ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อไม่สามารถเอาตัวเองไปเฉียดใกล้กับ ‘เส้นแห่งความปกติ’ ตามท่ี่สังค��คาดหวัง การใช้ชีวิตแต่ละวันจึงเหมือนตกนรกทั้งเป็น

ผู้เขียนมักมีคำขวัญที่พูดกับเพื่อนๆ อยู่เสมอว่า “อยากดูละครญี่ปุ่นปวดตับ ให้ดูละครช่อง WOWOW” แม้จะกล่าวทีเล่นทีจริง แต่ดูเหมือนว่าประโยคนี้จะเป็นจริงอยู่บ่อยครั้ง อย่างน้อยที่สุดก็กับละครเรื่อง The House on the Slope

The House on the Slope (อย่าจำสับสนกับหนังวัยรุ่น Kids on the Slope นะครับ) เป็นละครโทรทัศน์ 6 ตอนจบที่ออกอากาศเมื่อช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา แต่กว่าจะมีคนใจบุญทำซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษครบทุกตอนก็ปาเข้าไปช่วงปลายเดือนกรกฎาคม สร้างจากนิยายของนักเขียนหญิง มิตสึโย คาคุตะ อันเป็นชื่อที่เห็นแล้วไว้ใจได้ ผลงานของเธอถูกดัดแปลงเป็นหนัง/ละครดีๆ หลายเรื่อง อาทิ Rebirth (2011) และ Pale Moon (2014)

เนื้อเรื่องว่าด้วย ริซาโกะ (โค ชิบาซากิ) แม่บ้านที่ได้เป็นหนึ่งในคณะผู้พิพากษาสมทบ (lay judge) คดีที่เธอได้รับมอบหมายคือเคสอื้อฉาวที่แม่ฆ่าลูกวัยแปดเดือน ในการพิจารณาคดีแต่ละครั้ง เราจะได้ฟังคำให้การของบรรดาคนรอบข้างผู้ต้องหา ทั้งแม่ สามี และแม่สามี ใจความโดยรวมมุ่งไปในทิศทางเดียวกันว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ขาดคุณสมบัติของความเป็นแม่ นั่นทำให้ทุกคนเห็นพ้องกันว่าเธอทำผิดและควรได้รับการลงโทษอย่างถึงที่สุด

ทว่าริซาโกะกลับคิดต่างออกไป เธอรู้สึกเห็นอกเห็นใจในตัวผู้ต้องหาที่ถูกกดดันจากทุกฝ่าย และอันที่จริงริซาโกะเองก็กำลังมีปัญหากับทั้งลูก สามี แม่สามี และแม่ของตัวเอง พูดได้อีกแบบว่ายิ่งการไต่สวนดำเนินไป ริซาโกะก็ยิ่งรู้สึกว่าชีวิตตัวเองซ้อนทับกับผู้ต้องหา มันเริ่มทำให้เธอ ‘อิน’ กับคดีและตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นที่คนดูต้องลุ้นว่าริซาโกะจะเป็นบ้าจนฆ่าลูกตัวเองเหมือนกันหรือเปล่า

03.jpg

ตามสไตล์ละครญี่ปุ่นที่มักมีตัวละครมากมาย จุดโฟกัสจึงไม่ได้อยู่เพียงริซาโกะเท่านั้น แต่ยังพาเราไปสำรวจชีวิตของผู้พิพากษาสมทบคนอื่นๆ ซึ่งแต่ะคนมีปัญหาหนักหนาไม่แพ้นางเอก ทั้งหญิงสาวที่เบื้องหน้าทำเป็นภูมิใจกับการไม่มีลูกทั้งที่ใจจริงอยากมีใจจะขาด, ชายหนุ่มที่ถูกเมียที่เป็นลูกคุณหนูหมางเมินเพราะไม่สามารถหาเงินได้มากพอ ไปจนถึงผู้พิพากษาหญิงที่ชีวิตกำลังพังจากการทำงานและเลี้ยงลูกไปพร้อมกัน

จะเห็นได้ว่าตัวละครทั้งหลายใน The House on the Slope กำลังเผชิญปัญหาที่มาจากสถานะความเป็นแม่ เป็นพ่อ เป็นสามี เป็นภรรยา แต่ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่หลอกหลอนพวกเขามากที่สุดคือ ‘ความปกติ’ ซึ่งไม่ใช่ความปกติทางสภาพจิต แต่หมายถึงความปกติอันเป็นบรรทัดฐานทางสังคม ความปกติที่คนรอบตัวคาดหวังว่าพวกเขาต้องทำได้ เมื่อไม่สามารถเอาตัวเองไปเฉียดใกล้กับ ‘เส้นแห่งความปกติ’ การใช้ชีวิตแต่ละวันจึงเปรียบเหมือนการตกนรก


