หลังจากมีข่าวเมื่อเย็นวันที่ 7 มี.ค. 2564 ว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจำนวน 22 คน ซึ่งถูกจับกุมคุมขังในเรือนจำเพชรบุรี ในข้อหาบุกรุกป่าแก่งกระจานด้วยการแผ้วถางทำไร่จำนวน 30 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 157 ไร่ ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ปี 2562 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในระหว่างที่ทนายความกำลังรวบรวมหลักทรัพย์กว่า 1.3 ล้านบาทยื่นประกันตัว
ภาพหลังจากชาวกะเหรี่ยง 22 คนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ภาพจาก ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย
‘วอยซ์’ สอบถาม อภิสิทธิ์ เจริญสุข ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ดูแลชาวบ้านที่ถูกจับกุม ได้ความว่าชาวบ้านที่ถูกจับกุม 22 คน ถูกปล่อยออกจากเรือนจำกลางเพชรบุรี รวมถึงชาวบ้านอีก 8 คนที่ตามจับไม่ได้ ตอนนี้เตรียมกลับไปอยู่ที่ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจัดไว้ให้ คือ หมู่บ้านบางกลอยล่าง ในวันที่พรุ่งนี้ (9 มี.ค. 2564) เพราะเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวหรือห้ามกลับขึ้นไปที่หมู่บ้านบางกลอยบน (ใจแผ่นดิน ที่บรรพบุรุษ)
วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความของชาวบ้าน จากสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า สำนักข่าว ‘The Active’ วานนี้ (7 มี.ค. 64) ว่า ยังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะไปขอดูสำนวนที่ศาลในวันนี้ (8 มี.ค. 64)
“ความเป็นไปได้ของการปล่อยตัวครั้งมีอยู่ 2 กรณี คือ 1.พนักงานสอบสวนอาจขอถอนคำร้องฝากขัง เนื่องจากเห็นว่าไม่เหตุจำเป็น และผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้พิจารณาปล่อยตัว 2.ชาวบ้านอาจได้รับการประกันตัว ซึ่งเมื่อวานนี้แม้เป็นวันหยุด แต่ศาลเปิดทำการครึ่งวัน อาจมีผู้ไปยื่นประกันตัว จนนำมาสู่การปล่อยตัว” ทนายวราภรณ์กล่าว
อภิสิทธิ์เล่าว่า ตอนนี้ชาวบ้านทั้งหมด รวมถึงผู้ที่ถูกจับกุมกังวลเรื่องอาหารที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากที่ที่อุทยานฯ จัดให้ทำไร่ เพาะปลูกไม่ได้เพราะดินเป็นดินปนหิน อีกทั้งกังวลว่าที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอกับจำนวนชาวบ้าน รวมถึงหากไปทำงานรับจ้างก็อาจจะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และอาจถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ เพียงเพราะเป็นชาวกะเหรี่ยง
“ตอนนี้ชาวบ้านกังวลว่าชีวิตจะยากลำบากเหมือนช่วงโควิด-19 ระบาดเมื่อปลายปี 2563 ที่ชาวบ้านไม่มีงานทำ อีกทั้งเพาะปลูกอาหารไม่ได้ จนทำให้ชาวบ้านตัดสินใจหนีความลำบากกลับถึงไปอยู่ที่ที่บรรพบุรุษที่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ หาของป่ากินได้” อภิสิทธิ์กล่าว
อภิสิทธิ์เล่าต่อว่าเรื่องที่อยู่อาศัยในที่ที่อุทยานฯ จัดให้ก็ไม่เพียงพอต่อจำนวนชาวบ้าน
“ครั้งก่อนเคยมีบ้านหลังหนึ่งชาวบ้าน 7 ครอบครัวอาศัยอยู่รวมกัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ชายและหญิง ไม่รู้ว่าครั้งนี้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จะดูแล เยียวยาเรื่องที่อยู่อาศัยเราหรือไม่ เพราะตอนนี้ที่ที่อุทยานฯ จัดให้ไม่ต่างกับศูนย์อพยพ” อภิสิทธิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม อภิสิทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีทางเลือก ก็จำเป็นต้องอยู่ในที่ที่อุทยานฯ ก่อน ส่วนเรื่องอาหารในช่วงแรก ก็คงต้องรอว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จะจัดหาให้หรือไม่ เพราะตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหน องค์กรใดเสนอการช่วยเหลือในช่วงแรกนี้
สุริชัย หวันเเก้ว กรรมการสมานฉันท์ สภาผู้แทนราษฎร และผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพเเละความขัดเเย้ง จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์ 'วอยซ์' ว่าหลังจากฝ่ายรัฐใช้วิธีการจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้าน ด้วยข้อหาบุกรุกป่า มัน สะท้อนว่ารัฐยึดเพียงแค่กฎหมายเป็นหลัก ทั้งที่ปัญหาเรื่องนี้มีความซับซ้อน มากกว่าการใช้ข้อกฎหมายมาแก้ปัญหา เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเป็นมนุษย์ สิทธิชนเผ่าดั้งเดิม
"ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐหรือฝ่ายรัฐบาล ควรพิจารณานำประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชนเผ่าดั้งเดิมมาใช้ในการพิจารณาแก้ไขปัญหาด้วย อย่าลืมว่าชาวบ้านเป็นฝ่ายที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมายต่อรอง แต่พวกเขายึดหลักว่า พวกเขาเป็นชนเผ่าดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่ ก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ" สุรชัยกล่าว
กรรมการสมานฉันท์ สภาผู้แทนราษฎรผู้นี้กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วตอนนี้ ฝ่ายนักวิชาการและฝ่ายภาคประชาชนกำลังรวบรวมหลักฐาน รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งกำลังศึกษาหาข้อเท็จจริงว่า แท้จริงแล้วชาวบ้านอยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยาน แต่ฝ่ายรัฐใช้วิธีการจับกุมชาวบ้านก่อน โดยไม่รอการชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ จากฝ่ายนักวิชาการและภาคประชาชนและชาวบ้าน
"ผมตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐดำเนินการจับกุมชาวบ้านครั้งนี้ก็เพื่ออยากจะทำให้ป่าแก่งกระจานได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกให้เร็วที่สุด ทำให้ต้องรีบเคลียร์พื้นที่ป่าให้สวยงามเรียบร้อยเพื่อให้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก" สุรชัยกล่าว
สุรชัยกล่าวอีกว่า การทำแบบนี้ที่จริงแล้วมันสวนทางกับหลักการ การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะรัฐกีดกันผลักดันชาวบ้านที่มีวิถีวัฒนธรรมอยู่กับป่าออกจากป่าซึ่งอาจจะขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่ได้ในที่สุด
กรรมการสมานฉันท์ สภาผู้แทนราษฎรผู้นี้เสนอว่า อยากให้การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาระดับรัฐ ไม่ใช่เพียงแค่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หรือเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมอุทยานเท่านั้น
"ต้องแก้ปัญหา ระดมความเห็น จากหลายฝ่ายหลายกระทรวง มาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพราะหากยึดเพียงกฎหมายของกรมอุทยาน เท่านั้น ก็อาจจะทำให้ฝ่ายชาวบ้านกลายเป็นผู้แพ้อยู่ตลอดและมันเป็นธรรมกับชาวบ้าน" สุรชัยกล่าว