สัญญาณของการเลือกตั้งท้องถิ่น ล่าสุด 17 ธ.ค. 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หลังจากที่การองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยถูกแช่แข็ง ตั้งแต่ปี 2557 ด้วย มาตรา 44 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 ล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่
สำหรับสาระที่สำคัญ อาทิ ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ 3 ให้ยกเลิก ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ.ศ.2554, ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554, ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554, ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556, ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2556, ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น(ฉบับที่ 6) พ.ศ.2556, ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2557, ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2554, ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง มอบอำนาจให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดดำเนินการรับคำร้องและวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2552
หมวด 1 บททั่วไป ส่วนที่ 1 การประกาศให้มีการเลือกตั้ง ก่อนวันครบวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไม่น้อยกว่าหกสิบวัน หรือกรณีที่จะต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเพราะเหตุอื่นใด นอกจากครบวาระให้หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นนั้นแจ้งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบ เพื่อเตรียมการจัดให้มีการเลือกตั้งและให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดรายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยเร็ว
หมวด 2 เขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้ง และที่เลือกตั้ง ส่วนที่ 1 เขตเลือกตั้ง ข้อ 12 เขตเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1)การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ให้ถือเขตเป็นเขตเลือกตั้ง ถ้าเขตใดมีจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งเกินหนึ่งแสนห้าหมื่นคนให้แบ่งเขตนั้นออกเป็นเขตเลือกตั้งตามจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่จะพึงมี โดยแต่ละเขตเลือกตั้งต้องมีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกัน สำหรับจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่จะพึงมีในแต่ละเขตให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
(2) การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้ถือเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง ในกรณีที่อำเภอใดมีสมาชิกได้เกินกว่าหนึ่งคน ให้แบ่งเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้งเท่ากับจำนวนสมาชิกที่จะพึงมีในอำเภอนั้น และมีสมาชิกเขตเลือกตั้งละหนึ่งคน สำหรับจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะพึงมีในแต่ละอำเภอให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นต้น
ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาล ข้อ 231 กำหนดว่า ภายหลังระเบียบนี้มีผลใช้บังคับให้หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นดำเนินการสรรหา บุคคลเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ดำเนินการตามหมวด 3 เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ส่วนที่ 2 คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น เพื่อเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้แล้วเสร็จก่อนประกาศให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญาณของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้
อย่างไรก็ดี โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ เปิดเผยว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้ จะต้องรอการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2562 แต่ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ กลับมีบทเฉพาะกาล มาตรา 142 ที่กำหนดว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นฯ ตามกฎหมายนี้ จะจัดขึ้น เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นสมควร ให้มีการเลือกตั้งได้ในท้องถิ่นใด และได้แจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ และเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ให้ประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เกี่ยวกับการงดการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจำนวนเจ็ดฉบับจะถูกยกเลิกไป
ทั้งนี้ หาก คสช. สิ้นสภาพไปแล้ว อำนาจของ คสช. นั้นก็ให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันยังคงอยู่ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยเป็นหัวหน้า คสช.