ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ประคองโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยช่วงกลางปี ไฟเขียว 4 มาตรการฉีดเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบฯ 1.32 ล้านบาท พร้อม 6 มาตรการด้านภาษี ให้มนุษย์เงินเดือนใช้ลดหย่อน รัฐสูญรายได้ภาษี 8,620 ล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในช่วงไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มแผ่วตัว อันมีสาเหตุหลักจากเศรษฐกิจโลกที่มีการชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าและบริการของไทย รวมถึงส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่มีรายได้ลดลง ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายยังคงอยู่ในระดับสูง 

ดังนั้น กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 เพื่อป้องกันและดูแลความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2562 เห็นชอบมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ มาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปี ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 13,210 ล้านบาท และมาตรการภาษี ผ่านการลดหย่อนต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 8,620 ล้านบาท

มาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปี 2562 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

  • มาตรการเพิ่มเบี้ยคนพิการ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่เป็นผู้พิการให้ได้รับเบี้ยผู้พิการเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นจำนวนเงิน 200 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 5 เดือน (พ.ค.-ก.ย. 2562) โดยจะต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเท่านั้น และสามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture: EDC) แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติได้ ใช้งบประมาณ 1,160 ล้านบาท
  • มาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่เกษตรกร เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่เป็นเกษตรกรในช่วงที่รายได้เกษตรกรหดตัว สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิตอื่นๆ เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท/คน (ได้รับครั้งเดียว) ซึ่งผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้ซื้อสินค้าผ่านเครื่อง EDC แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติได้ ใช้งบประมาณ 4,100 ล้านบาท
  • มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ช่วงเปิดปีการศึกษา เพื่อช่วยเหลือค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษาช่วงเปิดปีการศึกษาเพิ่มเติมจากการช่วยเหลือของกระทรวงศึกษาธิการที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้พ่อแม่ เป็นจำนวน 500 บาท/บุตร 1 คน (ได้รับครั้งเดียว) โดยจะให้สิทธิตามจำนวนบุตรผ่านแม่หรือพ่อที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้ซื้อสินค้าผ่านเครื่อง EDC แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติได้ ใช้งบประมาณ 1,350 ล้านบาท
  • มาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและรักษากำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานราก โดยเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคจำเป็นในร้านธงฟ้าประชารัฐเป็น 500 บาท/คน/เดือน เท่ากันทุกคน (เดิมได้ 300 บาท ให้เพิ่มอีก 200 บาท หรือเดิมได้ 200 บาท ให้เพิ่มอีก 300 บาท) เป็นระยะเวลา 2 เดือน (พ.ค.-มิ.ย. 2562) ใช้งบประมาณ 6,600 ล้านบาท

มาตรการภาษีพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562

  • มาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย ให้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ค่าที่พัก โรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม 

สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองหลัก ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองรอง ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 20,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.- 30 มิ.ย. 2562 (2 เดือน)

  • มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬา ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬาที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย. 2562 (2 เดือน) 
  • มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.- 30 มิ.ย. 2562 (2 เดือน) 
  • มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book) ที่จ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2562 แต่เมื่อรวมค่าซื้อหนังสือและค่าบริการ e-Book ของมาตรการช็อปช่วยชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 – 16 มกราคม 2562 แล้ว ต้องไม่เกิน 15,000 บาท
  • มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุด (หลังแรก) ที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 200,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.-31 ธ.ค. 2562
  • มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายลงทุนเพื่อรองรับระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. -31 ธ.ค. 2562 สำหรับรายจ่ายลงทุน ดังต่อไปนี้ (1) เครื่องบันทึกการเก็บเงินและ (Point of Sale: POS) ระบบ POS ซึ่งเชื่อมโยงกับการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (2) การพัฒนาระบบหรือค่าบริการเกี่ยวกับ e-Tax Invoice & e-Receipt (3) การพัฒนาระบบหรือค่าบริการ e-Withholding Tax

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายในระยะนี้จะมีต้นทุนของการดำเนินการที่ต่ำกว่าหากเทียบกับกรณีที่ปล่อยให้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเพิ่มเติม อีกทั้งยังเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอีกด้วย

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในวันนี้ (30 เม.ย.) ตามที่กระทรวงคลังเสนอ คาดว่าจะมีผลทำให้อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากที่กระทรวงการคลังประเมินว่าปีนี้ (2562) เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.8

อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้ง 2 ด้านดังกล่าว ในส่วนของการทำผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะใช้งบประมาณ 13,210 ล้านบาท ขณะที่มาตรการลดหย่อนภาษีจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษี 8,620 ล้านบาท แบ่งเป็น สนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ 2,370 ล้านบาท ส่งเสริมการอ่าน 2,250 ล้านบาท ด้านส่งเสริมการซื้ออุปกรณ์การศึกษาและการกีฬา 1,500 ล้าน บาท ส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัย 1,350 ล้านบาท ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว 1,000 ล้านบาท และส่งเสริมโอท็อป 150 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :