“เวลาล็อกดาวน์แล้วคนเดือดร้อน มันก็ต้องอย่างนี้แหละ ที่นี่ล็อกจริง ให้อยู่บ้านจริงๆ ก็ต้องอยู่ เพราะเธอก็มีเงินหนิ เธอจะออกไปไหน ใช่ไหม เราก็เถียงไม่ได้”
ปุณยวัจน์ จินจำ และธยานิษฐ์ สุวรรณโรจน์ เป็นหนึ่งในห้าล้านกว่าคนในนครซิดนีย์ที่ใช้ชีวิตอยู่กับการล็อกดาวน์มาแล้วตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ล่าสุดมีการประกาศขยายเวลาการล็อกดาวน์ในซิดนีย์ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน หลังจำนวนผู้ติดเชื้อเนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาเพิ่มมากขึ้นในรัฐนิวเซาท์เวลส์ โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเกือบ 3,000 ราย คิดเป็น 35% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดตั้งแต่เดือนมกราคมปีที่แล้ว
ปุณยวัจน์ จินจำ (ซ้าย) และธยานิษฐ์ สุวรรณโรจน์ (ขวา) คนไทยในออสเตรเลีย
ท่ามกลางบรรยากาศที่มีคนจำนวนไม่น้อยในออสเตรีเลียออกมาประท้วงไม่เห็นด้วยกับการล็อกดาวน์ เมื่อถามว่าชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง ชาวไทยทั้งสองคนตอบว่ายังโอเค น่าเบื่อบ้าง แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลในแบบที่เพียงพอ
“ถ้าไม่ได้ทำงานเลย 20 ชั่วโมง เขาก็จะชดเชยให้เต็มจำนวนคือ 750 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ผมว่าเยอะนะ เยอะมาก สมัยมาถึง เริ่มทำงานงานใหม่ๆ ยังได้ไม่ถึงเลยตอนทำงานที่ร้านอาหารไทย”
17,800 บาทต่อสัปดาห์ รวมแล้วประมาณ 70,000 กว่าบาทต่อเดือน คือจำนวนเงินช่วยเหลือสูงสุด ที่รัฐบาลจ่ายให้กับประชาชนที่ไม่มีรายได้เพราะมาตราการล็อกดาวน์ ปุณยวัจน์และธยานิษฐ์บอกว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่าเงินที่ได้จากการทำงานเต็มเดือนจริงๆ แต่ก็ “มากพอ” ที่จะจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าอยู่ค่ากินในซิดนีย์ และยังพอเหลือเก็บได้สำหรับใครที่ประหยัด คนที่ยังพอไปทำงานได้แต่ถูกลดชั่วโมงการทำงานลงก็จะได้รับเงินชดเชยที่ลดหลั่นลงไป หากคุณทำงานเสียภาษีถูกต้องทำตามกฎหมาย ไม่ว่าสัญชาติใดก็มีสิทธิได้รับเงินชดเชยเท่ากันกับพลเมืองในประเทศ
“ที่นี่รัฐเขาตรวจละเอียด เวลาเราโทรไปขอเงินช่วยเหลือเขาก็จะถามแบบเป๊ะๆ แล้วก็ไปเช็คกับบริษัทอีกครั้งหนึ่ง แต่พอโทรขอเสร็จ วางสายเสร็จปุ๊บไม่เกินครึ่งชั่วโมงเงินเข้าเลย”
