ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยด้านเเปิดเผยว่า ผู้คนจำนวนมากมีแนวโน้มจะเลือกเทคโนโลยีและตัวตนสมมติบนโลกออนไลน์แทนคู่รักที่เป็นมนุษย์ ทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการทางกายและใจ โดยเรียกเทรนด์นี้ว่า 'ดิจิเซ็กส์ชวลลิตี้'

​'ดิจิเซ็กส์ชวลลิตี้' (Digisexuality) คือแนวคิดด้านความสัมพันธ์ทางเพศของคนจำนวนมากในสังคมยุคใหม่ ซึ่งนีล แม็คอาร์เธอร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนิโทบาของแคนาดา และศาสตราจารย์มาร์คกี ทวิสต์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินของสหรัฐฯ ได้ร่วมกันเขียนบทความงานวิจัยลงใน The Conversation โดยอธิบายไว้ว่า

" 'ดิจิเซ็กส์ชวลลิตี้' หมายถึงใครก็ตามที่มองว่าเทคโนโลยีอันล้ำสมัยอย่างหุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนามาแทนตุ๊กตายาง และภาพยนตร์สำหรับผู้ใหญ่แบบเสมือนจริง คือสิ่งสำคัญจำเป็นสำหรับกิจกรรมทางเพศที่พวกเขา 'ต้องมี' และยังหมายรวมถึงความรู้สึกที่ไม่ต้องการขวนขวายหาความใกล้ชิดและสัมพันธ์ทางกายกับบุคคลอื่นที่เป็นมนุษย์"

นักวิจัยทั้งสองคนระบุว่า จริงๆแล้วเรากำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของวิวัฒนาการทางเพศและความสัมพันธ์แบบโรแมนติกของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยีอย่างแอปพลิเคชันหาคู่กำลังเฟื่องฟูและได้รับความนิยมไปทั่วโลก การออกแบบและผลิตเตียงเคลื่อนที่ ไปจนถึงปุ่มกดเร้าอารมณ์ นี่คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้นของสิ่งที่กำลังเข้ามา 'ดิสรัปท์' ปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตทางเพศของมนุษย์ยุคดิจิทัล ซึ่งส่งผลให้ทั้งการเชื่อมสัมพันธ์และการรักษาความสัมพันธ์แบบลึกซึ้งของมนุษย์เปลี่ยนไป

หลายครั้งที่มนุษย์เคยคิดว่า 'การตกหลุมรักกับเทคโนโลยี' คือสิ่งที่ไกลเกินจริง อย่างที่เห็นตัวอย่างในภาพยนตร์เรื่อง Her ในปี 2013 เมื่อ 'วาคีน ฟีนิกซ์' ตกหลุมรักกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ หรือในภาพยนตร์เรื่อง Blade Runner 2049 เมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อ 'ไรอัน กอสลิง' มีความสัมพันธ์กับคู่รักสมมติในโลกออนไลน์ หรือที่เรียกว่า 'อวตาร' 

แต่เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2018 นั้น อะคิฮิโตะ คอนโดะ ชายญี่ปุ่นวัย 35 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการของโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ได้ทำให้เราเห็นแล้วว่าเรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นจริง เมื่อเขาได้เข้าพิธีแต่งงานกับ 'ฮัตสึเนะ มิคุ' ผู้หญิงที่เขารักซึ่งเป็นเทคโนโลยี 'โฮโลแกรม' ไปเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นพิธีแต่งงานแบบสากล และมีแขกไปร่วมงานเกือบ 40 คน 

นักวิจัยทั้งสองคนเตือนว่า ในช่วงทศวรรษแห่งวิวัฒนาการและการเปลี่ยนผ่านนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนกับผู้ที่มี 'รสนิยมทางเพศ' ที่โลกยังไม่คุ้นชินก็คือการ 'ตำหนิ' หรือแม้แต่ 'การถูกเหยียด' จากสังคม เช่นเดียวกับรสนิยมทางเพศมากมายที่แม้จะเป็นสิ่งที่มีมานานหลายปีแล้วแต่ก็ยังถูกเหยียดในหลายสัมคมอยู่ดี ฉะนั้นเราจึงต้องช่วยกันหยุดการ 'ตีตรา' ดังกล่าวด้วยการมีความคิดที่เปิดกว้างต่อเรื่องเพศแนวใหม่และสังคมแห่งอนาคต