สำนักงานปราบปรามยาเสพติดกลางของสิงคโปร์ แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (3 ส.ค.) ว่า ทางการสิงคโปร์ประหารชีวิต โมฮาเหม็ด ชัลเลห์ อับดุล ลาทิฟ ชายสิงคโปร์เชื้อสายมาเลย์ ซึ่งทำงานเป็นคนขับรถส่งของ ด้วยการแขวนคอที่เรือนจำชางงี หลังจากเขาได้รับการดำเนินการตามกฎหมาย โดยสำนักงานกล่าวเสริมอีกว่า ปริมาณเฮโรอีนที่ยึดได้นั้น เพียงพอที่จะถูกส่งให้แก่ผู้เสพยาเสพติดมากกว่า 600 คนใน 1 สัปดาห์
การแขวนคอประหารชีวิต โมฮาเหม็ด ชัลเลห์ มีขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่ทางการสิงคโปร์ประหารชีวิต สาริเดวี บินเต จามานี วัย 45 ปี และ โมห์ด อาซิซ บิน ฮุสเซน วัย 57 ปี ในข้อหาค้ายาเสพติด ซึ่งการประหารชีวิตดังกล่าวส่งผลให้เกิดเสียงวิจารณ์จากองค์การสหประชาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชน
จนถึงปัจจุบันนี้ สิงคโปร์ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการลงโทษอาชญากรรมอย่างรุนแรง ได้ประหารชีวิตนักโทษไปแล้วทั้งสิ้น 16 คน รวมทั้งชาวต่างชาติ ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด นับตั้งแต่ทางการสิงคโปร์เริ่มกลับมาแขวนคอนักโทษอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้หยุดลงชั่วคราวไปเป็นเวลา 2 ปี ในช่วงการระบาดของโควิด-19
ในระหว่างการพิจารณาคดี โมฮาเหม็ด ชัลเลห์ ได้โต้แย้งว่า เพื่อนที่เป็นหนี้เขาได้หลอกให้เขาเชื่อว่า ห่อของที่เขาได้รับมอบหมายให้ไปส่งนั้นเป็นบุหรี่เถื่อน อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษาสิงคโปร์ปฏิเสธคำแก้ต่างของ โมฮาเหม็ด ชัลเลห์ หลังจากศาลตัดสินว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาไม่น้ำหนักพอ ที่จะพิสูจน์ระดับความไว้วางใจดังกล่าวได้
การใช้โทษประหารชีวิตครั้งล่าสุดนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้ประชาคมระหว่างประเทศเพิ่มแรงกดดันต่อสิงคโปร์ ที่จะให้มีการปฏิรูปกฎหมายยาเสพติด โดยเมื่อเดือนที่แล้ว สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องให้สิงคโปร์ยุติการใช้โทษประหารชีวิต โดยกล่าวว่าการประหารชีวิตของสิงคโปร์ “ไม่สอดคล้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิต และสิทธิที่จะปราศจากการทรมานและการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรม”
แม้ว่าสิงคโปร์จะมีภาพลักษณ์ที่ดี ในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพสูง แต่การปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสิงคโปร์ กลับจัดอยู่ในระดับเดียวกันกับรัฐเผด็จการจำนวนน้อย เช่น จีน และเกาหลีเหนือ โดยกฎหมายของสิงคโปร์กำหนดให้มีโทษประหาร สำหรับผู้ที่ค้ากัญชามากกว่า 500 กรัม และเฮโรอีน 15 กรัม
กลุ่มสิทธิต่างๆ เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ ต่างออกมาโต้แย้งว่า กฎหมายของสิงคโปร์นี้มีผลเพียงเล็กน้อยในการหยุดยั้งการใช้ยาเสพติด และส่งผลกระทบต่อผู้กระทำความผิดในระดับล่างอย่างไม่สมส่วน แต่รัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งมีการจำกัดสิทธิสื่ออิสระ การประท้วงในที่สาธารณะ และความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเข้มงวด ได้ปกป้องการใช้โทษประหารชีวิตว่าเป็นการป้องปรามอาชญากรรมอย่างได้ผล และอ้างผลสำรวจที่แสดงว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนกฎหมายดังกล่าว
ที่มา: