แถลงการณ์ร่วมของธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการงินระหว่างประเทศ (IMF) ลงวันที่ 25 มี.ค.2563 มีเนื้อหาเรียกร้องให้ประเทศอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือกลุ่ม G20 พิจารณามาตรการพักชำระหนี้หรือให้กู้ยืมเงินแก่ประเทศยากจนหรือประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นสมาชิกของสภาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ (International Development Association หรือ IDA) ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก
เวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟระบุว่า กลุ่มประเทศสมาชิก IDA มีประชากรรวม คิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรโลกทั้งหมด และประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบรุนแรงและเรื้อรัง ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อันสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การพักชำระหนี้ หรือการอนุมัติเงินกู้ให้แก่ประเทศเหล่านี้จะช่วยให้เกิดสภาพคล่อง และจะช่วยให้รัฐบาลของแต่ละประเทศสามารถนำงบประมาณไปใช้ในการแก้ปัญหาหรือควบคุม-ป้องกันการแพร่ระบาดที่เป็นเรื่องเร่งด่วนในขณะนี้ได้
ขณะเดียวกัน The Guardian รายงานว่า กลุ่มประเทศยากจนทั่วโลกพิจารณาโครงการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะหลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ หรือปิดเมือง-ปิดพรมแดน รวมถึงปิดกิจการต่างๆ ชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น เซาท์แอฟริกาและอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหลายประเภท การล็อกดาวน์ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไม่มีทางเลี่ยง
นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าที่ลดลงก่อนหน้านี้ เนื่องจากนโยบายปิดเมืองและปิดโรงงานของจีน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมในอีกหลายประเทศ และมีแนวโน้มว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะดำเนินไปอีกระยะหนึ่ง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจะต้องพิจารณาแนวทางให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจโลกกลับคืนมา
กลุ่มรณรงค์ระหว่างประเทศที่เรียกร้องให้ยกเลิกหนี้ Jubilee Debt Campaign หรือ JDC ประเมินข้อมูลของเวิลด์แบงก์ พบว่าในปี 2563 ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องใช้เงินประมาณ 18,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5.97 แสนล้านบาท) เพื่อใช้หนี้รัฐบาลต่างประเทศ และ 12,400 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.09 แสนล้านบาท) ต้องจ่ายให้กับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่นเวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟ ขณะที่อีก 10,100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.33 แสนล้านบาท) จะต้องจ่ายให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นๆ ของเอกชน
ด้วยเหตุนี้ JDC จึงสนับสนุนแถลงการณ์ของเวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟ ทั้งยังเรียกร้องให้ธนาคารเอกชนพิจารณาผ่อนผันหรือพักการชำระหนี้ด้วยเช่นกัน เพราะมาตรการนี้จะช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: