250 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร เป็นผู้คัดเลือก และมีอำนาจโหวตเห็นผู้สมควรเป็น นายกรัฐมนตรี
โดย ส.ว.ชุดปัจจุบันที่มาจาก คสช.ได้ลงมติเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 249 เสียง งดออกเสียง 1 (ประธานวุฒิสภา ยึดมารยาทการเมืองไม่ลงคะแนน) จัดแถลงผลงานอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565
'วอยซ์' ลองคำนวณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับ "สภาปรสิต" ซึ่งเป็นฉายาประจำปี 2563 ที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาเคยให้ไว้ ดังนี้
โดยนิทรรศการผลงาน 3 ปี ถูกจัดหน้าห้องประชุมวุฒิสภา มีการนำเสนอบอร์ดสรุปผลการทำงานของส.ว. ระหว่างวันที่ 11 พ.ค. 2562 - 11 พ.ค. 2565 โดยมีรายละเอียด คือ
เมื่อลองสืบค้น พ.ร.บ.งบประมาณเล่มที่ 13 หน่วยงานรัฐสภา ในส่วนสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ประกอบกับ คู่มือสิทธิประโยชน์ของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ 2562 ในส่วนของเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม จะพบว่า รายละเอียดงบประมาณสำหรับ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี มีโดยสังเขป ดังนี้
รวมค่าใช้จ่ายเงินเดือน 250 ส.ว. ตลอด 3 ปี อยู่ที่ 1,017 ล้านบาท หรือตกปีละ 339 ล้านบาท
ตามคู่มือสิทธิประโยชน์ ส.ว. ยังกำหนดให้ ส.ว.มี 1 คน จะมีทีมงานติดตามได้ไม่น้อยกว่า 7 คน และทีมงานของกรรมาธิการ เช่น ตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ว. 2 คน ค่าตอบแทนคนละ 15,000 บาท
ผู้ชำนาญการประจำตัว ส.ว. 2 คน ค่าตอบแทนคนละ 15,000 บาท ผู้ช่วยดำเนินงาน ส.ว. 5 คน ค่าตอบแทนคนละ 15,000 บาท ที่ปรึกษา 4 คน ค่าตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท นักวิชาการ 4 คน ค่าตอบแทนเดือนละ 18,000 บาท เลขานุการ 2 คน ค่าตอบแทน 15,00 บาท
รวมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ตลอด 3 ปี อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท หรือตกปีละ 400 ล้านบาท
สำหรับกลไกสำคัญในระบอบรัฐสภาอย่างกรรมาธิการ ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 กำหนดให้มี กมธ.ประจำวุฒิสภา 27 คณะ มี ส.ว.สังกัดประมาณ 13-19 คน (ไม่นับกมธ.วิสามัญ) และมีอำนาจสามารถตั้งคณะอนุกรรมาธิการ ตามคู่มือสิทธิประโยชน์ฯระบุว่า กมธ. จะได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,500 บาท และอนุกมธ. ครั้งละ 800 บาท ตลอดจนค่าอาหารสำหรับวันประชุม ส.ว. และวันประชุม กมธ.
พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ตกปีละ 50 ล้านบาทโดยประมาณ รวม 3 ปี 150 ล้านบาท โดยประมาณ รวมค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ๆ จะตกปีละ 790 ล้านบาท
รวม 3 ปีไม่น้อยกว่า 2,367 ล้านบาท ประชุมครั้งละ 16,907,142 บาท ชั่วโมงละ 2,765,186 บาท นาทีละ 46,095 บาท
สำหรับงบประมาณการจัดแถลงผลงานไม่เป็นที่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะมีหลักหลายล้านบาท เนื่องจากภายในงานมีการสร้างแบบจำลองแบบ metaverse ท่ามกลางข้อสงสัยว่า เกี่ยวข้องกับผลงานของ ส.ว. อย่างไร หรือก่อให้เกิดประโยชน์อันใด
ตัวชี้วัดความคุ้มค่า การจัดแสดงผลงาน 3 ปี ส.ว. ได้จาก engagement ในเฟซบุ๊กเพจ "วุฒิสภา" ที่มีการไลฟ์ตลอดกิจกรรม มีจำนวนผู้รับชมทั้งสิ้น 3.8k ยอด Like 190 ครั้ง แชร์ 628 ครั้ง แสดงความคิดเห็น 67 ครั้ง
และเกือบทั้งหมดมีลักษณะเป็นการ "เช็คชื่อ" จากส่วนราชการ "สำนักงานจังหวัด...เข้าร่วมรับฟัง ครับ/ค่ะ" นี่คือผลงานที่ 250 ส.ว. จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.
ขณะเดียวกันผลงานที่เกิดขึ้น และสร้างความคลางแคงใจให้สังคมอย่างมาก คือ การลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อกลางปี 2564 ทั้ง 13 ฉบับ โดย ส.ว. คือ หนึ่งในเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องให้ความเห็นชอบ 1 ใน 3 ในการพิจารณาวาระแรก
ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมามีเพียงร่างเดียวที่ผ่าน คือ การเปิดทางให้แก้ระบบเลือกตั้ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ส.ส. ในทางกลับกันร่างแก้ไขอื่นที่มาจากการขับเคลื่อนของภาคประชาชนที่ให้ปิดสวิตช์ ส.ว. เลือกนายกฯ หรือจัดการมรดก คสช. นั้น ส.ว. คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปทั้งสิ้น
ผลงานตลอด 3 ปีของ ส.ว. ดูจะยึดกับ พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่าประชาชนที่กำลังต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ และต้องจ่ายภาษีให้พวกเขาเกือบพันล้านบาทต่อปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง