ไม่พบผลการค้นหา
การนั่งไขว่ห้างมีหลากหลายมติ ตีความหมายแตกต่างกันในหลายบริบท ขณะที่งานวิจัยด้านสรีรศาสตร์ก็ยังเห็นไม่ตรงกันเท่าไรนัก แต่สิ่งแน่นอนคือ มันเป็นท่าโปรดของหลายคน

ขณะที่เริ่มเขียนบทความนี้ ผู้เขียนกำลังอยู่ในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง พร้อมกวาดสายตามองยังผู้คนรอบข้างภายในร้าน หลายคนไม่ว่าทั้งชายหรือหญิงมีท่าทางการนั่งที่แตกต่างกันไป แต่กลับเป็นน่าสังเกตว่า 'ท่านั่ง' ที่หลายคนมักแสดงออกโดยไม่รู้ตัวคือ การนั่งไขว่ห้าง หรือบางคนอาจเรียกว่า นั่งไขว้ขา (Crossing Legs) บางคนนั่งไขว่ห้างบนเก้าอี้บาร์ของร้าน บางคนนั่งไขว่ห้างพร้อมนำคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ควางบนหน้าตัก ขณะที่ผู้หญิงท่านหนึ่งกำลังนั่งไขว่ห้าง พร้อมหารือเรื่องงานด้วยท่าทีอันมั่นอกมั่นใจ ท่ามกลางบทสนทนาออกรส

การนั่งไขว่ห้าง นอกจากเป็นหนึ่งในท่านั่งโดยทั่วไปของมนุษย์แล้ว ยังสามารถมองได้ทั้งเชิงพฤติกรรมศาสตร์ในแง่อวัจนภาษา และเชิงสรีรศาสตร์ด้านร่างกาย

เริ่มที่ในแง่พฤติกรรมศาสตร์ ข้อมูลจากเว็บไซต์บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์บางแห่งในต่างประเทศระบุว่า การนั่งไขว่ห้างเป็นหนึ่งในท่านั่งที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างสัมภาษณ์งาน เนื่องจากเป็นภาษากาย (Body Language) ที่อาจทำให้คู่สนทนาเข้าใจผิดได้ ในแง่บ่งบอกถึงทัศนคติแบบ 'ปิด' ประหม่าหรือปกป้องตนเอง แต่ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์บางแห่งกลับมองว่า ไม่มีตำราการสัมภาษณ์งานไหนกำหนดว่า การนั่งไขว่ห้างเป็นท่านั่งต้องห้าม หากว่าการนั่งเช่นนี้จะทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ประหม่า เป็นตัวเองและเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น ผนวกกับองค์ประกอบอื่นๆ ในระหว่างการสัมภาษณ์จะยิ่งทำให้ดึงดูดน่าสนใจและดูเป็นมืออาชีพมากขึ้นเช่นกัน

สตีเวน คีล (Steven Keyl) นักพฤติกรรมศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากาย และผู้เขียนหนังสือ "The Human Whisperer: Mastering The Art of Understanding, Connecting with and Influencing Others" หรือ "The Human Whisperer": การเรียนรู้ศิลปะแห่งความเข้าใจการเชื่อมต่อและการมีอิทธิพลต่อผู้อื่น" อธิบายกับเว็บอินไซต์เดอร์ว่า ท่านั่งไขว่ห้างเป็นหนึ่งในภาษากายที่หลายคนมักตีความผิดในบริบทที่แตกต่างกันออกไป

อังเกลา แมร์เคิล-ปูติน

เขากล่าวว่า "การนั่งไขว้ขา หรือไขว่ห้างอาจเป็นสัญญาณของท่าทางที่ทำให้ถูกสับสนได้ง่าย บางคนมองว่าการนั่งไขว่ห้างอาจเป็นท่านั่งไม่สุภาพ สะท้อนถึงคนๆ นั้นกำลังมีทัศนคติแบบปิดหรือปกป้องตนเอง (Defensive Behavior) แต่บางคนกลับเห็นว่าเป็นท่านั่งที่สะท้อนการเปิดกว้าง แสดงถึงท่าทีอันผ่อนคลาย บุคลิกมั่นใจในตัวเอง ขึ้นอยู่กับบริบทของการสนทนาและการวางตำแหน่งขา อาทิ หากคนหนึ่งยืนไขว้ขาแล้วทิ้งน้ำหนักตัวลงขาอีกข้าง หรือ หากนั่งไขว้ห้างแล้วทิ้งตัวลงบนเก้าอี้แบบเต็มตัว ส่วนขาของคุณกำลังไขว้กันแบบหลวมๆ สะท้อนถึงท่าทางอันผ่อนคลาย สบายๆ เปิดกว้าง รับฟัง

แต่หากคุณกำลังนั่งไขว่ห้างพร้อมกอดอก หรือประสานมือสองข้างซุกระหว่างขา อาจกำลังสะท้อนทัศนคติแบบปิด ในบริบทด้านธุรกิจหากคู่สนทนากำลังนั่งท่านี้ในระหว่างพูดคุย มีโอกาสสูงจะถูกปฏิเสธข้อเสนอมากกว่าคนนั่งท่าทางปกติอย่างนั่งอ้าขา หรือไขว้ขาแบบหลวมๆ ในข้างต้น แต่การนั่งไขว่ห้างกอดอก อาจกำลังหมายถึงว่าคุณกำลังใช้ความคิดเช่นกัน

โจ นาวาร์โร (Joe Navarro) อดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอเกษียณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบสวน และการอ่านพฤติกรรมมนุษย์ อธิบายผ่านเว็บไซต์ ว่า ท่านั่งไขว่ห้างเป็นพฤติกรรมอันซับซ้อนที่สามารถสะท้อนความคิดของคนๆ ได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับบริบท เขาเผยว่า จากประสบการณ์การสอบสวนในอดีต ไม่ควรรีบตัดสินทัศนคติของคนๆ นั้นด้วยเพียงแค่ท่านั่งหรือภาษากายเช่นเดียวกับท่าทางกอดอก การนั่งไขว่ห้างยังเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนบุคลิกภาพส่วนตัวของแต่ละคนด้วย การนั่งไขว่ห้างอาจสื่อได้ทั้งแง่ลบและแง่บวก แต่โดยส่วนใหญ่มักสะท้อนผ่านแง่บวกมากกว่า คนที่ติดนิสัยนั่งไขว่ห้างมักเป็นผู้ใช้ความคิดมากกว่าเพ้อฝันหรือจินตนาการ สะท้อนถึงบุคลิกของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง สมาร์ท เข้าสังคมได้ดีชอบสร้างมิตรภาพพบปะผู้คนหลากหลาย ในบางรายอาจสะท้อนว่าคุณเป็นนักเจรจาอันยอดเยี่ยมและชาญฉลาด 

ตอนหนึ่งในงานวิจัยเรื่องพฤติกรรมมนุษย์ที่แสดงออกผ่านท่าทางขาและเท้า ของพอล เอ็คแมน (Paul Ekman) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน และศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ระบุว่า พฤติกรรมที่เราแสดงออกผ่านขาและเท้าสามารถเผยความจริงบางอย่างได้ หนึ่งในนั้นคือ การนั่งไขว้ขาที่อาจสะท้อนนัยยะ อาทิ ความสมาร์ท กำลังใช้ความคิด ความเป็นมืออาชีพของบุคคลนั้นๆ หรือบางที การนั่งไขว่หางอาจไม่ได้สื่อนัยยะด้านพฤติกรรมหรือสะท้อนบุคลิกใดๆ เป็นเพียงแค่ท่านั่งสบายๆ ที่คุณพยายามผ่อนคลายความเมื่อยล้าพร้อมๆ กับการใช้ความคิดไปด้วยเท่านั้น


ไขว้ขาอเมริกัน หรือ ยุโรป?

หนังสือThe Definitive Book of Body Language โดย อลัน และ บาบารา พีซ (Allan, Barbara Pease) ระบุว่า การนั่งไขว่ห้างหรือไขว้ขา แบบออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ คือแบบยุโรป (European Leg Cross) และแบบอเมริกัน (The American Figure Four) 70% ของคนส่วนใหญ่มักใช้ขาด้านซ้ายไขว้ขาด้านขวามากที่สุด ท่านั่งนี้เป็นพฤติกรรมที่ชาวเอเชียและชาวยุโรปมักติดเป็นนิสัย โดยท่านั่งไขว้แบบยุโรป คือการนั่งแบบที่ขาทั้งสองข้างประชิดติดกัน

ไขว้ห้าง-ไขว้ขา
  • The Definitive Book of Body Language (Random House, 2008)

ส่วนท่านั่งไขว้แบบอเมริกัน จะอยู่ในลักษณะไขว้ขาแบบหลวมๆ ปลายขาที่ใกล้ส่วนข้อเท้าอยู่บริเวณหัวเข่าของขาอีกข้างในลักษณคล้ายตัวเลขสี่ ผู้คนในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มักติดพฤติกรรมนั่งด้วยท่าทางทั้งสองแบบ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บรรดานาซีมักหลีกเลี่ยงการใช้ท่านั่งแบบ American Figure Four เนื่องจากอาจถูกต้องสงสัยได้ว่าไม่ใช่ชาวเยอรมัน แต่หากคุณกำลังนั่งด้วยท่าไขว้แบบอเมริกันพร้อมใช้มือสองของจับขาที่พาดอยู่ด้านบน อาจกำลังสื่อถึงว่าคุณกำลังปิดกั้นทุกความคิดเห็นในบทสนทนา

จอห์น เอฟ เคเนดี้
  • ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคเนดี้ กับท่านั่งไขว้แบบอเมริกัน

ในสหราชอาณาจักรและยุโรป โดยเฉพาะคนสูงวัยมักมองว่าท่านั่งแบบอเมริกันไม่สุภาพ ตรงข้ามกับวัฒนธรรมบางประเทศอย่างรัสเซียหรือญี่ปุ่นที่บางคนยอมรับท่านั่งเช่นนี้ผ่านการเสพสื่ออเมริกัน ท่านั่งไขว้ขาสไตล์อเมริกันยังแฝงนัยยะของความเป็นใหญ่ในเพศชายด้วย ขณะที่บางวัฒนธรรมในเอเชียเช่นในตะวันออกกลาง หรือเอเชียอาคเนย์ สามารถมองในแง่ลบได้ว่าเป็นท่านั่งไม่สุภาพ เนื่องจากเท้าเป็นของต่ำและอาจเป็นพฤติกรรมแสดงการดูถูก

บารัก โอบามา


นักการเมืองกับภาษากาย

พูดถึงท่านั่งไขว่ห้าง เรามักเห็นบรรดานักการเมืองชาติมหาอำนาจนั่งไขว้ขาในระหว่างการหารือเจรจากับแบบสบายๆ ในอดีตมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายต่อหลายคนที่ติดนิสัยนั่งไขว้ขา ตั้งแต่ จอห์น เอฟเคนเนดี้, ริชาร์ด นิกสัน , โรนัลด์ เรแกน ,จอร์จ บุช ซีเนียร์, จอร์จ เอช ดับเบิ้ลยู บูช, บิล คลินตัน จนถึงบารัก โอบามาโดยเฉพาะอดีตผู้นำสหรัฐคนที่ 44 รายนี้ นิยมนั่งไขว่ห้างขณะหารือไปจนถึงยืดขาไปพาดบนโต๊ะทำงาน

แม้นักการเมืองหลายคนมักติดท่านั่งไขว้ขาเวลาหารือพูดคุยแบบสบายๆ ในบางวัฒนธรรมอาจตีความหมายในอีกแง่หนึ่ง เช่นครั้งนึงที่ระหว่างที่โอบามากำลังโทรศัพท์หารือกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ทำเนียบขาวได้ปล่อยภาพของเขาในอิริยาบถสบายๆ ด้วยการยืดเหยียดไขว้ขาวางพาดบนโต๊ะทำงานประจำตำแหน่งในห้องทำงานรูปไข่ ภาพนั้นสร้างข้อถกเถียงในเชิงตำหนิอย่างมากสำหรับชาวอิสราเอล ซึ่งมองว่าไม่ให้เกียรติและการใช้เท้าในลักษณะนั้นเป็นการดูถูกในวัฒนธรรมแถบตะวันออกกลาง

โอบามา

เช่นเดียวกับเมื่อปี 2552 มาห์มูด อามาดิเนจาด สมัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่าน ให้การต้อนรับ Peter Tejler เอกอัครราชทูตสวีเดนคนใหม่ Asriran.com เว็บไซต์สื่อท้องถิ่นรายงานว่าระหว่างการหารือที่ทำเนียบในกรุงเตหะราน ทูตสวีเดนนั่งไขว่ห้างด้วยอิริยาบถสบายๆ สร้างความไม่พอใจกับผู้นำอิหร่านเนื่องจากปลายเท้าชี้ไปทางที่นั่งของอามาดิเนจาด

แม้ไม่มีความชัดเจนว่าผู้นำอิหร่านรู้สึกอย่างไรต่อท่านั่งของทูตต่างชาติ แต่รายงานของเว็บไซต์อิหร่านอ้างว่าการนั่งไขว้ขาลักษณะนี้ "ขัดต่อบรรทัดฐานทางการทูตระหว่างประเทศ" ภาพข่าวจากสื่อทางการอิหร่านแสดงให้เห็นว่าผู้นำอิหร่านก็ตอบสนองด้วยการนั่งไขว้ขาเช่นเดียวกัน เว็บไซต์ Panorama ของอาร์เมเนียแปลรายงานของเว็บไซต์อิหร่านโดยอธิบายว่า "การนั่งไขว้ขาของผู้นำอิหร่านก็เพื่อตอบสนองต่อความไม่สุภาพของคู่สนทนาของเขา"

ย้อนกลับมาที่ผู้นำสหรัฐฯ น้อยครั้งที่จะเห็นอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั่งไขว้ขา ท่านั่งประจำของทรัมป์คือการนั่งอ้าขา พร้อมพร้อมสานมือแบบหลวมระหว่างขาทั้งสองขา ตรงข้ามกับโอบามาที่มักนั่งไขว้ขาเวลาหารือกับผู้นำต่างชาติ หรือระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

โอบามา-เมดเวเดฟ


สรีรศาสตร์

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือบริบทใดก็ตาม การนั่งไขว่ห้างหรือนั่งไขว้ขาตามหลักสรีรศาสตร์เป็นสิ่งไม่ควรอย่างยิ่งไม่ว่าจะด้วยแบบยุโรปหรืออเมริกัน เนื่องจากเป็นท่านั่งที่ผิดธรรมชาติ 

มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่า การติดนิสัยนั่งไขว่ห้างเป็นเวลานานๆ ต่อเนื่องนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ นายแพทย์ สตีเวน เวนิเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านท่าทาง อธิบายว่าการนั่งลักษณะนี้มีผลโดยตรงต่อความดันเลือด อีกทั้งอาจส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลายรูปแบบตามมา ทำให้เกิดแรงกดทับเส้นประสาทในส่วนหนึ่งของระบบประสาทที่รับความรู้สึกตั้งแต่หัวเข่าลงไป เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis Syndrome) ไปจนถึงเส้นเลือดขอด

การศึกษาใน Journal of Physical Therapy Science เผยว่า คนทั่วไปมักนิยมใช้ขาขวาทับขาข้างซ้าย เวนิเกอร์เปรียบเทียบว่าท่านั่งแบบนี้ไม่เพียงแค่กระทบต่อสะโพก แต่ยังส่งผลถึงอุ้งเชิงกรานและระบบกล้ามเนื้อทั้งหมดของร่างกาย

"ลองเปรียบเทียบเสื้อเชิ้ตที่มีรอยยับขณะที่คุณนั่งท่านี้...ในร่างกายมันเป็นแบบเดียวกัน ต่างตรงที่มันเป็นกล้ามเนื้อหลายชั้นที่เชื่อมต่อกับสรีระอื่นๆ" 

ผู้เชี่ยวชาญด้านท่าทางแนะว่า หากการนั่งไขว้ขาหรือไขว่ห้างเป็นอิริยาบถแบบสบายๆ ที่คุณติดเป็นนิสัยไปแล้ว อย่าลืมสลับข้างหรือเปลี่ยนท่านั่งแบบอื่นทุกๆ 8-10 นาที 

บีบีซีฟิวเจอร์ เผยในตอนหนึ่งของบทความเรื่องการนั่งไขว้ขาว่า การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าคนที่นั่งไขว่ห้างมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มลำตัวเอนไปข้างหน้าโดยไม่รู้ตัวและห่อไหล่ แต่การวิจัยนี้อาศัยการประมาณค่าของผู้คนว่าพวกเขาไขว้ขาเป็นเวลานานเท่าใด

อย่างไรก็ตาม ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่าการนั่งไขว้ขาอาจเป็นประโยชน์เชิงสรีรศาสตร์เช่นกัน การวิจัยของทั้งชายและหญิงพบว่า หากนั่งในท่าทางที่ถูกต้องจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อสะโพก (Piriformis) ยืดตัวมากขึ้น

ถึงจุดนี้ผู้เขียนเพิ่งสังเกตตนเองว่า กำลังเขียนบทความนี้ด้วยท่านั่งไขว่ห้างตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งยังเชื่อว่าคุณผู้อ่านบางท่านก็อาจกำลังนั่งอ่านบทความนี้ด้วยท่าไขว่ห้างเช่นกัน

ทีี่มา: meditechsolution , westsidetoastmasters , psychmechanics , eurekalert , ncbi , owlcation , Timesofindia