ยังสร้างปรากฏการณ์การลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) 23 ข้อ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกล เป็น เกณฑ์ “ขั้นต่ำ” ให้พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคปฏิบัติตาม ประหนึ่งไม่เคยมีรัฐบาลไหนในประเทศไทยเคยทำมาก่อน
ที่สำคัญ ยังมีต่อท้ายอีก 5 ข้อ แนบท้ายเป็น “แนวปฏิบัติการบริหารประเทศ” สไตล์ก้าวไกล
1.ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน
2.ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชั่น ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้น ๆ ทันที
3.ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง
4.ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง
5.ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง
อย่างไรก็ตาม แม้พรรคก้าวไกล จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลพรรคแรกที่ริเริ่มให้พรรคการเมืองที่จะตั้งรัฐบาลร่วมกัน “เซ็นเอ็มโอยู” มีพิธีกรรมลงนามอย่างยิ่งใหญ่ ใจกลางกรุง
แต่ในอดีตก็เคยมีรัฐบาลที่พยายามทำในลักษณะใกล้เคียงกัน
ครั้งนั้นไม่ได้เรียกว่า “เอ็มโอยู”
กลับเรียก “กฎเหล็ก” 9 ข้อ
นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นคือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
”ผมจึงวางแนวทางการทำงาน 9 ข้อ ซึ่งสื่อมวลชนเรียกกันว่า กฎเหล็ก 9 ข้อเพื่อยกระดับบรรทัดฐานทางการเมือง. ให้ความรับผิดชอบทางการเมืองอยู่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนเจ็บปวดกับรัฐบาลในอดีตว่า ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ยอมรับการตรวจสอบ เมื่อมีโอกาสได้บริหารประเทศ ผมจึงพยายามพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นถึงความแตกต่างระหว่างรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ กับรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองอื่นเป็นแกนนำว่ามีความแตกต่างด้านจริยธรรมอย่างไร” อภิสิทธิ์ ระบุเหตุผลการมีกฎเหล็ก 9 ข้อ
พรรคร่วมรัฐบาลในเวลานั้นประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคกิจสังคม พรรคมาตุภูมิ ได้รับทราบกฎเหล็กทั้ง 9 ข้อ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2551
“อภิสิทธิ์” แจ้งแนวทางการทำงานร่วมกันแก่คณะรัฐมนตรี 9 ข้อ เพื่อยึดถือปฏิบัติ
“โดยต้องตระหนักว่า ทุกคนเข้ามาบริหารบ้านเมืองในภาวะวิกฤติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และก็ไม่ได้เข้ามาในภาวะเลือกตั้งทั่วไป แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างอายุของสภา” ดังนี้...
1.ให้ ครม.น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้ ครม. เมื่อวันที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะที่พระองค์ทรงเน้นเรื่องการปฏิบัติงานให้เกิดความเรียบร้อย และเกิดความสุขในหมู่ประชาชน
2.เน้นกับ ครม.เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด เพราะเมื่อใดรัฐบาลไม่สามารถบริหารอยู่บนความซื่อสัตย์สุจริตได้ ก็จะเป็นปัญหาทางการเมืองและปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล และบางครั้งนำไปสู่ความสูญเสียอธิปไตยด้วยซ้ำ ที่สำคัญจะต้องดูแลไปถึงผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคลากรที่มาช่วยงาน
3.ยึดนโยบายที่ ครม.แถลงต่อสภาในการทำงาน ถ้ารัฐมนตรีที่จะไปกำหนดนโยบาย เพิ่มในระดับกระทรวง หรือแม้แต่การแสดงความคิดเห็นในเชิงนโยบาย ขอให้อ้างอิงนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ
4.การทำงานของรัฐบาลต้องรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและความเป็นเอกภาพ แม้เป็นรัฐบาลผสม แต่เราต้องไม่เป็นรัฐบาลที่แบ่งพรรค ต้องเป็นรัฐบาลที่รับผิดชอบร่วมกัน ปัญหาในประเทศหลายอย่างในขณะนี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง
ดังนั้นการประสานงานระหว่างกระทรวงเป็นเรื่องสำคัญ หมายถึงบทบาทของการมีระบบคณะกรรมการ จึงขอให้ ครม.เห็นความสำคัญของระบบการทำงานแบบคณะกรรมการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะต้องแก้วิกฤติ
5.รัฐบาลนี้อยู่ในวิถีทางรัฐสภา รัฐมนตรีทุกคนต้องเข้าร่วมประชุมสภาอย่างสม่ำเสมอ ไปรับฟังความเห็นของ ส.ส. ทั้งการอภิปรายในสภา หรือพบปะพูดคุยกับ ส.ส.ในพื้นที่ต่างๆ ที่สำคัญที่สุดรัฐมนตรีต้องทราบเวลาที่ชัดเจนเรื่องกระทู้ถามสดคือ 13.30 น. ของทุกวันพฤหัสบดี จึงขอให้รัฐมนตรีไม่มีภารกิจนัดหมายใดๆ ยกเว้นกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ
6.รัฐมนตรีทุกคนถือเป็นบุคคลสาธารณะ ขอให้รัฐมนตรีปฏิบัติโดยคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน
7.ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม การดำเนินนโยบายหรือโครงการที่ยังไม่เป็นที่รับทราบของประชาชน ขอให้อดทนและอย่าตั้งแง่ต่อการเข้าไปรับฟังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการประชาพิจารณ์ หรืออะไรก็ตาม.
8. รัฐบาลชุดนี้ต้องพร้อมรับการตรวจสอบ จะมีการตรวจสอบเชิงนโยบายหรือเรื่องอื่น ๆ รัฐมนตรีต้องไม่สร้างอุปสรรค ขัดขวางการตรวจสอบ อยากขอว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการตรวจสอบลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ หรือการสัมภาษณ์ขอให้ชี้แจงโดยใช้เหตุผล ข้อเท็จจริง หลีกเลี่ยงการนำรัฐบาลหรือตัวเองเข้าไปตอบโต้หรือทะเลาะ
9.รัฐมนตรีไม่มีสิทธิเหนือประชาชนคนอื่นในแง่ของการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้นจะต้องสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมายด้วย
ทว่า กฎเหล็ก 9 ข้อ ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ กลับไม่ “ศักดิ์สิทธิ์” พอ
แม้ในระหว่างที่เป็นรัฐบาล จะมีรัฐมนตรีหลายคนที่ต้องลาออกจากตำแหน่ง คล้ายๆ สังเวยกฎเหล็ก 9 ข้อ โดยเฉพาะรัฐมนตรีในพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อมีกลิ่นทุจริตโชยก็จะแสดงสปีริตลาออก เช่น วิฑูรย์ นามบุตร ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากกรณี “ปลากระป๋องเน่า”
กรณี “วิทยา แก้วภราดัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากกรณีทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง
หรือ บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ถูกกดดันให้ต้องลาออกจาก รมช.มหาดไทย โควตาพรรคภูมิไจไทย เพื่อไปลงเลือกตั้งซ่อม กระทั่งติดสติ๊กเกอร์หน้าประตูห้องทำงาน มท.2 ในขณะนั้นว่า “ท้อได้...แต่อย่าถอย” ก่อนจะชนะเลือกตั้งแล้วกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง
แต่หลังการสิ้นสุดรัฐบาลอภิสิทธิ์ กลับมีข่าวถูกโยงเรื่องทุจริต เช่น ทุจริตโรงพักทดแทน 396 แห่ง มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในฐานะรองนายกฯ ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตกเป็นจำเลย สู้คดีกันมานานเป็นทศวรรษ ในที่สุด “สุเทพ” ก็พ้นมลทิน เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกคำร้อง
นอกจากนี้ ยังมีคดีที่อยู่ในการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันนี้ อาทิ
กรณีกล่าวหา พรทิวา นาคาศัย หรือ พรทิวา นิพาริน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก ในการระบายมันลำปะหลัง ตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2551/2552 ครั้งที่ 9 เพื่อใช้ภายในประเทศ
กรณีกล่าวหา ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก ในการระบายมันสำปะหลังเส้นตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2551/2552 โดยการทำสัญญาซื้อขายแบบจีทูจี
เมื่อกฎเหล็ก 9 ข้อ ในยุคอภิสิทธิ์ เมื่อกว่า 15 ปี ที่แล้วไม่ได้ผล
15 ปีต่อมา ลอง MOU ก้าวไกลดูสักตั้ง แต่ห้ามซ้ำรอยเดิม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง