ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่กำลังต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอง เนื่องจากต้องทำงานหนักเกินไป และขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค

สำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชียรายงานว่า แพทย์และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขในเมืองอู่ฮั่นกำลังแบกรับภาระหนักในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ ที่เพิ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "โควิด-19" ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความเสี่ยงที่ที่จะติดเชื้อเอง เนื่องจากขาดแคลนหน้ากากและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคอื่นๆ

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายคนในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นเมืองต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ รู้สึกเหนื่อยล้า เนื่องจากต้องตรวจและรักษาผู้ติดเชื้อรายใหม่หลายพันคนต่อสัปดาห์ แต่เจ้าหน้าที่ก็มีไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ที่เดินทางไปรักษา เช่น แพทย์คนหนึ่งต้องรองรับคนไข้ 400 คนภายใน 8 ชั่วโมง

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า แพทย์คนหนึ่งในคลินิกชุมชนในเมืองอู่ฮั่นกล่าวว่า เขาและเพื่อนร่วมงานอย่างน้อย 16 คนเริ่มมีอาการคล้ายกับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงอาการปอดติดเชื้อและไอ ซึ่งแพทย์หลายคนก็ไม่อยากทำงานทั้งที่ตัวเองเป็นต้นตอของการแพร่เชื้อ แต่ก็ไม่มีแพทย์คนอื่นจะมาทำงานแทน

รองนายกเทศมนตรีเมืองอู่ฮั่นระบุว่า ขณะนี้กำลังขาดแคลนหน้ากาก N95 ประมาณ 56,000 ชิ้นและชุดป้องกันเชื้อโรค 41,000 ชุด ทำให้แพทย์หลายคนจำเป็นต้องตรวจคนไข้โดยไม่มีหน้ากากป้องกันเชื้อโรคหรือชุดป้องกันร่างกายที่เหมาะสม

เจ้าหน้าที่หลายคนต้องใส่ชุดป้องกัน ต้องใส่ผ้าอ้อม ลดปริมาณการดื่มน้ำ และลดการเข้าห้องน้ำลง เพื่อหลีกเลี่ยงการถอดอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ทำให้ใช้งานได้นานขึ้น บางคนต้องใส่ชุดเดิมนาน 6-9 ชั่วโมง ทั้งที่ตามหลักแล้วควรจะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์บ่อยๆ ไม่ควรเกินครั้งละ 4 ชั่วโมงในวอร์ดสำหรับการกักตัว

รัฐบาลจีนได้นำเข้าหน้ากากอนามัยมากกว่า 300 ล้านชิ้น และชุดป้องกันประมาณ 3.9 ล้านชุดมาตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. สภากาชาดของจีนก็ได้รับเงินบริจาค 900 ล้านหยวน หรืิอประมาณ 4,021 ล้านบาทสำหรับบรรเทาทุกข์จากการแพร่ระบาด แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าไม่โปร่งใสและไม่มีประสิทธิภาพ

แพทย์ในเมืองอู่ฮั่นระบุว่า แม้จะได้รับหน้ากากเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นรวดเร็วยิ่งกว่า แพทย์และพยาบาลแต่ละคนต้องใช้หน้ากากประมาณ 2- 4 ชิ้นต่อวัน มีการใช้หน้ากากในโรงพยาบาลจำนวนมาก ทำให้ขาดแคลนหน้ากากอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ แพทย์หลายคนยังรู้สึกกดดันที่ไม่สามารถช่วยชีวิตคนไข้หลายคนได้ โดยบางโรงพยาบาลได้ตั้งทีมเฝ้าระวังด้านจิตใจบุคคลากรและคนในเมือง ประชาชนหลายคนรู้สึกกังวลจนไม่กล้าออกจากบ้าน ขณะที่บางส่วนก็รู้สึกสิ้นหวังที่ต้องรอคิวตรวจโรคนาน

ที่มา : Channel News Asia, SCMP