ไม่พบผลการค้นหา
'เจโทร' ย้ำ ญี่ปุ่นยังชอบประเทศไทย ชี้นโยบายรัฐบาลช่วยสร้างความมั่นใจ หวังเข้ามาลงทุนทั้งในกรุงเทพฯ - อีอีซี

'อะสึชิ ทาเคทานิ' ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นยังมองเห็นโอกาสและศักยภาพในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แม้จะมีความท้าทายเรื่องเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

เจโทร สตาร์ทอัพ
  • 'อะสึชิ ทาเคทานิ' ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ

'JETRO Innovation Program' คือโครงการล่าสุดที่เจโทรจัดขึ้นเพื่อนำสตาร์ทอัพญี่ปุ่นเข้ามาทำการจับคู่ธุรกิจกับบริษัทสัญชาติไทยรวมถึงบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่มาตั้งฐานในประเทศไทยโดยเน้นไปที่บริษัทที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะรวมถึงมีทรัพย์สินทางปัญญา และสำหรับปีนี้เจาะไปที่กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมการแพทย์และผู้สูงอายุ โดย เจโทร นำบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาทั้งหมด 7 ราย แบ่งเป็น 4 ราย จากด้านดิจิทัล และอีก 3 รายจากด้านการแพทย์และผู้สูงอายุ

ทำไมยังชอบไทย

ทาเคทานิ กล่าวว่า ในปีนี้ไทยเป็นเป้าหมายในการเข้ามาลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นร่วมกับตัวเลือกอย่าง ซานฟรานซิสโก และ ซิลิคอนแวลลีย์ ในสหรัฐฯ รวมถึง เซินเจิ้น และ เซี่ยงไฮ้ ในจีน เพราะอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยเติบโตสูงและทันสมัยเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน อีกทั้งนโยบายของภาครัฐสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงทุนว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างดี

อีกประเด็นสำคัญมากจากการเดินหน้าเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุของคนไทยจะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมการแพทย์และผู้สูงอายุมากขึ้น 

สตาร์ทอัพตัวอย่าง

'คุนิฮิโระ นิชิมูระ' ประธานบริหารและผู้ก่อตั้ง เท็นคุ (Xcoo) บริษัทพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม (จีโนม) เพื่อตรวจโรคมะเร็ง กล่าวว่า ปัญหาจากโรคมะเร็งส่งให้ประชากรญี่ปุ่นเสียชีวิตถึง 379,000 คน ในปี 2561 และมียอดผู้ป่วยใหม่ถึง 1.01 ล้านคนในปีเดียวกัน ซึ่งหากระบบการรักษาสามารถตรวจวิเคราะห์โรคได้อย่างรวดเร็วรวมถึงให้คำแนะนำทางการรักษาได้เฉพาะคน จะทำให้ผู้ป่วยสามารถรักษาตัวและหายจากอาการป่วยได้มากขึ้น

เจโทร สตาร์ทอัพ
  • 'คุนิฮิโระ นิชิมูระ' ประธานบริหารและผู้ก่อตั้ง เท็นคุ (Xcoo)

เทคโนโลยีของบริษัทเลือกใช้ข้อมูลทางพันธุกรรม หรือ จีโนม ของคนไข้ เนื่องจากเป็นข้อมูลจำเพาะที่มีความละเอียดของบุคคลมาก ทำให้สามารถวินิจฉัยรวมถึงหาทางรักษาได้แบบเฉพาะคน

สำหรับปัจจุบัน โรงพยาบาลไทยหลายแห่งได้ปรับใช้บริการด้านการตรวจเช็กโรคจากโปรแกรมส่งออกของจีนหรือสหรัฐฯซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนสูงกว่าที่มาตกอยู่กับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม หากบริษัทญี่ปุ่นสามารถหาหุ้นส่วนและมาตั้งฐานบริษัทในไทยได้ก็จะลดราคาค่าใช้จ่ายได้รวมถึงได้ผลการตรวจที่รวดเร็วกว่า ซึ่ง 'นิชิมูระ' กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังทำการทดลองร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลและศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์กรมหาชน) อยู่

รัฐไม่ต้องให้เงิน สตาร์ทอัพก็โตได้

เจโทร กล่าวว่า การสนับสนุนสตาร์ทอัพญี่ปุ่นของรัฐบาลไม่ได้เกิดจากการให้เงินสนับสนุน แต่เป็นการให้โอกาสในการแข่งขันอย่างเสรีรวมถึงการให้องค์ความรู้และการให้คำปรึกษา การที่เจโทรจัดงานจับคู่ทางธุรกิจขึ้นมาก็นับเป็นการขยายโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศให้กับสตาร์ทอัพโดยไม่จำเป็นต้องสนับสนุนด้วยเงินทุน เนื่องจากการทำเช่นนั้นเป็นเพียงการลงทุนระยะสั้น โดยขณะนี้ญีปุ่นมีสตาร์ทอัพในระดับ 'ซูเปอร์สตาร์' หรือระดับที่เกือบเป็น 'ยูนิคอร์น' (ได้รับเงินสนับสนุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ประมาณ 140 บริษัท และตั้งเป้าให้มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น 20 บริษัท ภายในปี 2566

การเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างประเทศย่อมเป็นผลดีกับเศรษฐกิจของไทยอยู่แล้ว แต่การมองถึงวิธีการพัฒนาสตาร์ทอัพของต่างประเทศก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรทำเช่นเดียวกัน ประเทศไทยหวังเดินหน้าพัฒนาธุรกิจด้วยอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมีความสำคัญก็จริง แต่การพัฒนานักธุรกิจไทยเองก็ไม่ควรมองข้ามเช่นเดียวกัน