ตามรายงานข่าวระบุว่า ดอนเข้าพบอองซานซูจีในวันอาทิตย์ (9 ก.ค.) และกล่าวว่าเขาอาจจะอ่าน “สารจากซูจี” ในวันพุธ (12 ก.ค.) ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน ทั้งนี้ การพบปะของดอนกับอองซานซูจีในครั้งนี้ นับเป็นการพบหน้ากับเป็นครั้งแรกที่ได้รับการยืนยันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสมาชิกอาเซียน กับผู้นำพลเรือนเมียนมาที่ถูกทำรัฐประหาร นับตั้งแต่อองซานซูจีถูกจับกุมตัวระหว่างการรัฐประหารเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
“เธอมีสุขภาพที่ดีและเป็นการหารือที่ดี” ดอนกล่าวกับผู้สื่อข่าวนอกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชาติอาเซียนเมื่อวันพุธ และระบุเสริมว่า “เธอส่งเสริมให้มีการเจรจา” ทั้งนี้ การหารือระหว่างดอนกับอองซานซูจี ซึ่งมีขึ้นก่อนการประชุมอาเซียนเพียง 2 วัน เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับการประชุมครั้งก่อน ที่ดอนเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ของเผด็จการทหารเมียนมา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสัญญาณถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทย ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับเผด็จการทหารเมียนมา
ในเดือน เม.ย. ดอน และ พรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ซึ่งต่อต้านการคว่ำบาตรระหว่างประเทศต่อเผด็จการเมียนมา เดินทางเยือนกรุงเนปิดอว์เพื่อเข้าพบกับ มินอ่องหล่ายน์ หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา อย่างไรก็ดี ดอนกล่าวกับผู้สื่อข่าวในการประชุมอาเซียนเมื่อวันพุธว่า เขายังคงสนับสนุน “การมีส่วนร่วมกับผู้มีอำนาจในเนปิดอว์” ซึ่งหมายถึงเผด็จการทหารเมียนมา
มีความเป็นไปได้ที่เผด็จการทหารเมียนมาจะอนุญาตให้อองซานซูจี ซึ่งขณะนี้รับโทษจำคุก 33 ปีในกรุงเนปิดอว์ สามารถพบปะกับผู้นำต่างประเทศ หรือแม้แต่ปล่อยตัวเธอออกจากเรือนจำตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กัน อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวอาจสร้างความไขว้เขวและบั่นทอนความตั้งใจ ที่จะมีการนำเผด็จการทหารเมียนมารับผิดชอบทางการทูตระหว่างประเทศ รวมทั้งสร้างความแตกแยกในขบวนการต่อต้านด้วยอาวุธ ที่กำลังดำเนินอยู่เพื่อต่อเผด็จการเมียนมา
ปัจจุบันนี้ ขบวนการต่อต้านส่วนใหญ่ได้รับการนำโดยสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ซึ่งให้การสนับสนุนและจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หลังจากการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา
อาเซียนยังคงไม่ให้ผู้นำกองทัพเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดและการประชุมบางรายการ เพื่อไม่ให้รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาในปัจจุบันได้รับความชอบธรรม ทั้งนี้ อาเซียนได้บรรลุฉันทามติ 5 ประหาร ในเวลา 2 เดือนหลังการรัฐประหารในปี 2564 โดยเรียกร้องให้เกิดการยุติความรุนแรงในเมียนมา การเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างกลุ่มรัฐประหารกับฝ่ายตรงข้าม และอนุญาตให้ทูตอาเซียน ซึ่งเป็นตัวแทนหมุนเวียนเป็นประธานของกลุ่ม เข้าพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้ง
อย่างไรก็ดี อาเซียนไม่ได้รับรองให้ NUG หรือกลุ่มฝ่ายค้านอื่นๆ ของเมียนมาเป็นตัวแทนอันชอบธรรมของประชาชนเมียนมา โดยในเดือน พ.ค. 2565 ไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย เข้าพบปะอย่างไม่เป็นทางการกับ ซินมาร์ออง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ NUG ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่การแสดงท่าทีสนับสนุนจากรัฐบาลอาเซียนที่มีต่อ NUG และกลุ่มที่ต่อต้านระบอบรัฐประหารนั้นแทบไม่เกิดขึ้น
แม้ว่าสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเมียนมาจะเลวร้ายลง และความคืบหน้าจะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ประการของอาเซียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ประเทศไทยได้ริเริ่มการประชุมอย่างไม่เป็นทางการหลายครั้ง ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเผด็จการทหารเมียนมาเข้าร่วมในฐานะตัวแทนของเมียนมา ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลไทย ที่จะบั่นทอนความพยายามของอาเซียนในการจัดการกับระบอบรัฐประหารของเมียนมา
ที่มา: