ไม่พบผลการค้นหา
ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม มีหนึ่งคำขวัญที่โฆษกหมอ รณรงค์ให้คนไทยลงมือปฏิบัติเป็นการเร่งด่วนคือ “รวมกันเราติดหมู่ แยกกันอยู่เรารอด” พร้อมเน้นย้ำ “สร้างระยะห่างทางสังคม” ทว่าในทางการเมือง คำขวัญเดียวกันนี้ ยังอธิบายถึงความสัมพันธ์ในรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

หากอ่านคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 4-5-6 จะพบว่า นัยยะสำคัญอยู่ที่การหั่นอำนาจ-กระชับอำนาจ-ต่อสายตรงอำนาจ เลือกใช้งาน “ปลัดกระทรวง” แทน “รัฐมนตรี”

เป็นการต่อตรงระหว่าง “นายกรัฐมนตรี” ไปยัง “ปลัดกระทรวงสาธารณสุข-ปลัดกระทรวงมหาดไทย-ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ”

เป็นการต่อตรงไปยังเครือข่าย “หมอ-มหาดไทย-กองทัพ”​

โดยมีที่ปรึกษาหลักอย่าง “ประทีป กีรติเลขา”​ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตคนมหาดไทยที่รู้วิธีใช้งานสายบังคับบัญชามหาดไทยเป็นอย่างดี นั่งกุมบังเหียน ศบค. ผนึกกำลังร่วมกับ นพ.ปิยะสกล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย คณบดีแพทย์ฯ-อาจารย์หมอคนสำคัญ คอยรายงานข้อมูล-ข้อเสนอ สำหรับตัดสินใจ ให้นายกรัฐมนตรีได้ทราบโดยตรง

นี่คือเหตุผลที่ไม่ปรากฏ “อนุทิน-จุรินทร์” ในวงประชุมใหญ่-วงประชุมเล็กของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19

นี่คือที่มาของนิยาม “รัฐมนตรีหมดสภาพ”

“หมดสภาพ” เพราะไม่อยู่ในโครงสร้างการบัญชาการวิกฤติที่แท้จริง

“หมดสภาพ” เพราะ “มือไม่ถึง-มีวาระเร้น-ไม่ไว้วางใจ-ไม่ใช้งาน”

เห็นได้จาก

1. กรณีแก้ต่างประเด็น สต๊อกหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น แล้วเปลี่ยนสารทีหลังว่า ไม่ใช่สต๊อกหน้ากากอนามัย แต่เป็นสต๊อกวัตถุดิบในการผลิต

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ “จุรินทร์” นั่นเองที่ประกาศต่อสาธารณะชน ด้วยน้ำเสียงมั่นอกมั่นใจว่า “สำหรับในประเทศ จากการประเมินเบื้องต้นยังเชื่อมั่นว่ากำลังการผลิตและการผลิตรวมในประเทศอย่างเพียงพอสำหรับการที่จะใช้สนองต่อความต้องการของตลาดในประเทศให้เพียงพออยู่ และสต๊อกปัจจุบันที่มีอยู่นั้นประมาณ 200 ล้านชิ้น ก็สามารถที่จะใช้ในการสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ 4-5 เดือน”

ให้หลัง 2 เดือน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงคนละเรื่องกับที่รัฐมนตรีได้เคยแถลงไว้ โดยบอกว่า ที่มีการพูดกันว่า มีสต๊อกหน้ากากอนามัยถึง 200 ล้านชิ้นนั้น เป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อนของการสื่อสาร

ข้อเท็จจริงคือ ที่ว่ามีในสต๊อกนั้น “เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตหน้ากากอนามัยได้ 200 ล้านชิ้น”

หลังการแถลงของปลัดกระทรวงพาณิชย์ “จุรินทร์” ก็รับลูกชี้แจงต่อทันทีว่าหมายถึงมีวัตถุดิบใช้ผลิตได้ 200 ล้านชิ้น ไม่ได้แปลว่ามีหน้ากากอนามัยกองอยู่ 200 ล้านชิ้นแล้วหายไป และเมื่อผลิตแล้วก็จะออกไปเข้าสู่ระบบตามปกติ

เป็นการรับลูกแบบเนียนๆ แล้วเดินหน้าต่อไป ราวกับไม่มีสิ่งผิดปกติใดใดเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งที่ควรต้องมีคำอธิบาย-มีเอกสารชี้แจงอย่างเป็นระบบคลี่คลายความกังขาของ ปชช.

ขอย้ำไว้ตรงนี้ว่า กรณีพรรคสีฟ้าตั้งกรรมการสอบ “มัลลิกา”​ ปมกักตุนหน้ากากอนามัย ก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย

ความเก่ายังไม่คลี่คลาย ความใหม่ก็ถาโถมเข้าหา “จุรินทร์” ทันที หนักไปกว่านั้น คือกระแสในโลกออนไลน์ ที่ชวนกันย้ำว่า ทั้งของแพง-ของกักตุน-ของหายาก-ของขาดตลาด ล้วนเป็นผลงานในยุคที่พรรคสีฟ้านั่งกุมบังเหียนกระทรวงพาณิชย์ทั้งสิ้น

2. กรณีการจัดสรรหน้ากากอนามัย (Surgical Mask) ซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ แต่นายกรัฐมนตรีบัญชาให้กระทรวงมหาดไทย เข้าบริหารจัดการ

กล่าวคือ ในทุกวันจะมีการจัดสรรหน้ากากอนามัยจำนวน 2.4 ล้านชิ้น แบ่งออกเป็นสองสาย

สายที่หนึ่ง 1.5 ล้านชิ้น บริหารโดยกระทรวงสาธารณสุข ส่งตรงไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อแจกจ่ายบุคลากรสาธารณสุขที่เป็นด่านหน้ารับมือกับผู้ป่วย-เผชิญความเสี่ยงสูงสุด

สายที่สอง 9.6 แสนชิ้น บริหารโดยกระทรวงพาณิชย์ กระจายไปยังร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านค้าธงฟ้าราคาประหยัด ห้างสรรพสินค้า ร้านยา และร้านสะดวกซื้อ 

ทว่าในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม อำนาจการบริหารจัดการกลับถูกเปลี่ยนมือ จาก “กระทรวงพาณิชย์” ไปสู่ “กระทรวงมหาดไทย”​

เมื่อนายกรัฐมนตรีเลือกใช้เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ผ่านมือประสานสิบทิศอย่าง “ฉัตรชัย พรหมเลิศ”​ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้ามาแก้ไขปมจัดสรรหน้ากากอนามัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

กระทรวงมหาดไทย ออกแบบแผนการจัดสรรหน้ากากอนามัยใหม่หมด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำไปจัดสรรให้กับกลุ่มเสี่ยง ดังนี้

- ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิด/สัมผัสผู้ป่วย ในหมู่บ้าน/ชุมชน อาทิ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)

- ผู้ปฏิบัติงานให้บริการประชาชน เช่น สำนักงานที่ดินจังหวัด/สาขา/ส่วนแยก สำนักทะเบียนอำเภอและท้องถิ่น ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด สำนักงานขนส่งจังหวัด สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสำนักงานหนังสือเดินทาง

- ผู้ที่ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยง เช่น พนักงานทำความสะอาดและเก็บขยะ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจุดตรวจ

- ประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้ที่มีโรคประจำตัว

อีกทางหนึ่งกระทรวงมหาดไทยก็เร่งรณรงค์ให้ประชาชนใช้หน้ากากอนามัยชนิดผ้า ซึ่งถือว่าเพียงพอสำหรับประชาชนที่ไม่ป่วย โดยมี อปท.ทุกแห่ง ผนึกกำลังจิตอาสาในแต่ละท้องถิ่น ร่วมกันผลิตหน้ากากอนามัยชนิดผ้า ทยอยส่งมอบให้กับประชาชนในพื้นที่กว่า 50 ล้านชิ้น

3. กรณีการนำกฎหมายฉบับเก่านับแต่ปี 2497 ออกมาแก้ไขปัญหาการกักตุนสินค้า ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพพี่น้องประชาชน เข้ากักตุนสินค้าในห้างต่างๆ บอกเล่าผลงานของหัวหน้าพรรคสีฟ้าได้เป็นอย่างดี

เป็นที่มาให้กระทรวงมหาดไทยเสนอร่าง พรฎ.กำหนดท้องที่เขตสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 พ.ศ.... เพื่อควบคุมการกักตุนสินค้า สิ่งจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างเข้มงวด

มีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้เขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเป็นท้องที่เขตสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497

คณะรัฐมนตรียังได้แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ฯ ขึ้นใหม่ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานคณะกรรมการ

มีปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการและเลขานุการ

นัยยะของการนำกฎหมายเก่านับแต่ยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาบังคับใช้เร่งด่วนอีกครั้ง ไม่เพียงอยู่ที่การแก้ไขปมกักตุนสินค้า แต่เป็นการเปลี่ยนอำนาจในการบริหารจัดการ ทั้งตัวบุคคล และกระทรวง

ถือเป็นอีกหนที่ไม่ปรากฏชื่อ-ตำแหน่ง รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์มากที่สุด

4. กรณีนายกรัฐมนตรี ออกข้อสั่งการ-มอบหมายงาน ที่ระบุชัดให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยต้อง “ป้องกันไม่ให้มีการทุจริต และเรียกรับผลประโยชน์”​

เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้แจ้งเวียนหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0505/ว 144 ลงวันที่ 3 เมษายน 2563 เรื่อง การดำเนินการในเรื่องต่างๆ เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แจ้งว่า

“ด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรี เห็นควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดําเนินการในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้การบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อรองรับสถานการณ์ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย”​

นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการทั้งหมด 9 ข้อ มีเพียงข้อเดียวที่มีการย้ำอย่างชัดเจนถึงการป้องกันไม่ให้มีการทุจริต และเรียกรับผลประโยชน์

ในข้อ 3 นายกรัฐมนตรี สั่งการชัดเจนว่า "ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เร่งรัดการดําเนินการตรวจรับรองมาตรฐานอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่นําเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนํามาใช้ในการตรวจคัดกรองและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา ที่กําหนดอย่างเคร่งครัด (ภายใน 5 วัน) รวมทั้งดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและป้องกันไม่ให้มีการทุจริต และเรียกรับผลประโยชน์”

เป็นการออกข้อสั่งการ ในบริบทที่สังคมกังขาเป็นอย่างย่ิง ต่อกระแสข่าวการทุจริต-หักหัวคิว-เรียกรับผลประโยชน์เกี่ยวกับการตรวจรับรองมาตรฐานอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งมีทั้งนักการเมือง-คณะทำงานรัฐมนตรี-ข้าราชการระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้อง

659294.png659295.png

ข้อสั่งการเช่นนี้ จึงสะท้อนข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีมีอยู่ในมือ!!

เหล่านี้ จึงเป็นที่มาให้นายกรัฐมนตรี ต้องดำเนินยุทธศาสตร์ใหม่ นั่นคือ “รวมกันเราตายหมู่ แยกกันอยู่เรารอด”

หรือ “สร้างระยะห่างทางการบริหาร” จาก 2 รัฐมนตรี

เพราะพิสูจน์แล้วว่า การปล่อยให้การแก้วิกฤติโควิด-19 ไปอยู่ในมือรัฐมนตรีที่ “ต่างคนต่างทำ-ต่างมีวาระเร้นของตัวเอง” ไม่อาจรับมือกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ได้

จึงจำเป็นต้อง หั่นอำนาจ-กระชับอำนาจ-แยกกันอยู่ เพื่อให้รัฐบาลเดินหน้าแก้วิกฤติโควิด-19 ไปได้อย่างเป็นเอกภาพ โดยมีนายกรัฐมนตรีถือธงนำ และมีแขนขาเป็นทีมปลัดกระทรวง พร้อมด้วยเครือข่ายข้าราชการทั้งหมอ-มหาดไทย-กองทัพ เป็นแรงหนุน

เหมือนที่นายกรัฐมนตรี ย้ำชัดในแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563

“ผมในฐานะ "แม่ทัพ" จะไม่ยอมให้กำลังหลักของเราต้องต่อสู้ภายใต้ความขาดแคลน ไม่ได้อย่างเด็ดขาด และต้องมีขวัญ - กำลังใจที่เข้มแข็ง อยู่เสมอ เพื่อมีพลังเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ ให้ได้”

“ด้านการสื่อสารในสภาวะวิกฤตเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจและผู้ปฏิบัติงานมีความชัดเจน ไม่สับสน หรือสร้างความขัดแย้ง ศบค.จัดให้มีระบบการสื่อสารที่เป็น "เอกภาพ" ไปในทิศทางเดียวกัน หรือ Single Voice โดยจะมีการแถลงข่าวที่ถ่ายทอดสด ไปทั่วประเทศในทุกช่องทางเป็นประจำ "ทุกวัน" หลังการประชุมในช่วงเช้าโดยโฆษกศูนย์และผู้รับผิดชอบโดยตรง "เท่านั้น" งดเว้น และหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ของผู้ที่ไม่ได้รับมอบหมายหรือเกี่ยวข้องกับมาตรการต่างๆ ของศูนย์”

“ผมขอให้ทุกคนมั่นใจว่า ผมจะทำทุกทาง เพื่อที่จะนำพาประเทศของเรา ก้าวข้ามเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้ อย่างมีสวัสดิภาพ อย่างพร้อมเพรียงกัน ขอให้ทุกคน...สู้ไปด้วยกัน นะครับ ประเทศไทยต้องชนะ”

“แม่ทัพ” ย่อมมีสิทธิ์เลือก​ “ขุนศึก” ในการออกรบ ที่ทำให้ตัวเองคว้าชัย ไม่ใช่พ่าย

ไม่ทำให้ทั้งกองทัพต้องตายหมู่!!

659442.jpg

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

659288.jpg

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย แขนขาของนายกรัฐมนตรีในเวลานี้ รับหน้าที่ประสานการปฏิบัติกับผู้ว่าราชการทุกจังหวัด พร้อมเข้ามารับภารกิจจัดสรรหน้ากากอนามัยแทนกระทรวงพาณิชย์

659291.jpg

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563

659299.jpg

อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี เดินตามหลังนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (นัดพิเศษ) เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ถือเป็นการปรากฏกายร่วมกับนายกรัฐมนตรีหนที่สอง นับแต่ประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งหั่นอำนาจรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ดึงปลัดกระทรวงเข้ามาเป็นแขน-ขา ของนายกรัฐมนตรีแทน

วยาส
24Article
0Video
63Blog