ไม่พบผลการค้นหา
'อาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์' นักชิมเบียร์ส่ายหัวให้กับ "มาตรการห้ามขายสุรา" บอกรัฐไม่เข้าใจโครงสร้างธุรกิจน้ำเมาและสังคม เลือกลิดรอนสิทธิคนหมู่มาก ทำผู้ประกอบการขาดโอกาสหายใจ

ผลจาก 'โควิด-19' ทำให้วงการน้ำเมาสั่นสะเทือน เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละแห่งทั่วประเทศ อาศัยอำนาจตาม 'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน' ออกคำสั่งปิดร้านค้าและสถานประกอบการจำหน่ายสุราเป็นการชั่วคราว โดยหวังลดความเสี่ยงของประชาชนในการสัมผัสเชื้อโรค

จาก 10 วันแรกที่ครบกำหนด 20 เมษายน ถูกขยับออกไปอีก 10 วัน หรือ 30 เมษายน วันนี้บรรดานักดื่มและผู้ประกอบการจำนวนมาก กำลังว้าวุ่นและร้องโอดโอยถึงผลกระทบที่พวกเขาได้รับ

"ไม่แฟร์เลยครับ การขยายเวลาคือการกระทืบซ้ำผู้ประกอบการรายย่อยให้ตายทั้งเป็น" ตี้-อาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์ นักวิจารณ์และนักชิมเบียร์ รวมถึงเป็นแอดมินเพจ 'แดกเบียร์ให้เพลียแคม' ส่ายหัวให้กับมาตรการที่เขาบอกว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน 

เยอรมนี เบียร์ แอลกอฮอลล์ เครื่องดื่ม.jpg

ล้ำเส้น-เห็นประชาชนคิดเองไม่ได้

ตี้ อาทิตย์ บอกว่า 'การห้ามจำหน่ายสุรา' เป็นมาตรการที่สุดโต่ง สะท้อนวิธีคิดของรัฐในการใช้อำนาจแบบทหารและราชการ ที่มักมองว่าประชาชนเป็นเด็ก คิดเองไม่ได้ ขาดวิจารณญาณ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ ต้องจำกัดและชี้นิ้วสั่งโดยรัฐเท่านั้น 

"มันล้ำเส้น ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ทั้งที่การดื่มแอลกอฮอล์เป็นเสรีภาพชนิดหนึ่งเหมือนกับการทำอาหารและการกินอาหารทั่วไป" นักชิมเบียร์ตัวยงบอก 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับต่อคนตัวเล็กตัวน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยคือสิ่งที่เขาสะท้อนออกมา 

"บางคนบอก เฮ้ย..หยุดแค่ 10 20 วัน ไม่เป็นไรหรอก คือผมเข้าใจนะวิธีคิดของคนพวกนี้คือ ไม่กินก็ไม่เห็นตาย แต่คุณไม่มองไงว่า ไอ้คนที่จะตายจริงๆ คือผู้ประกอบการ คนที่เขาทำธุรกิจ ผมคาดว่าเป็นหมื่นๆ คน ลองตีคร่าวๆ บริษัทหนึ่งมีพนักงานเป็นร้อยคน แล้วร้อยคนนั้นต่างก็มีครอบครัวที่ต้องดูแลอีก เพราะฉะนั้นการห้ามแบบนี้มันไม่แฟร์มากๆ" 


ไม่เข้าใจสังคม-โครงสร้างธุรกิจ

ชายหนุ่มวัย 39 ปี ที่คลุกคลีกับกลุ่มผู้ประกอบการวงการน้ำเมา บอกว่า ภาครัฐนอกจากไม่มีความชัดเจนในการเยียวยาใดๆ แล้ว ยังขาดความรู้ความเข้าใจในโครงสร้างธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน ที่ผู้ประกอบการมีจำนวนมากกว่าแค่ยี่ห้อที่เห็นในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น คือมีตั้งแต่บริษัทผู้นำเข้าไวน์ เบียร์ เหล้า สปิริต คอกเทล หรือรายย่อยอย่าง โชห่วย ร้านไวน์ บาร์คอกเทล ร้านคราฟต์เบียร์ ไมโครบริวเวอรี่ เป็นต้น 

"คนพวกนี้ไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก ไร้ปากเสียงใดๆ ทั้งนั้น ส่งเสียงออกมาก็โดนเหล่าคนดี หรือคนคลั่งศีลธรรมชี้หน้าว่าเป็นคนเลว คนชั่ว 

"เราเสียภาษีเพื่อให้รัฐมาช่วยเหลือเราบ้าง ผมยืนยันได้เลยว่า ผู้ประกอบการทั้งหลายเข้าใจ พร้อมปรับตัวและให้ความร่วมมือในภาวะวิกฤต ขอแค่ทำธุรกิจได้อยู่บ้าง ไม่ต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ คืออาจเปิดให้ซื้อขายกลับบ้านได้ การห้าม 100 เปอร์เซ็นต์แบบนี้มันทำให้เขาหายใจไม่ออก" 

สัมภาษณ์ดื่มเบียร์ให้เพลียแคม

นักวิจารณ์เบียร์ ยกตัวอย่างสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูงอย่าง 'คราฟเบียร์' ซึ่งผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงในการดูแลและควบคุมคุณภาพ ยังไม่นับรวมค่าเช่าพื้นที่การค้า โดยเบียร์บางชนิดที่มีความละเอียดอ่อน คุณภาพจะลดต่ำลงหลังจากผ่านไปเพียงแค่ 2 เดือน 

"ขายไม่ได้ แล้วราคายังตกอีก" เขาบอก 

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพสามิต สามารถจัดเก็บภาษีเบียร์ได้ถึง 79,090 ล้านบาท หรือเกินกว่าเป้า 3.58 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภาษีสุราจะมียอดการจัดเก็บ 62,146 ล้านบาท หรือเกินเป้า 11.05 เปอร์เซ็นต์

"บ้านเรามีวาทกรรมภาษีบาป คำนี้มันทำให้คนในสังคมคิดว่าพวกนี้แม่งคนบาป คนเลว ทั้งที่ถูกจัดเก็บภาษีเยอะมาก และขึ้นทุกๆ 3-4 ปี นึกอะไรไม่ออก จวนตัวอยากได้เงิน คุณมาลงที่เราก่อนเลย ภาษีบาปมันจ่ายให้หลายหน่วยงานมากทั้ง ท้องถิ่น อย่าง กทม. , สสส. , เบี้ยเลี้ยงคนชรา , กองทุนเพื่อพัฒนากีฬา แต่ไม่มีใครเห็นคุณค่า แล้วมาด่าว่า เฮ้ยพวกนี้แม่งเลว แม่งชั่ว"

อาทิตย์ บอกผู้คนต้องเลิกโจมตี ตีตราเหมารวมว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกชั่วร้าย เนื่องจากมีจำนวนมากที่บริโภคเพื่อความรื่นรมย์ส่วนตัวและไม่ได้สร้างปัญหาให้กับสังคม 

สุราชุมชนศรีสะเกษ3.jpg

แนะสั่งห้ามชุมนุม ไม่ใช่ห้ามขายสุรา 

มาตรการห้ามขายสุรา เพราะเกรงว่าจะเกิดการชุมนุมมั่วสุมจนนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แอดมินเพจ 'แดกเบียร์ให้เพลียแคม' เปรียบว่า "เหมือนมีคนขับรถเร็วเกินกำหนดบนถนนคันเดียว แล้วไปสั่งห้ามทุกคนห้ามใช้รถนั่นแหละ มันแก้ปัญหาไม่ได้ แถมยังเดือดร้อนคนที่เขาทำตามกติกาอีก" 

เขามองว่า การประกาศเคอร์ฟิวและคำสั่งห้ามชุมนุม เป็นมาตรการที่ลดผลกระทบการแพร่ระบาดได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอที่จะจำกัดการดื่มสังสรรค์ 

"ไม่มีประเทศไหนในโลกที่เขาล็อกดาวน์แล้วห้ามขายเหล้าเบียร์ เพราะมันลิดรอนสิทธิคนหมู่มาก เขาเลือกใช้วิธีห้ามชุมนุมเกินกี่คนว่ากันไป 2 คน 3 คนคุณสั่งห้ามได้ ใครชุมนุมก็จับปรับ ติดคุก อันนี้ผมสนับสนุนเลย" 

อาทิตย์ ย้ำว่า คำสั่งห้ามขายสุราแบบยืดเยื้อ เหมือนจับผู้ประกอบการกดน้ำ ให้ค่อยๆ ขาดใจตายไปทีละรายสองราย ทั้งที่พวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าโอกาสในการได้หายใจ จะปริ่มน้ำ หายใจลำบากไปบ้าง พวกเขาก็ยังอยู่รอดต่อไปได้ แต่การมาบังคับห้ามไม่ให้พวกเขาได้หายใจ ไม่ให้ได้ทำมาหากิน แบบนี้มันคือการฆาตกรรม


วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog