Patani NOTES เขียนบทความเรื่อง "จัดกระบวนท่าใหม่ หลังบีอาร์เอ็นคุยรัฐบาลไทย" โดยเนื้อหาของบทความกล่าวถึงการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปาตานี และกลุ่มบีอาร์เอ็น "ฮาร์ดคอร์" ที่ทางฝ่ายมาราปาตานีต้องการให้เป็นการพูดคุยบนเวทีเดียวกันทั้งหมด ซึ่งระหว่างนี้รัฐบาลไทยและมาราปาตานีอยู่ระหว่างการเตรียมการ และยังไม่ได้กำหนดวันพบปะนัดหมายใหม่
เนื้อหาของบทความ
"จัดกระบวนท่าใหม่ หลังบีอาร์เอ็นคุยรัฐบาลไทย"
ขณะที่ยังมีส่วนร่วมในการพูดคุยเป็นทางการในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมารา ปาตานี อีกด้านหนึ่งบีอาร์เอ็น "ฮาร์ดคอร์" ก็กำลังคุยกับเจ้าหน้าที่ไทยที่เยอรมนี โฆษกมาราปาตานีเผย สิ่งที่กำลังทำในระหว่างนี้คือ พยายามรวมการพูดคุยให้อยู่ในเวทีเดียวกัน
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การพบปะพูดคุยระหว่างตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นกับเจ้าหน้าที่ไทยที่เยอรมนีนั้น มีองค์กรเอ็นจีโอของยุโรปเป็นผู้ติดต่อประสานงาน ถือว่าเป็นช่องทางการติดต่อพูดคุยที่ไม่เป็นทางการ อันเป็นความประสงค์ของทางการไทยที่ต้องการคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นที่มักเรียกกันว่า บีอาร์เอ็น "ฮาร์ดคอร์" เพื่อให้เห็นความแตกต่างกับบีอาร์เอ็นที่อยู่ในกลุ่มมาราปาตานี
ในขณะที่ตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่เข้าร่วมการพูดคุยกับรัฐบาลไทยก่อนหน้านี้ผ่านทางกลุ่มมาราปาตานีก็ยังคงอยู่ร่วมในกลุ่มนี้ต่อไป
กลุ่มเอ็นจีโอของยุโรปที่เคยเสนอตัวทำหน้าที่ประสานงานให้กับทางการไทยนั้น ที่ผ่านมามีกลุ่มหลักคือ เอชดีซี ซึ่งขณะนี้คือ กลุ่มเอชดี หรือ The Center for Humanitarian Dialogue สำหรับการติดต่อประสานงานให้มีการพบปะกันหนนี้ มาเลเซียได้ยืนยันกับผู้สื่อข่าวเบอร์นานิวส์เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว (62) ว่า ได้รับแจ้งจากไทยว่า จะมีการพบปะดังกล่าวเกิดขึ้น แต่มาเลเซียไม่ได้เป็นผู้จัดการประสานงานสำหรับการพบกันที่เยอรมนีแต่อย่างใด
มาเลเซียนั้นทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการให้มีการพบปะพูดคุยสันติสุข/สันติภาพระหว่างรัฐบาลไทย และกลุ่มขบวนการในสามจังหวัดภาคใต้ โดยที่ผ่านมามีกลุ่มมาราปาตานีที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ โดยมีบีอาร์เอ็นร่วมอยู่เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางการไทยได้พยายามให้มาเลเซียดึงเอากลุ่มบีอาร์เอ็น "ฮาร์ดคอร์" เข้าร่วมโต๊ะพูดคุย ซึ่งกลุ่มนี้เคยแสดงความสนใจมาแล้วเพียงแต่ไม่ต้องการร่วมในวงเดียวกันกับมาราปาตานี อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบ่งบอกว่า มาเลเซียไม่สามารถนำกลุ่มบีอาร์เอ็น "ฮาร์ดคอร์" ที่ว่านี้เข้ามาพูดคุยกับไทยได้ และไทยไม่ค่อยพอใจนัก
เมื่อ 22 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา กวี จงกิจถาวร คอลัมนิสต์ของ นสพ.บางกอกโพสต์ เขียนลงใน นสพ. ระบุถึงความอึดอัดใจของฝ่ายไทยดังกล่าว บทความของกวีชี้ว่า มาเลเซียไม่สามารถนำบีอาร์เอ็นกลุ่มนี้ขึ้นสู่โต๊ะพูดคุยทำให้ไทยค่อนข้างผิดหวัง เพราะผู้ก่อเหตุกลุ่มนี้เป็นที่รู้กันว่าสามารถหลบรอดจากการจับกุมของไทยได้ด้วยด้วยการหนีเข้าไปหลบซ่อนตัวในมาเลเซีย แม้ว่าที่ผ่านมาทางการมาเลเซียภายใต้การนำของ นพ.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี จะแสดงอาการแข็งขันว่าสนับสนุนเรื่องสร้างสันติภาพ แต่ที่ผ่านมากลับไม่สามารถนำบีอาร์เอ็นกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่วงพูดคุย ในขณะที่อีกด้านก็ไม่สามารถจับกุมตัวพวกเขาได้ด้วย บทความนี้ให้นัยว่ามาเลเซียช่วยเหลือกลุ่มผู้ก่อเหตุ คือ ให้ที่พักพิง
หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือนต่อมา คือ 22 พ.ย. 2562 นสพ.นิวสแตรทไทมส์ ได้สัมภาษณ์โมฮัมหมัด ซาบู รัฐมนตรีกลาโหมของมาเลเซียที่ให้ข่าวว่า มาเลเซียไม่มีนโยบายในอันที่จะให้ที่หลบซ่อนแก่กลุ่มขบวนการในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย
ก่อนหน้าที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกจะเดินทางเยือนอาเจะห์เพื่อทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับอินโดนีเซียในเรื่องการก่อการร้ายเมื่อกลางเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ได้มีรายงานข่าวว่าความพยายามร่วมมือกับอินโดนีเซียเกิดขึ้นในบรรยากาศที่ฝ่ายไทยไม่ค่อยวางใจมาเลเซียในเรื่องการดำเนินการจัดการการพูดคุย
การพูดคุยระหว่างบีอาร์เอ็นกับทางการไทยจะมีผลอย่างไรกับเวทีระหว่างกลุ่มมาราปาตานีกับไทย อาบูฮาฟิส อัลฮากีม โฆษกกลุ่มมาราปาตานีระบุว่า การพบปะกันที่เยอรมนีระหว่างตัวแทนบีอาร์เอ็นกับไทยถือเป็นการพบปะอย่างไม่เป็นทางการ ขณะนี้สิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามดำเนินการคือการปรับให้การพูดคุยสองช่องทางของบีอาร์เอ็นที่เกิดขึ้นนี้ ให้กลายเป็นช่องทางอันเดียวกันคือการพูดคุยอย่างเป็นทางการผ่านเวทีที่มาเลเซียจัดให้ "มันเป็นความท้าทายสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง" เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มว่าจะประสานกันอย่างไรให้เป็นหนึ่งเดียว โฆษกกลุ่มมาราปาตานีระบุว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กำลังสื่อสารกันอยู่เป็นการภายใน และว่าในระหว่างนี้ระหว่างไทยและกลุ่มมาราปาตานียังอยู่ระหว่างการเตรียมการยังไม่ได้กำหนดวันพบปะนัดหมายใหม่แต่อย่างใด