ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร รายงานผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่าเกินค่ามาตรฐานจำนวน 15 พื้นที่ ได้แก่ เขตหนองแขม สวนทวีวนารมย์ (เขตทวีวัฒนา) เขตทวีวัฒนา เขตภาษีเจริญ เขตยานนาวา เขตคลองสาน เขตคลองเตย เขตพระนคร เขตบางกอกใหญ่ เขตบางขุนเทียน เขตตลิ่งชัน เขตบางบอน เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางนา และเขตปทุมวัน
โดยตรวจวัดได้ในช่วง 28-64 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) คิดเป็นร้อยละ 21.43 จากจำนวนเขตที่มีสถานีตรวจวัดทั้งหมด คุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 15 พื้นที่
ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการควบคุมปริมาณของฝุ่นละออง PM2.5 สืบเนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่อยู่ในระดับเกินค่ามาตรฐาน และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองหลัก ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวไปเป็นฤดูร้อน(ตุลาคม - มีนาคม ของทุกปี) ทำให้มีสภาวะอากาศนิ่ง ส่งผลกระทบต่อการสะสมของฝุ่นละอองในอากาศ
โดยนายกฯ วางแนวนโยบายและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการดำเนินตามนโยบาย “ตรวจจับ ปรับจริง–ห้ามใช้รถควันดำ” ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งการเพิ่มจุดตรวจวัดควันดำขาเข้า-ขาออก ตามถนนสายหลักต่าง ๆ การขยายจุดตรวจให้ทั่วทุกจังหวัด เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบ และระงับการใช้รถที่มีควันดำจนกว่าจะมีการนำรถไปปรับปรุงแก้ไข
ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ขอให้มีการตรวจวัดค่าไอเสียของรถ ก่อนนำออกมาวิ่งให้บริการประชาชน ปรับปรุงเครื่องยนต์ของรถให้มีประสิทธิภาพ ให้มีค่าไอเสียที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ตลอดจน การเพิ่มมาตรการอื่น ๆ ให้เข้มข้นเป็นพิเศษในช่วงที่คาดการณ์ว่า ฝุ่นละออง PM2.5 จะสูงเกินมาตรฐาน อาทิ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง กรองน้ำมัน และกรองอากาศ ให้มีรอบที่น้อยลง เช่น จากปกติกำหนดที่ 12,000 กิโลเมตร เหลือ 6,000 กิโลเมตร และการกำหนดอัตราค่าไอเสียให้เข้มข้นกว่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด เช่น จากปกติที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดอัตราค่าไอเสียอยู่ที่ไม่เกิน 45% ให้กำหนดให้เข้มข้นเป็น ไม่เกิน 30% ทุกคัน
ธนกร กล่าวว่า มาตรการนี้เป็นมาตรการเบื้องต้นเพื่อลดการสะสมของค่าฝุ่นละออง PM2.5 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้วางนโยบายระยะยาวอย่างยั่งยืน เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ต่อไป นายกรัฐมนตรีห่วงใยสุขภาพของพี่น้องประชาชน เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 พร้อมฝากถึงประชาชนในช่วงนี้ ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมในที่แจ้ง และใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น