เริ่มจากวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคมนี้ รัฐนิวเซาท์เวลส์ที่จะใช้มาตรการเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้านตั้งแต่ 21.00-5.00 น. ในช่วงเวลาปกติ อนุญาตให้ประชาชนออกไปนอกบ้านได้เพื่อซื้อของกินของใช้และทำธุระที่จำเป็นเท่านั้นในรัศมี 5 กิโลเมตรจากที่พักอาศัย ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ข้างนอก ยกเว้นกรณีออกกำลังกายซึ่งถูกจำกัดให้ทำได้ไม่เกินวันละหนึ่งชั่วโมง อาชีพอื่นๆ ที่ต้องเดินทางไกลจะต้องมีใบอนุญาต
“ที่นี่เขาปรับจริง ช่วงล็อกดาวน์ถ้าคุณเดินออกไปตัดผม โดนปรับ 1,500 นะ (35,600 บาท)”
ความยากลำบากในการพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาในออสเตรเลียครั้งนี้ นอกจากรัฐบาลจะมอบอำนาจให้ตำรวจมากขึ้นในการตรวจตราและลงโทษปรับประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการแล้ว ยังขอความร่วมมือกับทหารมาช่วยตรวจตราและทำหน้าที่ส่งอาหารและของใช้จำเป็นให้กับประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านอีกด้วย
ทหารและตำรวจในนครซิดนีย์ทำหน้าที่ตรวจตราและส่งอาหารให้กับประชาชนในพื้นที่ (AFP)
“ผมว่าที่นี่มันรู้สึกดีกว่านะ เพราะเขาให้ความช่วยเหลือแทบจะทุกอย่าง มันน่าเบื่อแหละแต่มันก็ยังดีกว่าบ้านเรา เราไม่มีรายได้ เขาก็ช่วยเรื่องเงินให้ได้จ่ายค่าเช่าบ้าน หรือกรณีที่เราเป็นนักเรียนต่างชาติ เขาก็ส่งอาหารมาให้ หมดก็ขอใหม่ได้อีก”
ล็อกดาวน์ปีนี้ Food Bank ในออสเตรเลียเปิดให้นักเรียนต่างชาติลงสมัครเพื่อขอรับบริจาคอาหารหรือกล่องยังชีพได้ แม้อาหารอาจจะไม่ถูกปากคนไทยบางคนสักเท่าไหร่ แต่สำหรับคนจำนวนไม่น้อยก็ทำให้รู้สึกอุ่นใจว่าอย่างน้อยยังมีความช่วยเหลือด้านนี้อยู่ ในส่วนของวัคซีน ทั้งปุณยวัจน์และธยานิษฐ์ได้รับไฟเซอร์ครบสองโดสแล้ว ในขณะที่ยอดการฉีดวัคซีนโดยรวมของออสเตรเลียมีประชากรได้รับวัคซีนแล้ว 41% โดย 23% ได้ครบแล้วทั้งสองเข็ม
“วัคซีนที่นี่มันได้ทุกคนอยู่แล้ว โดยเฉพาะตอนนี้ถ้าใครฉีดแอสตราเซเนกา เดินไปฉีดได้เลยไม่ต้องจองคิว มีรถฉีดตามบ้านด้วยแล้วนะตอนนี้ แต่ถ้าอยากได้ไฟเซอร์ต้องรออยู่ เพราะเขาแบ่งฉีดตามช่วงอายุ เริ่มจาก 60 ปีขึ้นไปก่อน ตอนนี้ถึงคิวคนที่อายุ 40 ปีแล้ว ส่วนการตรวจหาเชื้อ ที่ไทยจะตรวจทีหนึ่งดูยากมาก แต่ที่นี่มีทุกหย่อมหญ้าเลย drive-thru ขับรถไปตรวจก็ได้”
จุดตรวจหาเชื้อแบบ Drive-thru ณ เมืองเพิร์ธ (AFP)
เมื่อถามว่าตามข่าวที่บ้านไหม ทั้งสองคนตอบมาตามอยู่ตลอด เมื่อถามว่าครอบครัวที่ไทยได้วัคซีนไปหรือยัง คำตอบของคนไทยในออสเตรเลียก็คงไม่ได้ทำให้คนไทยในประเทศแปลกใจสักเท่าไหร่
“ที่บ้านยังไม่ได้เลย ขนาดจองแบบที่เสียเงินไปแล้วก็ยังไม่ได้ ตอนจองเปิดมาชั่วโมงนึงเว็บก็ล่มไปเลย ก็ต่างกัน คงต้องทนอยู่ที่นี่ก่อน คิดถึงบ้านแหละ แต่ต้องรอให้อะไรๆ ดีขึ้นก่อน อยากให้รัฐช่วยประชาชนบ้านเรามากกว่านี้”