ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เชื่อมั่นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสให้กับภาคประชาชนและครัวเรือน เป็นการกระตุกกำลังทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทั้งนี้ ขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่เห็นแก่ความตั้งใจจริงของรัฐบาล และต้องการช่วยเหลือประชาชน จึงออกมาสนับสนุนแนวความคิดนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลจะนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ มาพิจารณาเพื่อเป็นโอกาสให้ได้ปรับปรุงแนวทางในการดำเนินนโยบายให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประชาชนกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 1,280 คนจากทั่วประเทศ ถึงทัศนะต่อนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท พบว่ามีสัดส่วนถึง 76.4% ที่จะใช้เงินดิจิทัล โดยอยากใช้ซื้อสินค้าในครัวเรือนมากที่สุด 24.5% รองลงมาคือใช้ซื้ออาหาร 21.0% ในขณะเดียวกัน มีกลุ่มตัวอย่าง 48.3% เชื่อว่าเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้มาก และ 35.6% เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ปานกลาง
โดยทางคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล จะนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาพิจารณาการประชุมในวันที่ 12 ตุลาคม 2566 นี้ จากนั้นจะนำผลสรุปเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 24 ตุลาคม 2566
อย่างไรก็ดี รัฐบาลตั้งใจให้การดำเนินนโยบาย Digital Wallet ให้เศรษฐกิจปีหน้าเติบโต 5% เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เกิดการจ้างงาน และการลงทุน รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ เพิ่มขึ้น และสุดท้ายสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้ ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ จะมาจากหลายแหล่ง ทั้งการนำเงินงบประมาณส่วนเกินจากของหน่วยงานราชการ การใช้เงินตามมาตรา 28 ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 และอื่น ๆ โดยจะมีการดำเนินการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
“รัฐบาลขอบคุณแนวความคิดเห็น ข้อชี้แนะที่ทุกภาคส่วนเสนอเข้ามา โดยพร้อมนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาปรับปรุงให้เกิดความสมดุล อาทิ เงื่อนไข ข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการให้เป็นนโยบายที่ได้ประโยชน์กับพี่น้องคนไทยมากที่สุด เกิดประโยชน์ในวงกว้าง เป็นการกระตุ้นทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อเพิ่มโอกาสให้พี่น้องคนไทยที่มีรายได้น้อยลืมตาอ้าปากได้” ชัย กล่าว