ไม่พบผลการค้นหา
ปชป. เผยข่าวดี 'จุรินทร์ ' จ่ายเงินส่วนต่าง เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง งวดแรกวันที่ 1 ธค 62 วงเงินรวม 9,671 ล้านบาท ขณะที่ผลหารือ 3 ฝ่ายประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เตรียมขอ ครม.ไฟเขียวจ่ายเงินส่วนตัวงวดแรก 20 ธ.ค.

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการจ่ายเงินประกันรายได้มันสำปะหลังว่า ในวันที่ 1 ธ.ค. เวลา 09.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ มีกำหนดการเดินทางไปคิกออฟ เปิดโครงการประกันรายได้มันสำปะหลังงวดแรกที่ห้องประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเป็นโครงการที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ กรอบวงเงินดำเนินการที่ได้มาปัจจุบันนี้ 9,671 ล้านบาทเพื่อประกันรายได้มันสำปะหลัง กิโลกรัมละ 2.50 บาท เชื้อแปลง 25 เปอร์เซ็นต์ให้สิทธิ์ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตันและจะมีการจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรกในวันที่ 1 ธ.ค.นี้

นายราเมศ กล่าวว่า มีพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้สะท้อนความคิดเห็นโครงการประกันรายได้มันสำปะหลังมายังพรรคฯ ว่าพี่น้องเกษตรกรมีความพึงพอใจมากเพราะโครงการดังกล่าวทำให้พี่น้องเกษตรกรสามารถอยู่ได้และถือเป็นข่าวดีที่จะมีการจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรกในวันที่ 1 ธ.ค.ด้วยความรวดเร็ว

ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ ม.ราชภัฏลำปาง อ.เมือง จ.ลำปาง หารือ 3 ฝ่ายเพื่อดำเนินการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และตัวแทนฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนผู้ประกอบการ และตัวแทนเกษตรกร เข้าร่วมโดยการประชุมหารือการดำเนินการประกันรายได้สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น

โดยนายจุรินทร์ สรุปว่า ขั้นตอนการดำเนินนอกจากการประชุม 3 ฝ่ายวันนี้ ขอราคาประกันรายได้ กิโลกรัมละ 8.50 บาท (ความชื้น14.5 เปอร์เซ็นต์ ) จำนวนไม่เกิน 30 ไร่ ต่อครัวเรือน ปลูก ส.ค. - ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา มีจำนวนเกษตรกร 3.36 แสนครัวเรือน ใช้งบประมาณในการจ่ายเงินส่วนต่าง 900 ล้านบาท

กำหนดวันที่ 4 ธ.ค. 62 เข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือ นบขพ.และกำหนดวันที่ 11 ธ.ค. นี้ นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วกำหนดจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรกวันที่ 20 ธ.ค.นี้

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีมติเกี่ยวกับมาตรการเสริม 6 ข้อ 1.หากมีการนำเข้า ส.ค.- ก.ย. จำเป็นต้องนำเข้าตามเงื่อนไขอาเซียน 2. จันทบุรี อุบล เชียงราย น่าน เลย ตาก และสระแก้ว จะต้องแจ้งการเคลื่อนย้ายต่อกรมการค้าภายใน คือ พณจ. จังหวัด 3. เงื่อนไขการนำเข้าสาลี ต่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 ต่อ 3 ต่อไป 4. การรับซื้อต้องใช้เครื่องชั่งจาก คน. ที่มีความเที่ยงตรงเเม่นยำ

5. ในการเก็บสต็อก ต้องแจ้งต่อกรมการค้าภายในตามที่กำหนด 6. เพื่อให้มีการเก็บรวบรวมข้าวโพดในช่วงที่ออกมากจะทำให้ราคาตก จึงมีมาตรการช่วยเหลือเงินกู้สถาบันเกษตรกร เก็บไม่ต่ำ กว่า 2 เดือน โดยมีวงเงินไว้จำนวน 1,500 ล้านบาท และ 7. กำชับให้ทุกจังหวัด รวมหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจริงจัง และให้รายงานเข้า นบขพ. ในทุกครั้งที่มีการดำเนินการ

รายงานการประชุมระบุว่า โดยการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลักเกณฑ์ ในการกำหนดราคาประกันรายได้ จะดำเนินการเช่นเดียวกับโครงการที่ผ่านมา คือ ต้นทุนบวก ค่าขนส่ง บวกผลตอบแทน โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร และได้ทุกครัวเรือนที่ปลูกข้าวโพดจริง ปัจจุบันนี้ทางด้านสถานการณ์ราคาข้าวโพดปัจจุบัน การผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิต 4.73 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 5.19 พื้นที่เพาะปลูก 6.88 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.19 เกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 0.709 ตัน (709 กิโลกรัม) มีจำนวนเกษตรกร 3.36 แสนครัวเรือน แหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นครราชสีมา น่าน ตาก และเลย