสกนเอ็มอาร์ไอ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำภาพถ่ายสมองมาใช้ในการอธิบายความสามารถด้านคณิตศาสตร์ระหว่างเพศ
ผลการทดลองพบว่า สมองส่วนที่ทำงานระหว่างกิจกรรมทดสอบเหล่านั้นระหว่างเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเหมือนกันอย่างแยกไม่ได้
สิ่งเดียวที่งานศึกษาของเจสสิกาไม่สามารถตอบได้คือ ทำไมแนวความเชื่อว่าเพศชายมีความสามารถในวิชา STEM หรือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ดีกว่าผู้หญิงจึงยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน
โดยเจสสิกาบอกเพียงว่า เธอคิดว่าสุดท้ายแล้ว สังคมและวัฒนธรรมต่างหากที่เป็นตัวผลักผู้หญิงออกจากวงการคณิตศาสตร์ หรือวงการสะเต็ม ไม่ใช่สมองของเพศใดเพศหนึ่ง