ไม่พบผลการค้นหา
ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ยังไม่ได้ข้อสรุปเปิดศึกซักฟอก ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านพร้อมเลี่ยงคำพูดที่รัฐบาลไม่สบายใจ หลังรัฐบาลวืดขอแก้ญัตติประเด็นฉีกรัฐธรรมนูญ

ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล, วิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน เพื่อกำหนดวันและเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยหลังการประชุมร่วมราว 1 ชั่วโมง ได้แยกให้แต่ละฝ่ายไปหารือเพื่อแจ้งกับประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในช่วงบ่าย ซึ่งตกลงกันเบื้องต้นว่า การอภิปรายจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน หากไม่เพียงพอก็ขยายเพิ่มอีก 1 วัน เพื่ออภิปรายต่อให้ครบถ้วนหรือลงมติ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 18 หรือ 19 กุมภาพันธ์กับจะเริ่มในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนคือตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์หลังหารือเบื้องต้นในช่วงเช้าว่า การประชุมเป็นไปด้วยดี ซึ่งการกำหนดวันอภิปรายจะต้องเผื่อไว้ 1 วันอาจจะเป็นวันที่ 24-27 กุมภาพันธ์และลงมติในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ส่วนประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการให้แก้ญัตติ การอภิปรายเกี่ยวกับการฉีกรัฐธรรมนูญของนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้แล้วนั้น ทางผู้นำฝ่ายค้านยืนยันว่าจะพยายาม หลีกเลี่ยงการพูดถึงประเด็นนี้ เพื่อให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นไปได้ด้วยดี โดยหลังจากนี้ทางวิปรัฐบาล จะได้หารือกันภายใน โดยเฉพาะต้องปรึกษากับนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะเดินทางมาร่วมประชุมในวิปฝ่ายรัฐบาลด้วย

ขณะที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน ระบุว่าฝ่ายค้านยังยืนยันที่จะไม่เห็นด้วยที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอ ว่าจะให้อภิปรายวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ เพราะฝ่ายค้านจะมีผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจจำนวนมาก และพยายามอภิปรายในกรอบ แต่อาจมีบางประเด็นที่ไม่สามารถลดราวาศอกกันได้ และอาจมีการประท้วงจากฝ่ายรัฐบาล ซึ่งทำให้เวลาอาจเพิ่มไปอีก ซึ่งเห็นว่าเป็นการบีบบังคับฝ่ายค้านมากเกินไป เนื่องจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นวันสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุม จึงได้เสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ขอให้เปิดอภิปรายในวันที่ 19 ถึงวันที่ 21 รวม 3 วัน หากอภิปรายยังไม่จบก็ต่อไปในวันที่ว่างได้อีก หากเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนก็ควรเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งวิปฝ่ายค้านจะนำมาปรึกษาหารือกันก่อนที่จะตอบประธานสภาผู้แทนราษฎรในช่วงบ่าย แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการขยายเวลาเป็นการประชุมวิสามัญ หลังจากปิดสมัยประชุมแล้วแน่นอน

สำหรับญัตติการอภิปราย ประธานสภาได้บรรจุเป็นวาระไว้แล้วและไม่สามารถแก้ไขได้ แต่หากตนเป็นผู้อภิปรายก็คงต้องเห็นแก่รัฐบาล โดยหลีกเลี่ยงหรือไม่อ่านในท่อนที่รัฐบาลไม่ชอบใจ ส่วนการกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อชนกันกับการประชุมวุฒิสภาหรือประชุม คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เป็นหน้าที่ของประธานสภา ที่จะต้องจัดการและเป็นหน้าที่ของ ครม.ที่จะเลื่อนวันประชุม ครม.ออกไป ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมาเป็นอันดับแรก

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ยืนยันว่า สิ่งที่ฝ่ายค้านกำหนดว่ามีการฉีกรัฐธรรมนูญนั้นจะบอกว่าไม่จริงก็ไม่ได้ และประธานสภาได้ระบุแล้วว่า เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องตอบคำถามฝ่ายค้านไม่ใช่มาแก้ไขญัตติ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลแต่เป็นหน้าที่ของประธานสภา ที่จะเป็นผู้กำหนดและได้บรรจุในระเบียบวาระไว้แล้ว อย่างไรก็ดีจากการเคยทำหน้าที่เป็นประธานสภา ในกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ถ้าฝ่ายค้านพูดไประยะหนึ่งแล้วมีฝ่ายรัฐบาลประท้วง และตกลงกันไม่ได้ฝ่ายรัฐบาลจะขอให้ประธานเลิกประชุมไม่ได้ เหมือนการอภิปรายทั่วไปเพราะจะต้องให้ฝ่ายค้านอภิปรายรัฐมนตรี ให้ครบทุกคนตามที่กำหนดไว้ไม่เช่นนั้นก็จะลงมติไม่ได้ ดังนั้นประธานสภาจะขอปิดการประชุมเพื่อลงมติ ทั้งที่การอภิปรายยังไม่ครบถ้วนจึงเป็นไปไม่ได้