ไม่พบผลการค้นหา
ฝ่ายค้านลุกขึ้นท้วง 'สุชาติ' ขณะคุมการประชุมสภาฯ หลังพบองค์ประชุมมีเพียง 249 เสียงให้ชี้ขาดบรรทัดฐานจะนับยอดจากลงชื่อหรือไม่ต้องลงชื่อเข้าประชุม โดยรองประธานสภาฯ ย้ำยึดสมาชิกลงชื่อเท่านั้น ด้านฝ่ายค้าน ติง 'ชวน' บอกไม่ต้องลงชื่อก่อนประชุมได้

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมโดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระเปิดให้สมาชิกได้ปรึกษาหารือความเดือดร้อนของประชาชนก่อน และใช้เวลาหารือนานกว่า 2 ชั่วโมงแต่องค์ประชุมก็ยังไม่ครบ ทำให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นทวงถามถึงการเข้าสู่ระเบียบวาระ และอยากให้นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานได้วินิจฉัย

ขณะที่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ทวงถามประธานในที่ประชุมเรื่องการนับองค์ประชุมว่า ที่ผ่านมาฝ่ายค้านให้ความร่วมมือเรื่ององค์ประชุมมาโดยตลอด ซึ่งนายชวนเคยวินิจฉัยว่า แม้ว่าสมาชิกจะไม่ได้ลงชื่อเข้าประชุม แต่ถ้ามานั่งในห้องประชุมก็ถือว่าเป็นองค์ประชุม สามารถลงมติได้ ซึ่งการประชุมในขณะนี้มีสมาชิกที่ลงชื่อเข้าร่วมประชุม จำนวน 249 คน แต่เป็นเสียงของพรรคฝ่ายค้านประมาณ 5 เสียง จึงทำให้สามารถเปิดประชุมได้ ดังนั้น อยากให้ประธานช่วยวินิจฉัยเพื่อเป็นบรรทัดฐานด้วยว่า ถ้าหากไม่ได้ลงชื่อแล้วมานั่งในห้องประชุมจะถือเป็นองค์ประชุมด้วยหรือไม่ จึงอยากให้นายสุชาติไปคุยกับนายชวนด้วย ไม่ใช่รองประธานฯ วินิจฉัยอย่างหนึ่งแล้วประธานก็วินิจฉัยอีกอย่าง

ด้าน นายสุชาติ ชี้แจงว่า ตนยึดตามข้อบังคับการประชุม ซึ่งดูที่จำนวนสมาชิกที่มาลงชื่อ หากเจ้าหน้าที่แจ้งมาว่ามีสมาชิกลงชื่อเข้าร่วมประชุมเกิน 249 เสียงแล้ว ตนจะถือว่าครบองค์ประชุม ซึ่งส่วนนี้เป็นบรรทัดฐานของตน แต่ไม่ทราบว่านายชวนจะคิดเห็นอย่างไร จะนำเรื่องไปหารือกับนายชวนอีกครั้ง ยืนยันตนจะยึดบรรทัดฐานแบบนี้

อนาคตใหม่ ปิยบุตร สภา 724_14.jpgสภา พลังประชารัฐ รัฐสภา 724_16.jpg

ขณะเดียวกันนายสุชาติ ยังแจ้งต่อที่ประชุมว่า นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ได้ส่งหนังสือลาออกจากการเป็นส.ส. ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้มีจำนวนส.ส.เหลืออยู่ 497 คน ดังนั้น องค์ประชุมคือ 249 คน 

จากนั้นนายสุชาติได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในส่วนของญัตติต่างๆ ที่จะมีการพิจารณากันนั้น บางญัตติมีสมาชิกลงชื่อขออภิปรายไว้ 20 กว่าคน แต่เนื่องจากสมาชิกบางส่วนอาจจะกำลังเตรียมความพร้อมในการรับฟังการแถลงนโยบายรัฐบาลระหว่างวันที่ 25 – 26 ก.ค. ดังนั้น จึงขอเลื่อนการพิจารณาญัตติต่างๆ ไปพิจารณาในสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะสั่งปิดการประชุมในเวลา 15.15 น.

จิรายุ รังสิมันต์ สุทิน จุลพันธ์ ฝ่ายค้าน 0762_๑๙๐๗๒๔_0008.jpg

ฝ่ายค้าน ซัด 'สุชาติ' กลัวองค์ประชุมล่ม

ต่อมานายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กทม.พรรคเพื่อไทยและคณะกรรมการประสานงานพรรคร่ว�� (วิปฝ่ายค้าน) พร้อมด้วยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่และนายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.และหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ร่วมแถลงข่าวกรณี นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรไทยคนที่ 1 ปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังจากฝ่ายค้านขอให้วินิจฉัยบรรทัดฐานการลงชื่อของ ส.ส.ในการเข้าร่วมประชุมสภาฯ 

โดยนายจิรายุ ระบุว่า วันนี้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลมีไม่เพียงพอ และ ส.ส.ฝ่ายค้านได้ลงชื่อให้อีก 8 คนจนครบองค์ประชุม เป็นการทำให้เห็นแล้วว่าเสียงปริ่มน้ำนั้นเป็นอย่างไร โดยการตรวจสอบองค์ประชุมวันนี้เป็นเจตจำนงจากคำพูดของนายชวน ว่าการโหวตหรือผ่านกฎหมายใดนั้น ให้นับสมาชิกที่นั่งในห้องประชุม แม้ไม่ได้ลงชื่อก็เป็นองค์ประชุมและวันนี้ฝ่ายค้านได้ทำให้เห็นแล้ว ซึ่งก็คือการเข้าประชุมโดยไม่ลงชื่อ แต่รองประธานคนที่ 1 บอกว่าจะใช้วิธีการของตัวเอง คือ ต้องลงชื่อถึงจะเป็นองค์ประชุม จึงเป็นการย้อนแย้งระหว่างประธานสภากับประธานสภาคนที่ 1 และฝ่ายค้านก็ได้ลงชื่อให้ครบองค์ประชุมแล้ว แต่นายสุชาติ ในฐานะประธานการประชุมกลับสั่งปิดประชุม โดยไม่คำนึงถึงญัตติเรื่องยาเสพติดกับการเชื่อมระบบราง 3 สนามบิน ซึ่งประธานการประชุมไม่เห็นว่าเป็นวาระเร่งด่วน และเวลาที่เหลือกว่า 6 ชั่วโมงที่ใช้ไม่คุ้ม ภาษีประชาชนในการเช่าสถานที่

ดังนั้น จึงเรียกร้องให้สภาฯ กำหนดบรรทัดฐานและเรียกร้องฝ่ายรัฐบาลช่วยรักษาองค์ประชุม ไม่ใช่ไม่อยากประชุม ก็ไม่มาลงชื่อ อยากปิดประชุมก็ปิด แทนที่จะได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสภาฯในยุคที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งฝ่ายค้านพร้อมทำงานร่วมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

ด้าน นายสุทิน กล่าวว่า วันนี้ ส.ส.ลงชื่อครบองค์ประชุมแล้ว แต่ประธานในที่ประชุมสั่งเลื่อน โดยไม่รู้สาเหตุแท้จริงแต่อาจสันนิษฐานได้ว่า อาจเพราะประธานกังวลว่าวาระต่อไป หากฝ่ายค้านไม่ให้ความร่วมมือ คงไม่ครบองค์ประชุม เพราะประธานเองรู้ดีว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลมาไม่พอ หรือกลัวว่าการประชุมญัตติต่อไปจะกระทบกับผลประโยชน์ใคร แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การปิดประชุมวันนี้หลักจากฝ่ายค้านได้กระตุ้นและเรียกร้องให้วินิจฉัยเรื่ององค์ประชุม ไม่ใช่ผลดีต่อประชาชนแน่นอน พร้อมขอให้เป็นบทเรียนสำหรับฝ่ายรัฐบาลว่า ครั้งนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายค้านแต่อยู่ที่ฝ่ายรัฐบาลเองและเสียดายเวลาที่ต้องทิ้งไปถึง 6 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับ เวลาในการอภิปรายนโยบายที่รัฐบาลจะแถลงที่จำกัดจำเขี่ยเชื้อ

ขณะที่นายรังสิมันต์ ยืนยันว่า สภาไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทุกๆ คน ประธานสภาอาจมีอำนาจตามข้อบังคับแต่การจะใช้อำนาจในลักษณะที่สื่อออกไปว่า สภาเป็นของตัวประธานเองหรือใช้อำนาจไปในทางทิศทางใดก็ได้ เป็นการทำลายผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก เพราะนอกจากเงินงบประมาณแล้ว ยังมีวาระของประชาชนที่จะต้องเข้าสู่สภาเพื่อให้ได้รับการแก้ไขปัญหาอีกมากมาย ซึ่งวันนี้มีญัตติเรื่องรถไฟที่เกี่ยวข้องกับอีอีซี ที่อาจมีทั้งคนได้และเสียประโยชน์และเรื่องยาเสพติดที่ระบาดทั่วบ้านทั่วเมือง

นายนิคม ย้ำว่า เป็นที่น่าเสียดายที่เวลาเหลือตั้งเยอะ ที่ตัวเองเตรียมประเด็นที่จะนำเสนอในสภาโดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด ที่เป็นภัยคุกคามของประเทศ พร้อมยืนยันว่า เวลาเป็นเรื่องสำคัญซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับการอภิปรายนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงในวันที่ 25 -​26 ก.ค. ตัวเองได้เวลา 15 นาที ทั้งที่นโยบายต่างๆ ที่ได้ศึกษาแล้ว มีข้อบกพร่องมากมายที่จะต้องพูดให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจ แต่เวลามีน้อยมากในการอภิปราย ขณะที่วันนี้มีเวลาเหลือเฟือ กลับไม่ได้ใช้