04.jpg

แน่นอนว่าความปกติที่เป็นหัวใจสำคัญใน The House on the Slope คือ ‘ความเป็นแม่’

เหล่าตัวละครหญิงในเรื่องถูกคาดหวังต่างๆ นานา ต้องลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก ต้องเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของตัวเอง ต้องสามารถโอ๋ลูกให้หยุดร้องไห้ได้ หากแต่ไม่ใช่แม่ทุกคนที่สามารถทำเรื่องเช่นนั้นได้

เมื่อถูกสงสัยในความสามารถของการเป็นแม่คน ความคิดประเภท ‘ไม่น่ามีลูกเลย’ หรือความชิงชังในลูกตัวเองก็เริ่มเข้าครอบงำพวกเธอ

The House on the Slope เป็นละครหนักหน่วงที่ไม่ยอมออมมือสักเท่าไร สิ่งที่น่าชื่นชมคือการแสดงจากเหล่านักแสดงที่คอซีรีส์ญี่ปุ่นน่าจะคุ้นหน้ากันดี รายที่โดดเด่นก็คือ โค ชิบาซากิ นางเอกของเรื่องที่ต้องรับบทแม่บ้านผู้ขาดความมั่นใจ สีหน้าและน้ำเสียงของเธอเหมือนคนที่จะแหลกสลายได้ทุกวินาที, มิกิ มิซูโนะ ที่รับบทผู้ต้องหาก็แสดงใบหน้าชนิดคนตายซากไร้วิญญาณตลอดทั้งเรื่อง รวมถึง อายูมิ อิโตะ ที่แม้จะรับบทสมทบ แต่บทสาวมั่นในร้าวรานจากภายในก็ถือเป็นการแสดงชั้นเยี่ยม 

02.jpg

อีกสิ่งที่น่าสนใจในละครเรื่องนี้คือจังหวะการตัดต่อที่หลอกหล่อผู้ชมได้อย่างดี ทั้งการตัดสลับไปมาระหว่างริซาโกะและผู้ต้องหาที่พยายามแสดงให้เห็นถึงการเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกันของสองคนนี้ หรือการแทรกฟุตเทจสัมภาษณ์คนอื่นที่เหมือนสารคดีจนเราสงสัยว่าคนเหล่านี้คือใคร (ซึ่งจะเฉลยในช่วงท้าย) ถึงกระนั้นการตัดต่อในตอนสุดท้ายที่เล่าสลับระหว่างการพิจารณาคดีครั้งสุดท้ายกับชีวิตของเหล่าตัวละครก็ดูเป็นวิธีคลี่คลายเรื่องที่แข็งทื่อไปสักหน่อย แต่ก็เป็นเพียงปัญหาเล็กน้อยของละครเรื่องนี้

ญี่ปุ่นผลิตละครเกี่ยวกับเพศสภาพและบทบาททางเพศอย่างต่อเนื่อง ช่วงนี้เองช่อง WOWOW ก็มีละครเรื่อง Poison Daughter, Holy Mother ที่มีธีมว่าด้วยความเป็นแม่และลูกสาว ส่วนในโลกความเป็นจริงมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมากมาย ไล่ตั้งแต่เทรนด์ #KuToo ที่เรียกร้องให้ผู้หญิงไม่ต้องใส่ส้นสูงในที่ทำงาน, เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไทกะ อิชิกาวะ เป็นนักการเมืองเกย์คนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาสูง หรือกระทั่งการรณรงค์ให้ผู้ชายให้สิทธิ์ลาคลอดและกางร่มกันแดดโดยไม่ต้องรู้สึกเขินอาย

ทว่า The House on the Slope ก็มีฉากแสนเจ็บปวด เมื่อตัวละครหญิงพยายามต่อรองให้สามีช่วยแบ่งเบางานบ้านบ้าง แต่คำตอบของอีกฝ่ายกลับเป็น “ขอโทษนะ ผมไม่สนใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศหรอก ผมแค่อยากได้เมียที่ทำกับข้าว เลี้ยงลูก และดูแลบ้านของเรา” มันเป็นความคิดที่น่าเศร้า แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่ายังดำรงอยู่ในญี่ปุ่นและสังคมเอเชีย เป็นความจริงอันกระอักกระอ่วนที่น่าจะอยู่กับมนุษย์เราไปอย่างยาวนาน

05.jpg